ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Exhibition

ศิลปะของสีดำที่มีมากกว่าความมืดมนและความทุกข์ บทสัมภาษณ์พิเศษกับ อนุสรณ์ ติปายานนท์

Exhibition

ศิลปะของสีดำที่มีมากกว่าความมืดมนและความทุกข์ บทสัมภาษณ์พิเศษกับ อนุสรณ์ ติปายานนท์


“สีดำของสิทธิธรรมเป็นสีดำของช่วงเวลารุ่งสาง วินาทีก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น ซึ่งความมืดยังคงปกคลุมอยู่ แต่รับรู้ได้ว่าอีกเพียงช่วงอึดใจแสงสว่างจะมาถึง มันไม่ใช่สีดำของความสิ้นหวังแต่เป็นสีดำของความรู้สึกมีความหวัง...” โดย อนุสรณ์ ติปายานนท์


รู้สึกอย่างไรกับนิทรรศการ Traces of Solitude

ชื่อนิทรรศการ Traces of Solitude .. ร่องรอยของความโดดเดี่ยว .. ผมคิดว่ามันมีนัยยะที่ทรงพลังพอๆกับตัวงาน แสดงถึงภาวะของศิลปินผ่านเข้าไปในดินแดนอะไรบางอย่าง แล้วเอาความรู้สึกที่ได้รับจากการผ่านดินแดนนั้นออกมาถ่ายทอด สิทธิธรรมเป็นนักวาดก็เอามาวาด ในแง่ของงานเขียนเรามองความโดดเดี่ยวในสองรูปแบบเสมอนะครับ คือมองในฐานะสิ่งบวกและสิ่งลบ สิ่งบวกก็คือ ความโดดเดี่ยวทำให้เราค้นพบตัวเอง ความเดียวดายทำให้เราเข้าใจโลก จะเห็นว่าปราชญ์ทั้งหลายพยายามที่จะใช้พื้นที่ของความโดดเดี่ยวค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นการที่พระพุทธเจ้าไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 6 ปี หรือการที่พระเยซูใช้ชีวิตในทะเลทรายช่วงระยะเวลาหนึ่ง กระบวนการตกผลึกทางความคิดผ่านความโดดเดี่ยวนำไปสู่การเลื่อนชั้นหรือการก้าวขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าในจิตใจในระดับสามัญเป็นข้อบวก เพราะเวลาที่เราประสบกับความทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเป็นการจากไปของคนที่เราเคารพนับถือ การสูญเสียสิ่งที่มีค่าในชีวิต มันก็จะมีเสียงจำนวนมากดังขึ้นในหัวเรา เสียงของความผิดหวัง เสียงของความรู้สึกที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีอำนาจในตัวเอง ความอ่อนด้อยในคุณสมบัติ ศักยภาพของตัวเองต่างๆนานา การที่จะเผชิญหน้ากับเสียงเหล่านั้นได้ก็ต้องมีความโดดเดี่ยว อันนี้เป็นข้อที่เราพูดในเชิงสร้างสรรค์ศักยภาพจากร่องรอยความโดดเดี่ยวในเชิงบวก ส่วนในเชิงลบเนี่ยแน่นอนว่าความรู้สึกโดดเดี่ยวคือความเศร้า หม่นหมอง ถูกทอดทิ้ง ความรู้สึกต่างๆ ก็ทิ้งร่องรอยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ร่องรอยในแบบที่แสดงให้เห็นถึงการเลื่อนขึ้นไปสู่ภาวะที่สูงกว่า แต่แสดงถึงภาวะที่ยอมจำนน ยอมสิโรราบ ยอมแพ้ ยอมบอกว่าฉันเองก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีความเจ็บปวด มีความทุกข์ มีความเศร้า มีความเหงา เจ็บปวดจากการรู้สึกเหงาที่ต้องอยู่เพียงลำพัง เพราะฉะนั้นร่องรอยของ Solitude ร่องรอยของความโดดเดี่ยวมันก็จะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ไม่มีระเบียบ เต็มไปด้วยความรู้สึกปั่นป่วน เต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธเกรี้ยว เต็มไปด้วยความรู้สึกยุ่งเหยิงอลหม่าน ผมคิดว่างานของสิทธิธรรมแสดงทั้งสองด้านนะ บางภาพแสดงให้เห็นถึงความสงบนิ่ง สีดำที่ปรากฎอยู่ถูกป้าย จงใจถูกซ้อนทับอย่างมีนัยยะ แสดงถึงการวางแผนออกแบบไว้ล่วงหน้า แต่อีกหลายภาพก็แสดงถึงการปัดป่ายทางอารมณ์ แสดงความรู้สึกนั้นอย่างฉับพลันไม่มีร่องรอยของความรู้สึกเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีสัญญะของการจัดวางไว้ล่วงหน้า เป็นการอุบัติขึ้นเหมือนการตวาดดังๆ ตะโกนดังๆ ร้องออกมาดังๆ ต่อภาวะที่กำลังครอบงำตัวเองอยู่ นั่นก็คือภาวะของความโดดเดี่ยว



คิดอย่างไรกับการเลือกใช้สีดำเป็นหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน

