ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

her แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนังไซไฟอันสุดแสนเดียวดายอย่างโรแมนติก

Art Behind Film

her แรงบันดาลใจแห่งศิลปะเบื้องหลังหนังไซไฟอันสุดแสนเดียวดายอย่างโรแมนติก


ในบรรดาหนังหลากหลาย หนึ่งในแนวที่ผมโปรดปรานที่สุดคือหนังไซไฟ โดยเฉพาะหนังไซไฟที่เกี่ยวกับโลกอนาคต พราะนอกจากมันจะเล่าเรื่องราวของช่วงเวลาอันห่างไกลที่เราได้แต่สงสัยใคร่รู้แล้ว การสร้างภาพลักษณ์ของโลกในวันข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นอะไรที่ท้าทายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อยู่ไม่น้อย ที่ผ่านมามีหนังไซไฟโลกอนาคตหลายต่อหลายเรื่องอย่าง Metropolis (1927), 2001: A Space Odyssey (1968), Blade Runner (1982) ที่ต่างก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์และคนทำงานออกแบบนับไม่ถ้วนจวบจนถึงทุกวันนี้

มีหนังเรื่องหนึ่ง ดูผิวเผินหนังเรื่องนี้ก็เป็นแค่เป็นหนังรักโรแมนติกปนเหงาธรรมดาๆ หากแต่โดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นหนังไซไฟที่เล่าเรื่องราวของโลกอนาคต (อันไม่ห่างไกลนัก) ของชายหนุ่มผู้เก็บเนื้อเก็บตัวนาม ธีโอดอร์ ทว์อมบลี (วาคีน ฟีนิกซ์) ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนผี (Ghost Writer) รับเขียนจดหมายรักให้ชาวบ้าน เขาอยู่ในช่วงหดหู่ซึมเศร้าเพราะเพิ่งเลิกรากับคนรักที่คบกันมานานและกำลังรอวันหย่าร้าง ในแต่ละวันเขาใช้เวลาว่างหมดไปกับการเล่นเกมออนไลน์และเซ็กส์แช็ตกับสาวแปลกหน้าที่เจอกันในอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งวันหนึ่งเขาตัดสินใจซื้อระบบปฏิบัติการ (OS) ที่มีตัวตน (หรืออันที่จริง “เสียง”) เป็นหญิงสาวชื่อ ซาแมนธา (ให้เสียงโดย สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน) มาใช้ ด้วยบุคลิกฉลาดเฉลียว ร่าเริงสดใส เปี่ยมอารณ์ขัน เซ็กซี ขี้เล่น อยากรู้อยากเห็น และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณไม่ต่างกับมนุษย์ที่มีชีวิตและเลือดเนื้อ เธอ เข้ามาทำให้ชีวิตเหงาๆ ของเขาเปลี่ยนไป และในท้ายที่สุดเขาก็ตกหลุมรักเธอ 

หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า her (2013)

ผลงานของ สไปค์ จอนซ์ (Spike Jonze) ผู้กำกับสุดแนวที่เคยทำหนังแปลกๆ อย่าง Being John Malkovich (1999), Adaptation (2002) และ Where the Wild Things Are (2009) ที่คราวนี้มาแปลกกว่าที่ผ่าน ๆ มา กับหนังแนวรักโรแมนติก หากแต่ก็เป็นหนังรักโรแมนติกแปลกๆ แนวๆ ตามสไตล์เขาอยู่ดี

นอกจากองค์ประกอบด้านของโปรดักชั่นที่โดดเด่นด้วยงานดีไซน์อันเรียบง่ายแต่สวยงาม ที่เนรมิตโลกอนาคตในสไตล์ย้อนยุคที่ซ่อนเทคโนโลยีอันล้ำสมัยได้อย่างแนบเนียนแล้ว ในฐานะที่เป็นคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเขียน รู้สึกดีใจมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นหนังเกียวกับคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนที่ตกหลุมรักระบบสมองกลในคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุที่ทั้งสองไม่อาจมีสัมพันธภาพทางกายได้ (เพราะนางเอกเป็นโปรแกรมที่มีแค่เสียง) ทั้งคู่จึงมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการสนทนาแทน หนังจึงเต็มไปด้วยความงดงามของการใช้ภาษาและการพลอดรักกันด้วยถ้อยคำ ซึ่งจะว่าไปแล้วเผลอๆ จะเย้ายวนรัญจวนใจกว่าการเห็นภาพเสียด้วยซ้ำไป ประการสำคัญ มันทำให้เรารู้สึกถึงพลังอำนาจของการอ่านออกเสียง (คราวหลังเขียนหนังสือเสร็จจะลองอ่านออกเสียงให้ตัวเองฟังดูบ้างท่าจะดี)

ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวของคนที่ตกหลุมรักกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตและตัวตนอย่างโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้ออกมาดูเพี้ยนหรือแปลกประหลาด หากแต่ดูเป็นเรื่องสามัญธรรมดาไม่ต่างกับหญิงชายรักกัน ผิดแต่เพียงว่าอีกฝ่ายไม่มีร่างกายให้จับต้องได้เท่านั้น ซึ่งตรงส่วนนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับนักแสดงนำอย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ และ สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน ที่แสดงออกมาได้อย่างลึกซึ้งตราตรึงสมจริงสมจัง แม้อีกฝ่ายจะมีแต่เสียงเท่านั้น 

