Art Behind Film
ศิลปินผู้ตีแผ่วิกฤติผู้ลี้ภัยทั่วโลก Ai Weiwei
อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุด
อ้าย เว่ยเว่ย เป็นประติมากร, ศิลปินสื่อผสม, ศิลปะจัดวาง, ศิลปินภาพถ่าย, ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีน ผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลก เขายังเป็นนักวิจารณ์และเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้โดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในด้านสิทธิมนุษยชนและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในความเป็นประชาธิปไตย
นอกจากจะเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติแล้ว การเคลื่อนไหวของเขายังเผื่อแผ่ไปโดยไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เขาไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลก และใช้การทำงานศิลปะในการรณรงค์ที่มุ่งนำเสนอสถานการณ์อันยากลำบากของเหล่าผู้ลี้ภัยให้โลกได้รับรู้
ไม่ว่าจะเป็นในผลงานอย่าง Law of the Journey (2017) ประติมากรรมจัดวางรูปแพยางชูชีพสีดำขนาดยักษ์ ยาว 60 เมตร ที่มีประติมากรรมเป่าลมรูปคนไร้ใบหน้าจำนวน 258 คน สวมเสื้อชูชีพนั่งอยู่ในเรือ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยไร้ชื่อที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แพยางและประติมากรรมเป่าลมรูปคนเหล่านี้ ทำมาจากยางสีดำที่ผลิตโดยโรงงานในประเทศจีนที่เดียวกับที่ผลิตแพชูชีพ (ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพและปลอดภัยนัก) ที่เหล่าผู้ลี้ภัยนับพันชีวิตใช้ในการพยายามล่องข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเสาะหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
หรือ Laundromat (2016) ผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจำนวน 2,046 ชิ้น ของผู้ลี้ภัยนับพันที่ถูกบังคับให้อพยพออกจากค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะเลสบอส ในประเทศกรีก ที่ปิดตัวลงในปี 2016 โดย อ้าย เว่ยเว่ย และทีมงานของเขา ทำการเก็บเอาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและข้าวของที่ผู้ลี้ภัยจำต้องทิ้งไว้เหล่านั้นมาทำความสะอาด จัดระเบียบ และแสดงพร้อมกับภาพถ่ายและวิดีโอจากกล้องไอโฟน ซึ่งเขาเคยเผยแพร่ในอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา
นอกจากนั้นยังมีงานศิลปะที่เขาใช้เสื้อชูชีพนับพันตัว ที่เขาเก็บมาจากค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะเลสบอส มาทำเป็นศิลปะจัดวางบนอาคารสถานที่สำคัญในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก หรือเบอร์ลิน โดยเขาทำการติดเสื้อชูชีพเหล่านั้นไว้บนช่องหน้าต่างด้านนอกของอาคาร หรือเอาไปติดคลุมทั่วทั้งเสาทุกต้นด้านหน้าของอาคาร
อ้าย เว่ยเว่ย ยังใช้เวลานับปี ในกว่า 23 ประเทศ ตามติดเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่แตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วโลก เพื่อบันทึกภาพและเรื่องราวชีวิตของเหล่าผู้ลี้ภัยทั้งหญิง ชาย เด็กๆ ในหมู่เตนท์พักพิงฉุกเฉิน บนเรือ หรือบนถนนหนทางอันยากลำบากและดูไร้จุดหมายของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลก เพื่อตีแผ่ประเด็นผู้ลี้ภัยและปมภายในจิตใจของมนุษย์จาก 23 ประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหา อาทิ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ฝรั่งเศส กรีซ เยอรมัน อิรัก อิสราเอล อิตาลี เคนย่า เม็กซิโก และตุรกี ฯลฯ และถ่ายทอดมันออกมาเป็นหนังสารคดีที่มีชื่อว่า
Human Flow (2017)
ที่ติดตามกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ต้องการเพียงความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตเหล่านี้ ตั้งแต่ค่ายผู้อพยพบนชายฝั่งติดกับมหาสมุทร ไปจนถึงเส้นแบ่งเขตแดนที่รายล้อมไปด้วยลวดหนาม จากความสิ้นไร้หนทางและความผิดหวัง ไปสู่ความกล้าหาญ ความอดทน และการปรับตัว จากชีวิตที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังสู่อนาคตที่คาดเดาอะไรไม่ได้
อ้าย เว่ยเว่ย เริ่มต้นทำสารคดีเรื่องนี้ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายอย่างมาก ก่อนหน้านี้เขามีความตระหนักรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยแทบจะเป็นศูนย์ และไร้เดียงสาราวกับเป็นทารก จนกระทั่งเขาได้ไปเยี่ยมเยือนผู้ลี้ภัยที่ชายหาดเมืองเลสบอส ประเทศกรีซ ในช่วงวันหยุด ภาพอันน่าสะเทือนใจของเหล่าผู้ลี้ภัยที่เขาพบเห็นทำให้เขาถึงกับพูดไม่ออก
“ผมก็แค่เปิดโทรศัพท์มือถือและเริ่มต้นถ่ายทำภาพของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเอาไว้” เขากล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่องนี้
“เราใช้เวลากว่า 600 ชั่วโมงในการถ่ายทำหนังสารคดีเรื่องนี้ และตัวผมได้ทำการสัมภาษณ์ไปกว่าร้อยครั้ง” อ้าย เว่ยเว่ยกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของหนังสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยออกมาได้อย่างทรงพลังเรื่องนี้ของเขา
ปัจจุบัน Human Flow มีจำหน่ายเป็นดีวีดีแล้ว หรือถ้าอยากชมหนังทางออนไลน์ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการชมหนังได้ที่นี่ https://www.humanflow.com/watch-at-home/
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://imdb.to/3iQB0sf, https://bit.ly/2RIzrke, https://bit.ly/3mFyEyy, https://bit.ly/33INKuF, https://bit.ly/3iMqpi9
#WURKON #art #aiweiwei #refugee #crisis #documentary #movie #humanflow #หนังสารคดี #วิกฤตผู้ลี้ภัย #แรงบันดาลใจจากศิลปะ