ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Exhibition

จากความทรงจำที่ผสมไปด้วยความรู้สึก สู่การสร้างมโนภาพจากบรรดา “ภาพจำ” ที่สร้างขึ้นด้วยไวยกรณ์ของตนเอง

Exhibition

จากความทรงจำที่ผสมไปด้วยความรู้สึก สู่การสร้างมโนภาพจากบรรดา “ภาพจำ” ที่สร้างขึ้นด้วยไวยกรณ์ของตนเอง


เนื้อหาโดย วุฒิกร คงคา

ถ้าจิตรกรรมจะทำหน้าที่แสดงคุณสมบัติเฉพาะในฐานะ “ภาพ” ซึ่งไม่มีความจำเป็นในการเชื่อมโยงกับความเป็นจริง หากแต่ตัวตนของงานจิตรกรรมกำลังทำหน้าที่ส่ง “สาร” หรือ “ภาษาภาพ” ที่อรรถาธิบายอยู่ภายในจักรวาล หรือภูมิทัศน์ของขอบเขตความเป็นจริงจิตรกรรมเอง การสร้างภาพให้เกิดการประจักษ์ชัดเจน จิตรกรจึงทำงานอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของงานจิตรกรรมอันเคร่งครัด ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ก็ย้อนกลับไปสู่ต้นร่างและปลายทางของ “มโนภาพ” จากจิตรกร ว่าจะมีมุมมองต่อภาษาจิตรกรรมอย่างไร



ในผลงานชุด In all my remembrance ของ คณากร คชาชีวะ คือการพยายามสร้างร่องรอย “ความทรงจำ” อันหลากหลาย จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตจากโลกของความเป็นจริงให้ประจักษ์ชัดขึ้นมาด้วย “มโนภาพ” หลากหลายแบบ ที่มีต่อภาษาของจิตรกรรม

ความทรงจำในเบื้องต้นมาจากประสบการณ์ที่ถูกจารึก ซึ่งผสมปนเปไปด้วยความรู้สึก จากนั้นจึงนำไปสู่การสร้างมโนภาพจากบรรดา “ภาพจำ” ต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สามารถอรรถาธิบายความรู้สึกอย่างที่กล่าวภายในกรอบของภาษาทางจิตรกรรมที่เคร่งครัดไปด้วยกฎเกณฑ์ เป็นกฎเกณฑ์ที่ คณากรสร้างขึ้นด้วยไวยกรณ์ของตนเอง ซึ่งมีที่มาจากไวยกรณ์ดั้งเดิมของประวัติศาสตร์งานจิตรกรรมที่ปรากฎมาชัดเจนช้านานตั้งแต่อดีต

ไวยกรณ์ดั้งเดิมของงานจิตรกรรมอาจหมายรวมตั้งแต่การใช้สัญญะในการสร้างภาพแทนความคิด อย่างที่เราเคยเห็นกันในงานสกุลสัญลักษณ์นิยมและงานเหนือจริง หรือแม้แต่แฟนตาซีที่คล้ายภาพฝัน ขณะเดียวกัน สัญญะต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นสัญญะทางสังคมที่เข้าใจง่ายในแบบประชานิยม ซึ่งถูกนำมาสร้างด้วยกลวิธีเฉพาะของคณากรเพื่อประกอบร่างเป็นโครงเรื่องใหม่

โครงเรื่องใหม่ที่ว่านี้นำสัญญะยิบย่อยมาซ้อนทับคล้ายกับการตัดภาพมาแปะเพื่อร้อยเรียงเรื่องราวไปสู่ความสัมพันธ์แบบใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของความคิดและจินตนาการ มันคือเรื่องราวของความเป็น “ภาพ” ที่ส่งสารไปสู่ความรู้สึกที่ผสมปนเป มีต้นรากมาจากความทรงจำ



สัญญะของภาพผู้หญิง ผู้ชาย ริบบิ้น ดวงดาว สัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้ ต้นไม้ อวัยวะอย่างใบหู มือ และภาพทิวทัศน์ในห้วงเวลาต่าง ๆ ถูกบรรจุในตำแหน่งที่อาจไร้เหตุผล หรือจงใจอย่างที่เป็นเหตุเป็นผลคล้ายภาพฝันที่แปลกประหลาด ที่ซับทาบ เหลือบทับกันไปมา เหล่านี้ทำให้โครงสร้างของภาพถูกประกอบจากชิ้นส่วนย่อย ๆ เพื่อนำไปสู่เอกภาพแห่งความสมบูรณ์ ทว่าเป็นเอกภาพของการระเบิดที่แตกออกของภาพต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิด “ชิ้นส่วน” อันกระจัดกระจาย โดยนำความกระจัดกระจายเหล่านั้นมาเรียบเรียงอย่างเป็นระเบียบ และพิถีพิถันอีกครั้ง




การใช้สีสันฉูดฉาด เรียบแบนแต่ลึกล้ำ ด้วยการเกลี่ยสีให้เนียน อาจชวนให้คิดถึงงานสกุล Pop Art ซึ่งเจือปนมากับงาน Surrealism หรือแม้แต่การตัดแปะภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ในสกุลของ Dada ทำให้ผลงานเข้าใกล้สู่โลกของความคิดฝัน หรือมันอาจจะเป็นไดอารี่ที่กำลังก่อรูปของความหวัง ความทะเยอทะยาน การตรึกตรองถึงชีวิต ความปรารถนา ความวิตกกังวล ความสับสนในใจ หรือแม้การแสวงหาความสุขที่เที่ยงแท้




In all my remembrance ของ คชากร คชาชีวะ จึงคล้ายอุปรากรที่โออ่าด้วยน้ำเสียงของกวีซึ่งเต็มไปด้วยตัวละคร และฉากอันตระการตา ที่กำลังสำแดงนาฎกรรมแห่งอัตชีวประวัติในการเรียบเรียงบทประพันธ์แห่งภาพไร้เสียง ไปสู่ท้องทะเลสีครามแห่งจิตใจอันสงบเงียบ ทว่าความเงียบงันอันเวิ้งว้างนั้น กลับเต็มไปด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมดังอยู่ภายในใจ มันเป็นเสียงการระเบิดตัวของอะตอมความทรงจำขนาดเล็ก กลายร่างไปสู่ภาพใหม่ของกลุ่มคลื่นอนุภาคที่ถูกจัดเรียงอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจกับตัวเองตั้งแต่ร่างกายไปจนถึงก้นบึ้งแห่งความมืดมิดของจิตใจ




In all my remembrance นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย คณากร คชาชีวะ

ระยะเวลาจัดแสดงงาน: 16 กันยายน – 31 ตุลาคม 2566

จันทร์ - เสาร์ 10:00 น - 17:00 น (ปิดวันอาทิตย์)

Mini Xspace Gallery กรุงเทพฯ ชั้น 2 (เข้าชมฟรี)

 

ขอขอบคุณ

ผู้ช่วยศาตราจารย์วุฒิกร คงคา

เรื่อง: ผู้ช่วยศาตราจารย์วุฒิกร คงคา

ภาพ: Preecha Pattara

 








More to explore