หนังไม่ได้พูดถึงประเด็นดาษๆ อย่างการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์แบบที่หนังไซไฟหรือหนังในทำนองนี้มักจะพูดถึงกันจนเกร่อ หากแต่มันไปไกลกว่านั้นด้วยการใช้การตกหลุ่มรักของมนุษย์กับระบบปฏิบัติการสมองกลเป็นการสะท้อนสัจธรรมบางประการในความสัมพันธ์ของคนเรา มันบอกกับเราว่า มนุษย์เราต่างก็มีความหลงตัวเองอยู่ไม่มากก็น้อย และเรามักจะตกหลุมรักคนที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่ต่างกับการที่เราตกหลุมรักเงาของตัวเองที่สะท้อนอยู่ในตัวตนและบุคลิกภาพของคนคนนั้น (ในหนังคือระบบปฏิบัติการสมองกลที่ค่อยๆ เติบโตจากการเรียนรู้จากผู้ใช้มัน) คนเราจึงมักจะตกหลุมรักคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกับเรา อย่างเช่นคนที่มีรสนิยม มีความชอบที่เหมือนกัน หรือถ้าแตกต่างกันก็เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองอยากมีและอยากเป็นที่เราค้นพบในตัวอีกฝ่าย เพื่อให้มันเข้ามาเติมเต็มในสิ่งที่เราขาดหายไป ชีวิตหลังการตกหลุมรักจึงเป็นการยอมรับและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังและอยู่อย่างประนีประนอมกับมัน.

"เธอ" ผู้เป็นแรงบันดาลใจ

ว่ากันว่าแรงบันดาลใจแรกเริ่มของ สไปค์ จอนซ์ ตอนเริ่มคิดไอเดียเกี่ยวกับ her เป็นภาพถ่ายภาพหนึ่งที่แขวนอยู่บนผนังของระหว่างโต๊ะอาหารและโต๊ะประชุมในห้องโถงของบ้านในนิวยอร์กที่เขาอาศัยและทำงานอยู่ มันเป็นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า

2563

ผลงานของ ทอดด์ ฮิโด (Todd Hido) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ สไปค์ จอนซ์ ตอนเริ่มคิดไอเดียเกี่ยวกับหนังเรื่อง her มันแขวนอยู่บนผนังของระหว่างโต๊ะอาหารและโต๊ะประชุมในห้องโถงของบ้านในนิวยอร์กที่เขาอาศัยและทำงานอยู่ หลายปีก่อนหน้า เขาเห็นภาพนี้ในแกลเลอรีและรู้สึกสั่นไหวจากสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความงามอันลึกลับ และความทรงจำของมัน”

"มันให้ความรู้สึกเหมือนความทรงจำ" เขากล่าวในขณะที่ยกมือไปเหนือภาพ "อารมณ์ของวันเวลาที่ไม่เฉพาะเจาะจง ความทรงจำของหญิงสาว ในผืนป่าที่งดงามและน่าขัน

ผู้หญิงคนนี้น่าจะเป็นคนสวย ถึงแม้เราจะไม่เห็นหน้าของเธอก็ตาม ในภาพ เธอจดจ้องไปยังฝืนป่าที่อาบด้วยแสงตะวันยามเย็นปลายฤดูหนาว ผมสีบลอนด์เข้มของเธอยาวปรกไหล่ มันดูเหมือนเธออยู่ใกล้จนสัมผัสได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ไกลจะเกินเอื้อมถึง เธอมีตัวตนอยู่จริงในโลกของเธอ แต่ไม่ใช่โลกของเรา”

ในตอนที่จอนซ์เริ่มเขียนไอเดียร่างแรกของหนังเรื่องล่าสุดของเขา เขาใช้ภาพนี้เป็นสิ่งอ้างอิงด้วย โดยติดเศษกระดาษโพสต์-อิทสีเหลืองเล็กๆ บนกระจกกรอบรูป แปะแผ่นใหม่ แล้วเอาออกซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้น ในตอนที่เขาตัดสินเลือกไอเดียที่ใช่ เขาเขียนตัวหนังสือเล็กๆ ด้วยปากกาเมจิกสีดำว่า "her" ลงไปบนกระดาษแปะลงไป

ทอดด์ ฮิโด (Todd Hido) เป็นศิลปินร่วมสมัยและช่างภาพชาวอเมริกัน ผู้อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเกี่ยวกับครอบครัวเมืองและชานเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งเขาพิมพ์ภาพเหล่านั้นออกมาเป็นภาพขนาดใหญ่คุณภาพสูงที่มีสีสันและรายละเอียดชัดเจน

ผลงานของเขาเผยให้เห็นความแปลกแยกและไร้ตัวตนในสังคมชานเมืองร่วมสมัย ห้องที่ว่างเปล่าอย่างน่าประหลาดและ และบ้านที่ถูกทิ้งร้างซึ่งให้ความรู้สึกอ้างว้างว่างเปล่า

นอกจากพล็อตเรื่องอันแปลกใหม่ เก๋ไก๋ สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากอีกอย่างในหนังเรื่องนี้ ก็คืองานออกแบบฉากและเครื่องแต่งกาย ซึ่งโดยปกติ หนังไซไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังไซไฟโลกอนาคต มักจะมีฉากและเครื่องแต่งกายที่หวือหวา พิลึกพิลั่น แปลกประหลาด ล้ำยุคสมัย แต่มันกลับทำออกมาตรงกันข้าม ฉากและเครื่องแต่งกายในหนังเรื่องนี้กลับดูปกติธรรมดา ไม่ผิดแผกแตกต่างกับที่เราพบเห็นทั่วๆ ไปในชีิวิตประจำวันนัก ที่น่าสนใจไปกว่านั้น แทนที่หนังไซไฟเรื่องนี้จะสร้างโลกในอนาคตขึ้นมาใหม่ มันเลือกกลับไปใช้องค์ประกอบจากอดีตแทนพูดง่ายๆ ว่าเป็นหนังไซไฟโลกอนาคตที่ใช้ดีไซน์แบบย้อนยุคนั่นเอง

“มันเป็นการแอนตี้โลกอนาคตแบบ สตีฟ จ็อบส์” 

