HBD OUR FAVORITE ARTIST
HBD Picasso ศิลปินที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20
25 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) (25 ตุลาคม 1881 - 8 เมษายน 1973)
ศิลปินผู้ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนงตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม เซรามิก ไปจนถึงงานออกแบบเวทีละคร ถ้าเอ่ยชื่อของเขาออกมา น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ต่อให้ไม่เคยรู้เรื่องศิลปะเลยก็ตามที ก็น่าจะเห็นผลงานของเขาผ่านตามาบ้าง
ถึงแม้ปิกัสโซจะมีผลงานอันโดดเด่นหลากหลายรูปแบบแนวทาง แต่แนวทางที่หลายคนรู้จักและคุ้นเคยที่สุดที่เราจะยกมาพูดถึงก็คือแนวทางที่เรียกว่า “คิวบิสม์” (Cubism) นั่นเอง
แรกเริ่มเดิมที ปิกัสโซพบกับงานศิลปะพื้นเมืองของแอฟริกันและหลงใหลในรูปทรงเส้นสายและลวดลายอันทรงพลังของมัน ผนวกกับการใช้รูปทรงเรขาคณิตเชิงนามธรรม ซึ่งผลลัพธ์นี้ปรากฏอย่างชัดแจ้งในภาพวาด Les Demoiselles d'Avignon (1907) หรือ สุภาพสตรีสาวแห่งอาวีญง หรือในชื่อเดิมว่า "ซ่องโสเภณีแห่งอาวีญง" (The Brothel of Avignon) ที่ได้ชื่อมาจากซ่องโสเภณีบนถนน Carrer d'Avinyó ในเมืองบาร์เซโลนานั่นเอง
ภาพโสเภณีห้านางที่ยืนเปลือยกายเรียกแขกถูกวาดออกมาในรูปทรงที่หยาบกระด้างรุนแรง หน้าอกนางแบบถูกวาดเป็นหยักแหลม เรียวขาถูกวาดเป็นแท่ง ใบหน้าของนางแบบดูแปลกประหลาดจนน่ากลัว บางคนดูคล้ายกับหน้ากากแอฟริกัน
ภาพนี้สร้างความตื่นตะลึงให้กับแวดวงศิลปะของปารีสอย่างใหญ่หลวง แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนปิกัสโซหลายคนเองก็ตื่นตระหนกกับมัน นักสะสมบางคนบอกว่ามันน่าขันสิ้นดี บ้างก็ว่ามันเป็นความหายนะของศิลปะ บ้างก็ว่าเป็นภาพวาดของคนบ้าเลยก็มี
ถึงแม้ในยุคนี้ที่ผู้คนคุ้นเคยกับศิลปะสมัยใหม่กันมานานเป็นศตวรรษแล้ว ภาพนี้ก็ยังคงท้าทายสายตาของคนดูงานศิลปะอยู่ดี ด้วยการตั้งคำถามกับขนบในการวาดภาพเปลือยของสตรี ปิกัสโซค่อยๆ สร้างสัญลักษณ์ของความงามขึ้นมาและทำลายมันลงอย่างป่นปี้ไม่มีชิ้นดี
ซึ่งภาพวาดนี้เองที่เปิดเส้นทางสู่แนวทางการทำงานศิลปะแนวใหม่ของปิกัสโซ โดยในปี 1980 เขาและเพื่อนศิลปินชาวฝรั่งเศส ฌอร์ช บราก (Georges Braque) ร่วมกันทำการทดลองใช้รูปทรงทางเรขาคณิต (ซึ่งได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผลงานในช่วงสุดท้ายของ ปอล เซซานน์ ที่มีองค์ประกอบในภาพเป็นรูปทรงเรขาคณิต) มาใช้ในการทำงานศิลปะจนกลายเป็นแนวทางใหม่ขึ้นมา
ด้วยการวาดภาพที่ไม่ยึดหลักทัศนียภาพโดยสิ้นเชิง และทำลายรูปทรงของสิ่งที่พวกเขาวาดจนกลายชิ้นส่วนของพื้นผิวแบนราบรูปทรงเรขาคณิตชิ้นเล็กชิ้นน้อย มาประกอบขึ้นเป็นรูปทรงเชิงนามธรรม ซึ่งศิลปินรุ่นพี่อย่าง อองรี มาตีส (Henri Matisse) วิพากษ์วิจารณ์ภาพวาดของพวกเขาว่าเป็นเพียงแค่ “รูปลูกบาศก์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (little cubes) ทั้งสองจึงเอามันมาตั้งเป็นชื่อแนวทางศิลปะที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาใหม่ และนั่นเองเป็นจุดกำเนิดของศิลปะแนวนี้ขึ้นมา
ศิลปะแนวทางนี้นอกจากจะมีเอกลักษณ์อยู่ที่การคลี่คลายรูปทรงและองค์ประกอบในภาพวาดให้กลายเป็นเรขาคณิตแล้ว ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของมันก็คือ แทนที่จะนำเสนอภาพของสิ่งต่างๆ จากมุมมองเดียว มันกลับฉายภาพของสิ่งเหล่านั้นออกมาในหลากหลายมุมมอง จนเราสามารถเห็นมุมมองทั้งด้านหน้าและด้านข้างของคน สัตว์ หรือสิ่งของในภาพได้พร้อมๆ กันในคราวเดียว ราวกับวัตถุหรือคนในภาพถูกคลี่ให้กางออกมา ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการนำเสนอถึงเนื้อหาที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งของตัวแบบมากกว่าจะเป็นแค่การวาดภาพเหมือนธรรมดาๆ
นอกจากภาพวาดแล้ว เขายังทำงานแนวนี้ในรูปแบบประติมากรรม ศิลปะปะติด (Collage) และสื่อผสม และนอกจากจะมีศิลปินอีกหลายคนเข้าร่วมในแนวทางศิลปะนี้แล้ว แนวคิดของมันส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวิวัฒนาการของวงการศิลปะในเวลาต่อมา และเป็นต้นธารของศิลปะสมัยใหม่อีกหลากแขนง อาทิ ศิลปะ Abstract, Futurism, Suprematism, Dada, Constructivism และ De Stijl เป็นต้น
ผลงานชิ้นเอกของเขาในแนวทางนี้และเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือภาพวาด Guernica (1937)
