Contemporaries
มณเฑียร บุญมา ผู้บุกเบิกงานศิลปะร่วมสมัยของไทย
ในเดือน สิงหาคมปี 2020 นี้ เป็นวาระครอบรอบ 20 ปี การจากไปของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของเมืองไทย ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
มณเฑียร บุญมา
ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ที่มีผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะและเทศกาลศิลปะที่โดดเด่นในระดับนานาชาติมากมายหลายแห่งในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่
แรกเริ่มเดิมที หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 1978 มณเทียรได้เดินทางไปศึกษาต่อในสาขาประติมากรรมที่สถาบัน École nationale supérieure des beaux-arts และกลัมมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สาขาจิตรกรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงนี้ มณเฑียร เปลี่ยนจากการทำงานจิตรกรรมสองมิติ หันมาเขามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม ศิลปะจัดวาง ที่ใช้วัสดุธรรมดาสามัญ หรือวัสดุพื้นบ้านที่หาได้จากธรรมชาติ อย่างดิน ขี้เถ้า ฟางข้าว และเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาทำงานศิลปะ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) ในอิตาลี ที่หยิบเอาวัสดุที่ไร้คุณค่าไร้ราคาที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกหนทุกแห่ง รวมถึงเก็บตกของเก่า ของเหลือใช้ และชำรุดทรุดโทรม มาทำงานศิลปะ หากแต่เขาพัฒนา ต่อยอดความคิด จนกลายเป็นรูปแบบทางศิลปะอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สะท้อนแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม และการรุกคืบของอุตสาหกรรม ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยหลักในช่วงทศวรรษที่ 90 ซึ่งนับเป็นงานศิลปะที่มีแนวทางก้าวล้ำนำหน้าในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก
แต่หลังจากที่ภรรยาของเขาป่วยด้วยโรคมะเร็ง เขาก็หันเหเข้าสู่กระบวนการคิดและการตั้งคำถามเชิงพุทธปรัชญาต่อความหมายของการเกิด มีชีวิต และความตาย และผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับสมุนไพรและสถานพยาบาลในลัทธิมหายานของอาณาจักรเขมรโบราณเข้ากับงานศิลปะร่วมสมัย เขาเป็นศิลปินไทยคนแรกๆ ที่ผสมผสานแนวทางศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลอาร์ตของตะวันตกเข้ากับปรัชญาตะวันออกและพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึกและลงตัว
นอกจากบทบาทการเป็นศิลปิน มณเฑียรยังมีบทบาทอันโดดเด่นในฐานะอาจารย์สอนศิลปะที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มแนวทางการสอนศิลปะโดยเน้นแนวความคิดที่ชัดเจนและมีเหตุผล เปิดโอกาสให้นักศึกษาค้นคว้าเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ศิลปะ
และยังเปิดกว้างต่อการทดลองของนักศึกษา โดยสามารถนำเอาวัสดุหรือเรื่องราวใกล้ตัวมาประกอบสร้างและตั้งคำถามให้เป็นงานศิลปะได้ ลูกศิษย์หลายคนของเขาได้รับการถ่ายทอดอิทธิพลทางความคิดจากมณเฑียรและก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, โฆษิต จันทรทิพย์, มนตรี เติมสมบัติ ฯลฯ
นอกจากนั้น มณเฑียรยังเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้นักศึกษาและเพื่อนอาจารย์ได้รวมตัวกันสร้างกิจกรรมทางศิลปะอย่าง “เทศกาลเชียงใหม่จัดวางสังคม” ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนและก้าวออกจากพื้นที่หอศิลป์มาแสดงในพื้นที่สาธารณะของเชียงใหม่ในช่วงปี 1992-1995 จนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยไปในที่สุด
หลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิต มณเฑียรได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษให้กับหลายมหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมในการสร้างบุคลากรทางศิลปะมากมาย และสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับคนในวงการศิลปะอย่างสูงในเวลาต่อมา
ด้วยระยะเวลากว่า 20 ปีในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ มณเฑียร บุญมา อุทิศแรงกายแรงใจให้กับการทำงานศิลปะและตระเวนแสดงงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศมากมาย แม้กระทั่งในยามที่ป่วยหนักและร่างกายไม่เอื้ออำนวยเขาก็ยังคงมุ่งสร้างผลงานศิลปะจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต มณเฑียร บุญมา จากโลกนี้ไปในวันที่ 17 สิงหาคม 2000 ด้วยวัยเพียง 47 ปี นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยและสากล
แต่อย่างไรก็ตาม มรดกจากผลงานศิลปะและความคิดของเขาก็เป็นหนึ่งในพลังที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยอย่างมาก จนเรียกได้ว่า ถ้าไม่มี มณเฑียร บุญมา โฉมหน้าของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยอาจจะไม่พัฒนามาถึงจุดที่มันเป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็เป็นได้
เป็นเวลากว่าสิบปี หลังจากที่มณเฑียรเสียชีวิต ในปี 2016 บ้านหลังเก่าที่เขาอาศัยอยู่กับครอบครัว และใช้เป็นสตูดิโอที่เขาทดลองทำงานศิลปะเกือบตลอดช่วงชีวิตการเป็นศิลปิน ได้มีการปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็น Montien Atelier ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดง Archive หรือหอจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นคลังแห่งองค์ความรู้ของมณเฑียร ที่เรียกว่า ประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญอย่าง จดหมาย ภาพร่างผลงานบางส่วน ศิลปะวัตถุที่เป็นองค์ประกอบในการแสดงงานศิลปะของมณเฑียร ตลอดจนสมุดบันทึก ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญที่หาดูได้ยากยิ่ง ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ในบ้านหลังนี้
รวมถึงข้อมูลในระบบดิจิตอล หนังสือสะสมส่วนตัวของมณเฑียร และวิดีโอบันทึกการสัมภาษณ์ของมณเฑียรในสื่อต่างๆ ที่ถูกรวบรวมไว้ด้วยกัน โดยทั้งหมดเปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าชมและศึกษาค้นคว้าได้ รวมถึงจะเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานหมุนเวียนของมณเฑียรขนาดย่อมต่อไปในอนาคต
ใครสนใจจะเข้าไปชมหรือสอบถามข้อมูลก็สามารถส่งข้อความทาง Inbox ที่เพจ facebook @MontienAtelier หรือเบอร์โทรศัพท์ 08-1714-3075
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Montien Atelier