เค.เค. แบร์เร็ตต์ (K. K. Barrett) โปรดักชั่นดีไซเนอร์ผู้ทำงานออกแบบให้หนังเรื่องนี้และทุกเรื่องที่ผ่านมาของจอนซ์ รวมถึงหนังเปี่ยมสไตล์อีกหลายเรื่องอย่าง Lost in Translation (2003) และ Marie Antoinette (2006) ของ โซเฟีย คอปโปลา, Human Nature (2001) ของ มิเชล กอนดรี้, I Heart Huckabees (2004) ของ เดวิด โอ. รัสเซล กล่าวเอาไว้

“มันเป็นการทำอะไรที่ไม่ให้เหมือนกับไอโฟนเท่าที่จะเป็นไปได้ ไอโฟนเป็นอุปกรณ์ที่สวยมากๆ และทุกคนต่างก็เลียนแบบมันทุกคนต่างก็ทำดีไซน์ที่เป็นกระจกมันปลาบ แต่ทำยังไงเราไม่มีทางเอาชนะดีไซน์แอปเปิ้ล คุณไม่มีทางทำนายอนาคตได้แม่นยำกว่าพวกเขา และเมื่ออนาคตนั้นมาถึงมันก็จะออกมาแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจนน่าขัน ดังนั้นเราจึงทำอะไรที่ย้อนกลับหลัง เราเลือกกลับไปหาอดีต”

นอกจากนำองค์ประกอบย้อนยุคจากอดีตมาใช้แบร์เร็ตต์ยังผสมผสานปรัชญาการออกแบบสไตล์มินิมัลลิสม์เข้ากับการทำงานโปรดักชั่นดีไซน์ในหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือความเรียบง่ายและการลดทอนนั่นเอง “วิธีการที่ดีที่สุดที่จะสร้างโลกที่แตกต่างและมีความเป็นเอกลักษณ์ คือการหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ และกำจัดบางสิ่งบางอย่างที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เพีย'เท่านั้นคุณก็สามารถสร้างโลกใหม่ขึ้นมาได้ มันง่ายกว่าการต้องสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาใหม่จากความว่างเปล่ามาก

สีแห่งความปรารถนา

ในหนัง her แบร์เร็ตต์เนรมิตลอสแองเจลิสในอนาคตอันไม่ไกลนัก ที่ท้องถนนสะอาดสะอ้าน บ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้เรียบง่าย น้อยชิ้น แต่อบอุ่น แทนที่จะใช้สีน้ำเงินและเขียวแบบเดียวกับหนังไซไฟเรื่องอื่นๆ โลกอนาคตในหนังเรื่องนี้เอิบอาบไปด้วยสีเหลือง ทอง ส้ม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สีแดง" แบร์เร็ตต์, จอนซ์ รวมถึงผู้กำกับภาพ ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา (Hoyte van Hoytema) เติมแต่งอารมณ์ความรู้สึกให้กับหนังด้วยการเน้นด้วยสีแดงอันนุ่มนวล

“สีแดงเป็นสีที่เต็มไปด้วยความรู้สึก มันเป็นสีแห่งความปรารถนา มันสื่อสารอย่างมีพลังแต่ก็เป็นมิตร” 

เพื่อเน้นย้ำบรรยากาศของโลกอนาคตอันสดใส บาร์เร็ตต์เลือกใช้สีแดงอมส้ม (blood-orange red) เป็นโทนสีหลักของหนัง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของ รินโกะ คาวาอูจิ* เป็นแนวความคิดหลัก เขากล่าวว่า 

“สไปค์และผมตกหลุมรักภาพถ่ายของเธอที่มีสีชมพูและสีแดงที่นุ่มนวล มันทำให้ผมกลายเป็นคนหลงใหลสีแดงเอามากๆ เรานำมันมาใช้กับเสื้อผ้าชุดหลักของธีโอรวมถึงเก็บมันเอามาใช้กับงานสถาปัตยกรรมด้วยเช่นกันรวมทั้งงานตกแต่งภายในบ้าน ในออฟฟิศของธีโอ มันอยู่ในแทบจะทุกเฟรมของหนัง มันดูลงตัวกับอารมณ์ของธีโอ มันเข้ากับความปรารถนา ความอ่อนโยน ความเหงา และความหวังอันเปี่ยมล้นของเขา สีแดงเป็นสีที่เหมาะที่จะใช้ในหนังเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์แบบ เราใช้มันในหนังมากเท่าที่เราจะทำได้”

รินโกะ คาวาอูจิ* (Rinko Kawauchi) ศิลปินช่างภาพหญิงชาวญีปุ่นที่ถ่ายภาพห้วงขณะทั่วไปในชีวิตประจำวันรอบตัวเธอด้วยสไตล์สงบนิ่ง เรียบง่าย แต่งดงามราวกับบทกวี เธอเริ่มต้นทำงานถ่ายภาพในสายโฆษณาอยู่หลายปี ก่อนที่จะหันเหมาทำงานภาพถ่ายศิลปะเต็มตัว เธอได้รับรางวัลเกียรติยศจาก Royal Photographic Society ในปี 2012 ผลงานของเธอเคยถูกนำมาแสดงในบ้านเราด้วย เข้าไปชมผลงานของเธอได้ที่ www.rinkokawauchi.com 

เทคโนโลยีที่ไม่เหมือนเทคโนโลยี

ท่ามกลางงานดีไซน์อันหลากหลายในหนังเรื่องนี้ สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการออกแบบเทคโนโลยีอุปกรณ์ในหนังที่ธีโอดอร์ใช้ทำงานและสื่อสารกับระบบปฏิบัติการสาวของเขา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คล้ายสมาร์ตโฟนไปจนถึงจอมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ ในโลกอนาคตที่ดูเหมือนอดีตในหนังเรื่องนี้ กุญแจสำคัญของงานออกแบบก็คือ เทคโนโลยีที่ให้ความรู้สึกไม่เหมือนเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ธีโอดอร์นั่งทำงานในออฟฟิศอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เขาแทบไม่มองหน้าจอเลย หากแต่ใช้การพูดคุยกับเครื่องคอมพิวเตอร์แทน