ที่เขาวาดขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากการที่ ในปี 1937 รัฐบาลสเปนได้ว่าจ้างให้ปิกัสโซซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศสวาดภาพฝาผนังขนาดใหญ่สำหรับแสดงในศาลาสเปนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะนานาชาติในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส
ในช่วงที่เริ่มทำงาน เขาได้ข่าวโศกนาฏกรรมที่เกอร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ในสเปน ประเทศบ้านเกิดของเขา ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก อาศัยกองกำลังทหารนาซีและฟาสซิสต์บุกโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านจนย่อยยับในสงครามกลางเมือง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี ทำให้เขาเกิดความโกรธแค้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจวาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเกอร์นิกาขึ้นมาแทน
เขาลงมือเขียนภาพขนาดใหญ่ถึง 3.89 x 7.76 เมตร ด้วยสีน้ำมันทาบ้านที่เขาสั่งทำเป็นพิเศษ มันเป็นภาพเขียนแบบคิวบิสม์ที่ใหญ่สุดที่เขาเคยทำมา เขาตั้งชื่อมันว่า Guernica และกล่าวถึงภาพภาพนี้ว่า
“สงครามครั้งนี้ของสเปนคือการต่อสู้ของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาชน ต่อต้านเสรีภาพ ชีวิตในการเป็นศิลปินของผมตลอดมานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานกับฝ่ายขวาจัดและความตายของศิลปะ อย่างนั้นแล้วจะมีใครหน้าไหนคิดว่าผมจะมีความเห็นพ้องกับฝ่ายขวาจัดและความตายได้อีก? ในภาพที่ผมกำลังวาดอยู่นี้ ซึ่งผมจะเรียกมันว่า เกอร์นิกา ผมได้แสดงออกถึงความชิงชังชนชั้นเผด็จการและทหารที่ทำให้สเปนจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งความเจ็บปวดและความตายอย่างที่มันเป็นอยู่”
เขาใช้เวลาวาดภาพนี้ถึง 35 วัน มันแล้วเสร็จในวันที่ 4 มิถุนายน 1937 มันเป็นภาพวาดแบบคิวบิสม์ที่แสดงภาพอันบิดเบี้ยวของหญิงสาวที่ร่ำไห้อุ้มศพลูกน้อยในอ้อมแขน เหนือศีรษะของเธอมีวัวยืนเบิ่งตาเบิกโพลง ภาพของซากศพทหารที่นอนตาย ภาพของม้าที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดทรมาน ภาพของคนที่กรีดร้องอย่างน่าเวทนา ที่อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง
ถึงแม้จะเป็นภาพในโทนสีเดียวแบบเดียวกับภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่มันก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ ด้วยภาพวาดภาพนี้ ปิกัสโซใช้เทคนิคของงานศิลปะสมัยใหม่ถ่ายทอดความความเลวร้ายน่าสยดสยองของสงครามได้อย่างทรงพลังยิ่ง
มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงที่ปิกัสโซอยู่ที่ปารีสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่นาซียาตราทัพเข้ามาศิลปินขบถหัวเอียงซ้ายอย่างเขาย่อมตกเป็นเป้าหมาย ในขณะที่เขาถูกสอบสวนตรวจค้นสตูดิโอ รอบแล้วรอบเล่าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเขายื่นภาพโปสการ์ดที่เป็นรูปของภาพวาดเกอร์นิกาให้เจ้าหน้าที่นาซี
หมอนั่นหยิบมาดูแล้วถามด้วยความเย้ยหยันว่า “ตกลงคุณเป็นคนทำมันขึ้นหรอกเหรอ?”
ปิกัสโซสวนกลับไปทันควันว่า “ไม่ คุณนั่นแหละที่เป็นคนทำ”
เมื่อภาพนี้เสร็จ มันถูกนำออกแสดงในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส และด้วยความที่ปิกัสโซมีเจตนารมณ์ว่าตราบใดที่ประเทศสเปนยังอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการ และยังไม่คืนสู่ความเป็นเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาจะไม่ยอมให้ภาพนี้ถูกส่งกลับคืนไปที่นั่นเป็นอันขาด ดังนั้น หลังจากถูกนำไปแสดงในหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ภาพนี้จึงถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA)
จนกระทั่งหลังจากที่นายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 สเปนก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด ภาพเกอร์นิกาก็ถูกนำกลับสู่สเปนในปี 1981 และถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Museo Nacional Centro de Arte Reina Sofía ในกรุงมาดริด จวบจนถึงปัจจุบัน
และไม่ว่าจะเกิดสงครามขึ้นครั้งใดในโลก ภาพ เกอร์นิกา ก็มักจะถูกยกมาเป็นตัวอย่างของการต่อต้านสงครามอยู่เสมอมา
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://bit.ly/31NE9zE, https://bit.ly/31KId3N, https://bit.ly/33ZUJhh
#Xspace #PabloPicasso #HBD #Art #Artist #Abstract #Futurism #Suprematism #Dada #Constructivism #DeStijl #Cubism #Guernica #Inspiration