สีดำเป็นสีพื้นฐานพอๆ กับสีขาว แต่มักจะถูกมองในด้านตรงข้ามกับสีขาว เราจะเห็นการใช้สีขาวในด้านสันติภาพ สีดำในฐานะของความหม่นหมอง แต่ผมคิดว่าสีดำของสิทธิธรรมมันไม่ได้เป็นสีดำที่เราจะมองว่าเป็นความหม่นหมองเสียทีเดียว มันเหมือนสีที่ถูกเลือกมาโดยเฉพาะว่าจะไม่ใช้ในความหมายที่พูดถึงความทุกข์ สีดำมันมีนัยยะที่มากกว่านั้นซ้อนอยู่ มันเป็นสีที่เหมือนกับว่าไม่ใช่สีของความทุกข์ เมื่อคุณเข้าไปอยู่ในมัน เมื่อคุณเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของสีดำ สิทธิธรรมอาจจะเป็นมิตรกับสิ่งนี้ เป็นมิตรกับความทุกข์ เป็นมิตรกับความโดดเดี่ยว สีดำของสิทธิธรรมไม่ให้ความรู้สึกที่หม่นหมอง มันกลับให้ความรู้สึกมีพลัง ความรู้สึกอยากเกิดใหม่ อยากทำสิ่งใหม่ อยากเดินหน้าต่อ จะว่าไปมันกลายเป็นสีของความรื่นเริงด้วยซ้ำ เป็นสีของการจุดประกาย เรามาถึงจุดเริ่มต้นพ้นจากขอบเขตของความมืดบางอย่าง ถ้าจะให้พูดเปรียบเทียบอย่างชัดๆ สีดำของสิทธิธรรมเป็นสีดำของช่วงเวลารุ่งสาง วินาทีก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น ซึ่งความมืดยังคงปกคลุมอยู่นะ แต่รับรู้ได้ว่าอีกเพียงช่วงอึดใจ แสงสว่างจะมาถึง มันไม่ใช่สีดำของความสิ้นหวังแต่เป็นสีดำของความรู้สึกมีความหวัง



คิดว่าสีดำจะถูกนำมาใช้กับนิทรรศการครั้งต่อๆ ไปของสิทธิธรรม ในรูปแบบไหนได้อีก

           หลายสิ่งที่มีพลังมีสีดำผสมอยู่ กุหลาบสีดำมีราคาแพงนะ สถาปัตยกรรมก็มีสีดำ อันนั้นอาจจะเป็นตัวแทนที่เราพูดได้ยาก ในมุมมองหนึ่ง มีบางสิ่งที่มาแปดเปื้อนเสื้อผ้าสีดำได้ง่ายกว่าสีอื่น อย่างคุณใส่กางเกงสีดำเวลามันมีฝุ่นเราจะเห็นได้ทันที แต่เวลาเราใส่สีขาว สีแดง สีเขียว อาจจะไม่เห็นรอยเปื้อนเหล่านั้น ในอีกแง่หนึ่งสีดำเป็นพื้นที่ใหญ่ที่บอกเราว่าโลกนี้ยังมีสิ่งซึ่งไม่บริสุทธิ์ เพราะอย่างนั้น ในอีกด้านสีดำก็คือสีที่บริสุทธิ์ เป็นสีที่ทำให้ทุกสีต้องเปิดเผยตัวเองออกมาอย่างชัดเจน คือไม่สามารถเอาอะไรมาซ่อนเร้นอยู่ข้างในได้ สมมติคุณแต้มบางอย่างคุณอาจจะหลอกตาได้ เช่น แต้มสีม่วงลงบนสีน้ำเงิน แต่คุณไม่สามารถแต้มสีเทาลงบนสีดำแล้วทำให้มันกลืนกันได้ สีดำไม่เคยกลืนกับสีใด มันเป็นสีที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง สิทธิธรรมคิดจะทำกับสีดำอย่างไรต่อไปก็ยากจะเดา แต่ผมเห็นว่าเขาไม่ได้ตีความสีดำในแบบที่เราๆ ตีความ ซึ่งการที่จะเดินหน้าตีความแบบนี้มันเป็นไปได้สองลักษณะ คือ หนึ่ง ยกเอาสีดำมาเป็นจุดตั้งต้นของการมองไปยังสีอื่นๆ หรือ สอง บอกว่าสีดำที่ปรากฏคือจุดสิ้นสุดของการที่ได้เข้าใจสีชนิดหนึ่งหรือสีใดสีหนึ่งแล้วอย่างที่สุด



สิ่งที่อยากบอกถึงผู้ที่จะมาชมนิทรรศการ Traces of Solitude

           เราอาจจะใช้เวลาสั้นๆ กับการชมงานนี้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการดูแต่ละรูปอย่างช้าๆ รอบแรกผ่านไป แล้วก็มาดูอีกรอบหลังจากนั่งนิ่งๆ แล้วดูว่ารูปไหนเกาะเกี่ยวกับจิตใจของคุณมากที่สุด อย่างผมดูผมชอบภาพสีดำ สีเทา มันเป็นงานที่ไม่สามารถดูอย่างผ่านๆ ไปได้ เราติดกันว่างานที่เรียกว่าเชิงนามธรรม มันมักจะมีบางอย่างที่ต้องยอมรับว่า connect กับคุณ หรือ ไม่ connect กับคุณ บางคนอาจจะดูงานนามธรรมเพราะชอบสีสว่างไสว สีสวยๆ หรือสีที่มีประกาย มีสีสัน แต่งานสิทธิธรรมไม่ได้มีสีที่เตะตา บางคนอาจจะเดินรวดเดียวแล้วก็กลับ ผมคิดว่าจริงๆ มันอาจจะต้องเบรคด้วยการนั่งนิ่งๆ แล้วกลับมาดูอีกครั้ง ผมว่ามีความ connect บางอย่างอยู่กับผู้ดู ซึ่งเรียกร้องอยู่พอสมควรว่าให้ใช้เวลา



นิทรรศการ Traces of Solitude โดยสิทธิธรรม โรหิตะสุข

16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2566

จันทร์ - เสาร์ 10:00 น. - 17:00 น.

Mini Xspace Gallery กรุงเทพฯ (เข้าชมฟรี)

 

ขอขอบคุณ

คุณอนุสรณ์ ติปานนท์

เรื่อง: Xspace Gallery








More to explore