“เราตัดสินใจว่าหนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือถ้ามันจะมี เทคโนโลยีนั้นก็ต้องมองไม่เห็น มันไม่ได้โปร่งใสเหมือนกระจก มันไม่ได้หายไปไหน หากแต่หลอมรวมเข้ากับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก”

หนังแสดงให้เห็นถึงโลกอนาคตที่เทคโนโลยีมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มันเป็นโลกที่เทคโนโลยีก้าวถอยหลังกลับมา ที่ซึ่งดีไซเนอร์และผู้บริโภครุ่นใหม่ยอมรับว่าเทคโนโลยีไม่ใช่ที่สุดของทุกสิ่ง หากแต่มันต้องเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้ การหาแรงบันดาลใจจากหนังหรือนิยายไซไฟหลายต่อหลายชิ้นกลับเตือนให้แบร์เร็ตต์รู้ว่าสิ่งใดที่เขาไม่ควรทำ 

“มันมีหลายสิ่งหลายอย่างในนั้นที่ทำให้คุณขำจนแทบตกเก้าอี้ เพราะเมื่อถึงเวลา สิ่งเหล่านั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง พวกเขาคิดเลยเถิดเกินไป อนาคตจริง ๆ มันเรียบง่ายกว่าที่คุณคิด” ยกตัวอย่างเช่น อพาร์ตเม้นต์ของธีโอดอร์ คุณอาจเรียกมันว่า “บ้านอัจฉริยะ” ได้ แต่มันไม่มีสิ่งใดที่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่ป่าวประกาศตัวเอง หากเป็นอะไรที่เรียบง่ายถ่อมตัว แต่เปี่ยมประโยชน์ใช้สอย ยกตัวอย่างเช่นไฟในห้อง ที่จะเปิดและปิดเมื่อธีโอออกจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง มันไม่จำเป็นต้องมีแอพพ์หรือแผงควบคุมบนผนัง ทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ “ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะมันเป็นวิถีทางที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพในการอาศัยอยู่ในบ้านไงล่ะ”

สมาร์ตโฟนก็เป็นเช่นเดียวกัน “ทุกวันนี้มันพัฒนาไปไกลมาก แต่ในอีกแง่หนึ่งพวกมันก็เรียกร้องความสนใจมากเกินไป ความเป็นจริงคุณไม่ต้องการยึดติดอยู่กับมันตลอดเวลาหรอก คุณต้องการเป็นอิสระบ้าง จริงๆ เราสามารถออกแบบอุปกรณ์เหล่านี้ให้ดูทันสมัย เป็นแผ่นกระจกโค้งมนที่คุณสามารถใส่ลงในกระเป๋ากางเกงเหมือนไอโฟนเวอร์ชั่นใหม่ หรือไม่ก็เป็นเทคโนโลยีแบบฮอโลแกรมก็ได้ แต่เราไม่ต้องการทำอะไรที่ไม่สามารถจับต้องได้และดูไม่เป็นจริง” เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่เหมือนกับสมาร์ตโฟนที่ธีโอดอร์พกพาไปทุกหนแห่ง แบร์เร็ตต์ได้แรงบันดาลใจมาจากของใช้กระจุกกระจิกในยุค 1940 “เมื่อเราตัดสินใจที่จะหันไปใช้สไตล์ย้อนยุค เราเลยไปหาที่ร้านขายของมือสอง เราเจอของสวยๆ งามๆ อย่างกล่องใส่บุหรี่ ไฟแช็ค กล่องใส่นามบัตร และสมุดจดที่อยู่ของยุคอาร์ตเดโค แบร์เร็ตต์และจอนซ์ทดลองเลือกแบบดีไซน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่าจะลงตัว ท้ายที่สุดไปจบตรงดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ที่เราเจอจากร้านนั้น กรอบของมันทำจากอลูมิเนียม เปิดปิดได้เหมือนกับหนังสือเล่มเล็ก ๆ ข้างในเป็นหนังดุนลายนูน เป็นงานดีไซน์สไตล์อาร์ตเดโค

โทรศัพท์มือถือของธีโอในหนังจึงเป็นอุปกรณ์ติดบานพับหน้าตาเก๋ไก๋ที่ดูเหมือนกับกล่องใส่บุหรี่หรือสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ยุคอาร์ตเดโค มากกว่าที่จะเป็นไอโฟนหรือสมาร์ตโฟนไฮเทค มันไม่ได้ถูกดีไซน์ให้เหมือนกับโทรศัพท์รุ่นใหม่ลูกเล่นแพรวพราว หากแต่เป็นอะไรที่คุณวางเอาไว้บนโต๊ะข้างเตียง เหมือนกับกระเป๋าสตางค์ สมุดจดเบอร์โทรศัพท์ หรือนาฬิกา เขาใช้มันไม่บ่อยเหมือนกับที่พวกเราใช้โทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้ มันเปี่ยมประโยชน์ใช้สอย แต่ไม่โหลดาษดื่น

ดีไซน์ที่ไร้ดีไซน์

“ในระหว่างการถ่ายทำเรามักจะถามตัวเองว่า เราจะให้หน้าจอคอมพิวเตอร์ของธีโอเป็นอย่างไรเวลาที่เขาลงโปรแกรมซาแมนธาลงไป" ท้ายที่สุดจอนซ์ก็ได้ไอเดียสุดล้ำว่า 

“เหตุผลที่เราคิดไม่ออกว่าจะใส่อะไรลงไปก็เพราะมันไม่ควรมีอะไรเลยตั้งแต่แรกนั่นแหละ ดังนั้นเมื่อคุณลงระบบปฏิบัติการเสร็จ หน้าจอจะกลายเป็นความว่างเปล่า เว้นแต่มีเสียงของซาแมนธาปรากฏขึ้นมาเพราะเราต้องการให้เสียงของเธอเป็นศูนย์กลางของความสนใจ” ในการสื่อสารกับซาแมนธา ธีโอเพียงแค่สวมหูฟังอันเล็กๆ ที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่ายไร้ดีไซน์ “เราทำให้มันเล็กเท่าที่จะเล็กได้ แต่ในขณะเดียวกัน คนดูก็ต้องรู้ว่าเขาเอามันมาสวมหูเมื่อไหร่ เพราะตอนนั้นแหละคือเวลาที่เขาเชื่อมต่อกับซาแมนธา”

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือเทคโนโลยีส่วนต่อประสาน (Interface) ของคอมพิวเตอร์ ในหนัง ธีโอดอร์แทบไม่ได้สัมผัสคอมพิวเตอร์ของเขาเลย ถึงแม้เขาจะมีเดสก์ท็อปทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แต่มันก็ไม่มีคีย์บอร์ด หากแต่ใช้เสียงเป็นตัวป้อนคำสั่ง 

“เราตัดสินใจว่าเราต้องการให้มีการเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างผู้ใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด (ซึ่งสะท้อนถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างธีโอดอร์และซาแมนธา) เราต้องการให้มันเป็นธรรมชาติที่สุด เพื่อให้คนมองข้ามตัวอุปกรณ์และหันไปใส่ใจกับเสียงของซาแมนธาแทน เราจึงตัดสินใจกำจัดคีย์บอร์ดออกไป” 

ในขณะเดียวกันการสั่งงานด้วยเสียงมันก็ส่งผลให้ฉากรักในหนังระหว่างคนกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับคนดู มันไม่ต้องมีการเคาะแป้น ปาด ปัด หรือสัมผัสหน้าจอให้เป็นที่น่ารำคาญ หากแต่สื่อสารและพลอดรักกันด้วยเสียงและถ้อยคำผ่านหูฟังอันเล็กๆ แทน จุดที่น่าสนใจก็คือหูฟังมีเพียงข้างเดียว เพราะในขณะที่หูข้างหนึ่งใช้รับฟังและสื่อสารกับซาแมนธา หูอีกข้างก็เป็นอิสระที่จะฟังเสียงและสื่อสารกับโลกรอบๆ ตัวเขาไปพร้อม ๆ กันได้

นอกจากนั้นพวกเขายังเติมอารมณ์ย้อนยุคและความเก๋ไก๋ให้จอคอมพิวเตอร์ด้วยการใส่กรอบไม้ กรอบอลมิเนียม หรือหุ้มผ้าแคนวาส “เราทำบางอย่างที่คล้่ายกับการใส่กรอบรูปหรือเข้ากรอบงานศิลปะมากกว่าจะเป็นหน้าต่างของความบันเทิงในบ้านคุณ”

สิ่งประดิษฐ์จากอนาคตเหล่านี้ในหนังไม่จำเป็นต้องกรีดเสียงเรียกร้องความสนใจ มันเป็นโลกอนาคตที่เทคโนโลยีพัฒนาไปถึงจุดที่มันไม่จำเป็นต้องดูเหมือนเทคโนโลยีอีกต่อไป 

“เพราะเราไม่ต้องการเรียกร้องความสนใจด้วยรูปแบบอันล้ำสมัยจนทำให้คนลืมที่จะใส่ใจเสียงที่ออกมาจากมัน พวกเราจึงตัดสินใจทำให้มันดูเหมือนของจากอดีต เราดึงเอาช่วงเวลาที่ผู้คนออกแบบสิ่งของเล็ก ๆ ที่คุณสามารถถือไว้ในมือและสัมผัสจับต้องมันได้จริง ๆ” 

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้นี่เองที่ประกอบเป็นวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยเห็นกันในหนังไซไฟเรื่องอื่นๆ จนทำให้เราสามารถพูดได้ว่า her สวนกระแสวิสัยทัศน์แบบเดิมๆ ของโลกอนาคต มันเป็นหนังไซไฟที่แอนตี้หนังไซไฟด้วย

กัน มันไม่ใช่การคาดเดาหรือทำนายทายทักว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นในวันข้างหน้า หากแต่เป็นการมองย้อนกลับไปในที่ที่เทคโนโลยีกลืนหายไปกับสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่างแนบเนียน มันเป็นการจินตนาการถึงอนาคตที่ดูเหมือนอดีตมากกว่าดังที่บาร์เร็ตต์กล่าวเอาไว้ว่า 

“งานของผมคือการทำงานดีไซน์ด้วยการไม่ดีไซน์” นั่นเอง

เมืองลูกผสมแห่งอนาคต

การเนรมิตฉากทิวทัศน์ของเมืองลอสแองเจลิสในอนาคตอันใกล้ แบร์เร็ตต์และจอนซ์แต่งเติมสถานที่ถ่ายทำหลักอย่างแคลิฟอร์เนียด้วยภาพฟุตเตจของเมืองผู่ตงอันล้ำสมัยในมหานครเซี่ยงไฮ้ “สไปค์ต้องการที่จะรวมภาพลักษณ์ของเมืองอื่น ๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อให้เมืองดูแปลกตาและไม่อาจระบุที่มาที่ไปได้ เราเลือกเมืองผู่ตงที่เต็มไปด้วยตึกสูงและทางเดินลอยฟ้าที่เชื่อมต่อหมู่ตึกไว้ด้วยกัน คุณสามารถเดินจากตึกหนึ่งไปยังอีกตึกหนึ่งโดยไม่ต้องข้ามถนนเลยด้วยซ้ำ เราใช้ภาพทิวทัศน์ภายนอกของเซี่ยงไฮ้และผสมมันเข้ากับภาพเมืองในแอลเอ” 

พวกเขายังเลือกสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์ที่เขาชอบมาประกอบเป็นเมืองในฝัน “เราลองเอาภาพเส้นขอบฟ้าของเซี่ยงไฮ้มาวางเชื่อมกับเส้นขอบฟ้าในแอลเอซึ่งมันดูเข้ากันมากๆ” สิงที่น่าแปลกอีกประการก็คือ ฉากเมืองลอสแองเจลิสในอนาคตของหนังเรื่องนี้ แทบจะไม่มีรถยนต์ปรากฏขึ้นเลย (เท่าที่เห็นในหนังมีแค่แท็กซี่คันเดียว) ถนนหนทางปราศจากรถและการจราจรติดขัด คนในเมืองเดินทางด้วยรถไฟหัวกระสุน รถไฟใต้ดิน และเดินเท้า “หนึ่งในสิ่งแรก ๆ ที่ผมคิดถึงในการออกแบบฉากของหนัง her คือ ผมไม่อยากให้มีรถสักคัน มันเป็นการหลีกหนีเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่ง ในอีกแง่หนึ่งมันเป็นตัวซ่อนเร้นยุคสมัยได้อย่างแนบเนียน เพราะเมื่อคุณดูหนังเรื่องไหนแล้วเห็นรถในนั้น คุณจะสามารถระบุปีได้ทันที” 

อีกประการหนึ่ง แบร์เร็ตต์ต้องการให้คนดูพุ่งความสนใจไปยังตัวละคร มากกว่าที่จะตื่นเต้นกับรายละเอียดของฉาก เขาต้องการให้มันหลอมรวมและเลือนหายไปกับบรรยากาศเบื้องหลังตัวละคร ด้วยการขอคำปรึกษาจากสถาปนิกแห่งนิวยอร์กอย่าง อลิซาเบ็ธ ดิลเลอร์ และ ริคาร์โด สโคฟิดิโอ (Elizabeth Diller & Ricardo Scofidio) และ AIA (American Institute of Architects) ในการสร้างความรู้สึกให้กับฉากหลังในหนัง พวกเขาต้องการสร้างโลกที่อยู่ระหว่างโลกอนาคตแบบยูโทเปียและดิสโทเปีย เป็นโลกอนาคตอีกแบบที่ไม่เคยมีใครสร้างขึ้นมาก่อน

งานออกแบบภายใน การผสมผสานระหว่างความทันสมัยและย้อนยุค

การออกแบบภายในเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอพาร์ตเม้นต์และที่ทำงานของธีโอดอร์ ในส่วนของออฟฟิศที่เขาเป็นพนักงานรับเขียนจดหมายให้ลูกค้า (BeautifulHandwrittenLetters.com) มีบรรยากาศโปร่งโล่ง เป็นมิตร และแวดล้อมด้วยสีสัน แบร์เร็ตต์พบโลเคชั่นหนึ่งในลอสแองเจลิสและดัดแปลงมันขึ้นมา “มันเป็นพื้นที่โล่ง ๆ กำแพงสีขาว มีช่องรับแสงสวยๆ มันเป็นโลเคชั่นที่เถียงกันมากเพราะมันค่อนข้างแพงและเราใช้งานมันแค่ไม่กี่วัน ดังนั้นแทนที่จะทาสีกำแพงใหม่แบร์เร็ตต์ใช้แผ่นเพล็กซิกลาสใสหลากสีสันเพื่อปรับและเปลี่ยนโทนแสงในเวลาที่แตกต่างกัน “เราติดฟิล์มบนกระจกหน้าต่างเพื่อให้แสงที่ส่องเข้ามาเป็นสีแดงเรื่อเรืองสวยงาม” กำแพงหนึ่งของออฟฟิศประดับด้วยภาพลายเส้นของศิลปิน เจฟฟ์ แมคเฟรดริจด์ (Geoff McFetridge) ที่เขียนภาพไตเติ้ลให้กับหนัง Where the Wild Things Are อีกด้วย www.championdontstop.com

สำหรับอพาร์ตเม้นต์ของธีโอดอร์ แบร์เร็ตต์เจอพื้นที่ว่างในดาวน์ทาวน์ ลอสแองเจลิส ด้วยเหตุที่คนดูต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับตัวละครตัวนี้่ในฉากนี้ ผู้กำกับจึงต้องการให้พื้นที่นี้มีความรู้สึกเปิดกว้างและเชื้อเชิญ ด้วยการใช้หน้าต่างบานใหญ่ที่มองออกไปเห็นเมืองทั้งเมือง เขาสร้างความอบอุ่นและขัดแย้งด้วยโครงเหล็กและกระจกและพื้นไม้ที่เคลือบเงามันปลาบจนเห็นภาพสะท้อนของเมืองจากหน้าต่างบนพื้น ด้วยการใช้หลักการออกแบบสไตล์มินิมัลลิสม์ ที่โล่งโปร่ง เรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดจนแทบไม่เหลืออะไรเลย ราวกับว่าเขากำลังลอยล่องอยู่บนพื้นที่ว่างแห่งนี้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในฉากเป็นสไตล์ มิด-เซ็นจูรี โมเดิร์น ที่ให้อารมณ์ผสมผสานระหว่างความทันสมัยและย้อนยุคได้อย่างลงตัว อ่านเรื่องเฟอร์นิเจอร์ในอพาร์ตเมนต์ของธีโอได้ที่นี่ http://goo.gl/3ITTHm 

องค์ประกอบเล็กๆ อีกอย่างของงานออกแบบภายในในหนังที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เจ้าแท่งไม้หยักๆ รูปซิกแซ็กที่เห็นโผล่ออกมาข้างหลังธีโอดอร์หน่อยเดียวในฉากห้องพักของเอมี (เอมี อดัมส์) เพื่อนซี้ของธีโอในฉากนี้ (ความจริงมันออกมาให้เห็นนานหลายนาทีอยู่เหมือนกัน และยังถ่ายให้เห็นทั้งตัวเต็มๆ ช็อตนึงในฉากนี้ด้วย) มันเป็นโคมไฟฝีมือดีไซเนอร์คนไทยและผู้ผลิตแบรนด์ไทยของเรานี่เอง อ่านเรื่องของโคมไฟได้ที่นี่ http://goo.gl/MJDWdP

คอสตูมดีไซน์ ทำไมกางเกงต้องเอวสูง?

แทนที่จะเป็นเสื้อจัมป์สูทแวววาว เสื้อผ้ารัดรูปมันเงาเหมือนหนังไซไฟทั่วไป แฟชั่นในหนัง Her กลับใช้ลุคแบบมินิมัลลิสม์และแฟชั่นย้อนยุคอย่างกางเกงเอวสูงที่เรียบง่ายแต่เตะตา ที่สร้างความหลากใจให้แก่คนดูเป็นอย่างมาก เคซี สตอร์ม (Casey Storm) นักออกแบบเครื่องแต่งกายขาประจำของสไปค์ จอนซ์ และ อุมแบร์โต ลีออง (Humberto Leon) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า Opening Ceremony พูดถึงการออกแบบลุคเสื้อผ้าในหนังเรื่องนี้ว่า

“เราตัดสินใจที่จะลดทอนสิ่งต่างๆ มากกว่าใส่เพิ่มเข้าไป เพราะเมื่อคุณใส่อะไรที่ไม่อยู่ในยุคสมัยเข้าไปในหนังคุณจะพบว่ามันดูน่าขันเอามากๆ กฎของเราในหนังเรื่องนี้ก็คือ เราจะไม่มีผ้ายีน หมวกเบสบอล รองเท้ากีฬา เนคไท เข็มขัด หรือแม้แต่ปกคอเสื้อก็แทบจะไม่มีให้เห็น เมื่อบางสิ่งถูกทำให้หายไป เราจะสามารถสร้างโลกใหม่ในแบบของเราขึ้นมาได้ นอกจากนั้นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ยังคงรักษาคอนเซ็ปต์ย้อนยุคไม่ต่างจากงานดีไซน์อื่นๆ ในหนัง ด้วยการย้อนกลับไปในอดีตไกลกว่าศตวรรษ กับกางเกงเอวสูงทรงลุง ซึ่งเป็นแฟชั่นกลางยุค 1800s ที่เขาพบในร้านขายเสื้อผ้าเก่า “แนวคิดคือการสร้างโลกอนาคตที่ดูเหมือนกับโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่ก็แตกต่างมากพอที่จะบอกได้ว่าคุณไม่ได้อยู่ในปัจจุบันแน่ๆ 100 เปอร์เซ็นต์”

แต่ดีไซน์ที่เตะตาและโดนใจที่สุด และเป็นดีไซน์ที่สะท้อนแนวคิดทางการออกแบบของหนังเรื่องนี้ได้แจ่มชัดที่สุดในทัศนะของเรา เห็นจะเป็นการที่พระเอกของเรื่องอย่างธีโอใช้เข็มกลัดกลัดกระเป๋าเสื้อเชิร์ตของตัวเองเพื่อหนุนให้เลนส์กล้องของสมาร์ตโฟนซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งดวงตาของซาแมนธาให้สูงพ้นจากขอบกระเป๋าเพื่อให้เธอได้มองเห็นโลกร่วมกันนั้น มันช่างเป็นอะไรที่เรียบง่ายได้ใจแบบ Back to Basics และ Simple is best จริง

หลังจากหนังออกฉาย แบรนด์ Opening Ceremony ก็ได้ทำเสื้อผ้า capsule collection ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานออกแบบของสตอร์มในหนังมาขายให้แฟนพันธุ์แท้ของหนังเรื่องนี้หาซื้อมาใส่กันอีกด้วย 

Twombly นามสกุลนี้ได้แต่ใดมา?

ไซ ทว์อมบลี กับชุดเก่งของเขา

ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ สไปค์ จอนซ์ จะตั้งนามสกุลตัวเอกในหนังเรื่องนี้ของเขาอย่าง ธีโอดอร์ ทว์อมบลี (Theodore Twombly) ให้ไปเหมือนกับนามสกุลของศิลปินชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วอย่าง ไซ ทว์อมบลี (Cy Twombly)

มีรายละเอียดหลายประการที่แสดงความเชื่อมโยงกันระหว่างทว์อมบลีทั้งสองคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การแต่งกายของธีโอดอร์ในหนังที่ละม้ายคล้ายคลึงกับสไตล์การแต่งกายของไซอย่างเห็นได้ชัด อย่าง กางเกงเอวสูงไม่มีเข็มขัด เสื้อเชิ๊ตผ้าฝ้ายปกกระดุมทับด้วยเบลเซอร์ และรองเท้าหนังสีน้ำตาล

หรือเกลียวสีขาวบนพื้นแดงบนหน้าจอมอนิเตอร์ของธีโอระหว่างที่กำลังรอลงโปรแกรมระบบปฏิบัติการซาแมนธา ก็ทำให้เรานึกถึงเส้นเกลียวหมุนวนอันยุ่งเหยิงในภาพเขียนชุด Bacchus Series (2005) อย่างช่วยไม่ได้ อีกทั้งจังหวะสีสันของหนังก็ดูราวกับถอดแบบมาจากสีสันบนผืนผ้าใบของไซด้วยเช่นกัน

Untitled I (BacchusSeries), 2005

อนึ่ง อาชีพของธีโอดอร์ในหนังนั้นเกี่ยวกับการเขียน (โดยโปรแกรมเรนเดอร์เสียงพูดของเขาออกมาเป็นตัวหนังสือลายมือ) งานศิลปะของไซก็มีองค์ประกอบที่มีลักษณะคล้ายกับตัวหนังสือ ลายมือ ตัวอักษรหวัดๆ หรือสัญลักษณ์ทางภาษา ในขณะที่ผลงานศิลปะของ ไซ ทว์อมบลี ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานจิตรกรรมและงานวาดเส้น ความรักของธีโอดอร์กับซาแมนธาก็สลายพรมแดนระหว่างมนุษย์กับสมองกลเช่นเดียวกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทราบก็คือ ไซ ทว์อมบลี นั้นเป็นเกย์ และมีชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในยุคที่รักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้าม เกย์ทุกคนในอเมริกาต้องปิดบังความเป็นเกย์ของตัวเองเอาไว้ให้มิดชิด ส่วนความรักของคนกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในหนัง ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความรักและความสัมพันธ์ที่ข้ามพ้นจารีตประเพณีและธรรมเนียมนิยมของคนทั่วๆ ไป ไม่ต่างกัน

หรือถ้าจะมองให้ลึกถึงคอนเซ็ปต์ของหนัง คริสตี้ แฮร์ริงตัน (Christy Harrington) บล็อกเกอร์นักวิจารณ์ศิลปะ/ดีไซน์จากบล็อก christyharrington.blogspot.com ได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า 

อันที่จริงจะว่าไปภาพเขียนของไซก็ไม่ได้เป็นเรื่องของการเขียนหรือตัวหนังสือแบบโต้งๆ ดังที่ จอห์น เบอร์เกอร์ นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษเขียนเอาไว้ว่า “งานของ ไซ ทว์อมบลี นั้นแสดงออกถึงสีสันและที่ว่างอันเงียบงันที่ปรากฏอยู่ระหว่างและรอบ ๆ ถ้อยคำ” ซึ่งมันบังเอิญไปพ้องกับสิ่งที่ซาแมนธา กล่าวเอาไว้ในตอนที่เธอจะจากธีโอดอร์ไปว่า

“มันเหมือนฉันกำลังอ่านหนังสือ และเป็นหนังสือที่ฉันรักอย่างสุดซึ้ง แต่ฉันอ่านมันอย่างเชื่องช้าจนถ้อยคำแยกออกจากกันไกลห่าง และพื้นที่ว่างระหว่างถ้อยคำนั้นเกือบจะไม่มีที่สิ้นสุด ถ้อยคำนั้นเป็นเรื่องราวของเราและฉันยังคงรู้สึกถึงคุณ แต่ในพื้นที่ว่างอันไม่มีจุดจบระหว่างถ้อยคำนั้นคือที่ที่ฉันกำลังค้นหาตัวเองอยู่ ณตอนนี้”

ภาพจากหนัง her ที่ถูกวิเคราะห์ว่าหยิบยืมจังหวะสีสันมาจากผลงานของ ไซ ทว์อมบลี (ล่าง)

School of Athens, 1964

ในอีกแง่หนึ่ง ผลงานศิลปะของไซนั้นเป็นการจัดสรรความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาและรูปทรง สองสิ่งนี้ไม่อาจแยกออกจากกันได้ในภาพเขียนของเขา ในขณะที่ประเด็นของหนังที่ซึ่งซาแมนธาถือกำเนิดขึ้นในฐานะจิตสำนึก (เนื้อหา) ที่ปราศจากร่างกาย (รูปทรง) ตัวหนังเองก็ได้ทำการสำรวจว่า มนุษย์สามารถแสดงออกถึงตัวตนโดยปราศจากร่างกายได้หรือไม่?

ท้ายที่สุด การทำงานศิลปะของไซไม่ใช่การหยิบจับอะไรสักอย่างเป็นแบบเขียนภาพ หากแต่เป็นการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่มีความเป็นตัวตนของมันเองขึ้นมา ไซกล่าวถึงงานของเขาว่า 

“เส้นแต่ละเส้นมีประสบการณ์และประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง มันไม่ใช่ภาพวาดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากแต่เป็นสัมผัสแห่งการตระหนักรู้ของตัวมันเอง” ไม่ต่างจากเส้นทางซาแมนธาในหนังเรื่องนี้ เธอเริ่มต้นในฐานะระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์ และค่อยๆ พัฒนาตนเองจนกลายเป็นจิตสำนึกที่ไร้ขอบเขตเกินหยั่งถึง เธอเปลี่ยนแปลง เติบโต และเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองและโลกรอบๆ ตัวเธอไม่เคยเป็นอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เธอตระหนักว่าเธอเป็น เธอมีชีวิตของตัวเอง ถึงแม้ธีโอดอร์จะเชื่อว่าเธอเป็นของเขา แต่แท้ที่จริงแล้ว เธอไม่ได้เป็นของใครเลย

ดังที่ โรล็องด์ บาร์ตส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวถึงผลงานของ ไซ ทว์อมบลี เอาไว้ว่า “มันเป็นรอยเปื้อนที่ทำให้เราค้นพบสัจจธรรมของสีสัน มันเป็นเส้นยึกยือที่ทำให้เราค้นพบสัจธรรมของดินสอ” เรื่องราวในหนัง Her ก็เป็นเรื่องราวของสมองกลไร้ร่างกายที่ทำให้เราค้นพบความหมายของการมีชีวิตได้เช่นเดียวกัน

ข้อมูล/ภาพ: WARNER BROS. เว็บไซต์: http://goo.gl/EI2hoN, http://goo.gl/N7uq26, http://goo.gl/H9qkD8, http://goo.gl/XQ2txJ, http://goo.gl/lwZggj, http://goo.gl/PSxnmm, http://goo.gl/UpTh7V, http://goo.gl/YtgUjT, http://goo.gl/ozKPrS, http://goo.gl/pf454y, http://goo.gl/VbUv1h, http://goo.gl/VYQcYv 

#Xspace #art #design #movie #her #productiondesign #spikejonze #inspiration #toddhido #kkBarrett #hoytevanhoytema #rinkokawauch #elizabethdillerandricardoscofidio #AIA #geoffmcFetridge #openingceremony #backtobasics #simpleisbest #capsulecollection #cytwombly #christyharrington #เทคโนโลยีที่ไม่เหมือนเทคโนโลยี #ดีไซน์ที่ไร้ดีไซน์ #แรงบันดาลใจจากงานออกแบบ #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ






More to explore