ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

WOMAN IN GOLD การต่อสู้ของหญิงชรากับภาพวาดอันล้ำค่าของสตรีในชุดสีทอง

Art Behind Film

WOMAN IN GOLD การต่อสู้ของหญิงชรากับภาพวาดอันล้ำค่าของสตรีในชุดสีทอง


เนื่องในโอกาสที่ในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นวาระครบรอบรอบ 158 ปี ชาติกาลของศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า กุสตาฟ คลิ๊มต์ (Gustav Klimt)

เราเลยถือโอกาสนำเสนอเรื่องราวอเกี่ยวกับหนังเรื่องหนึ่งที่ถึงแม้จะไม่ใช่หนังชีวประวัติของ คลิ๊มต์ แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับผลงานชิ้นเอกของเขาอย่างมาก หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า

Woman In Gold (2015)

ที่เล่าเรื่องราวของเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะโลก ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือการที่หญิงชราธรรมดา ๆ ตัวเล็ก ๆ ผู้หนึ่ง ที่หาญกล้าฟ้องร้องทวงคืนภาพวาดภาพสำคัญระดับโลกภาพหนึ่งคืนซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของ กุสตาฟ คลิ๊มต์ จากรัฐบาลของประเทศประเทศหนึ่ง 

ภาพจากหนัง Woman In Gold (2015) BBC Films

แต่ก่อนที่เราจะพูดเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ เราขอเล่าชีวประวัติของศิลปินผู้นี้สั้นๆ ให้อ่านกันเป็นการโหมโรงก่อน

Buchenwald/ Birkenwald (1903) สีน้ำมันบนผ้าใบ

กุสตาฟ คลิ๊มต์ เป็นจิตรกร นักออกแบบ มันฑนากร แนว Symbolist ชาวออสเตรียคนสำคัญ เขาเป็นสมาชิกคนสำคัญของ Vienna Secession ผู้ผลักดันให้ศิลปะอาร์ตนูโว เป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะและออกแบบของออสเตรียและทั่วโลก คลิมต์เป็นที่รู้จักจากผลงานจิตรกรรม จิตรกรรมฝาฝนัง ภาพลายเส้น และศิลปะวัตถุอื่น ๆ ส่วนใหญ่เขาจะวาดภาพร่างกายผู้หญิง และมักจะแสดงออกถึงเรื่องราวทางเพศอย่างชัดแจ้ง เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานจิตรกรรมของคลิ๊มต์คือภาพร่างกายคนที่ผสานกันอย่างกลมกลืนกับลวดลายอันวิจิตรพิสดารจนดูเหมือนจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน นอกจากนั้นเขายังวาดภาพเหมือนบุคคลและภาพทิวทัศน์อีกด้วย ด้วยความน่าตื่นตาของการประดับประดาและเชิงช่างอันเชี่ยวชาญ และด้วยเอกลัษณ์เฉพาะตัวที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน ทำให้ผลงานของเขาอยู่ในระดับที่เหนือกว่าศิลปินในยุคร่วมสมัยเดียวกัน

เกิดวันที่ 14 กรกฎาคม 1862 ที่เมืองบวมการ์เทน ใกล้กรุงเวียนนา ออสเตรีย พ่อของเขาเป็นช่างทอง ส่วนแม่เป็นแม่บ้านที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรี กุสตาฟเป็นลูกคนที่สองในบรรดาพี่น้องเจ็ดคน ซึ่งพี่น้องชายสามคนต่างก็มีพรสวรรค์ทางศิลปะมาแต่อ้อนแต่ออก ในช่วงวัยเด็กพวกเขาอยู่กันอย่างยากจน

ในปี 1876 กุสตาฟได้ทุนเข้าเรียนที่สถาบัน Vienna School of Arts and Crafts และฝึกฝนเป็นช่างวาดภาพสถาปัตยกรรม เขาจบการศึกษาในปี 1883 ในปี 1880 คลิ๊มต์เริ่มอาชีพช่างวาดภาพฝาผนังและเพดานในอาคารใหญ่ ๆ หลายแห่ง ในปี 1888 เขาได้รับรางวัล Golden order of Merit จากจักรพรรดิ์ ฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 แห่งออสเตรีย จากการเข้าร่วมวาดภาพฝาผนังโรงละครแห่งชาติ บูร์กเธียเตอร์ ในเวียนนา

ปี 1892 พ่อและพี่ชายของเขาเสียชีวิตลง เขาจึงต้องรับผิดชอบครอบครัวแทนทั้งสอง เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อแนวคิดทางศิลปะของเขาไม่น้อย อีกไม่นานหลังจากนั้นเขาก็หันเหไปสู่สไตล์การทำงานในรูปแบบของตัวเอง ในช่วงนี้เองที่เขาพบกับ เอมิลี โฟลจ์ แม้คลิ๊มต์จะขึ้นชื่อว่ามากชู้หลายใจ แต่ทั้งคู่ก็กลายเป็นคนรักกันและเคียงคู่กันอย่างยาวนานจวบจนวาระสุดท้ายของเขา เธอให้กำเนิดลูก ๆ แก่เขาถึง 14 คน

ปี 1897 คลิ๊มต์เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Vienna secession ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสมาคมศิลปินแห่งเวียนนาให้ได้แสดงงาน รวมถึงนำเข้าศิลปินต่างชาติชั้นเยี่ยมเข้ามาทำงานในเวียนนา และจัดทำนิตยสารของตัวเองเพื่อเผยแพร่ผลงานของสมาชิก กลุ่มศิลปะกลุ่มนี้ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ศิลปะแนวไหนอย่างชัดเจน มีศิลปินทั้งในแนว Naturalists, Realists และ Symbolists อยู่ร่วมกันในกลุ่มอย่างหลากหลาย

ปี 1894 คลิ๊มต์ได้รับการว่าจ้างในการวาดภาพประดับเพดานในหอใหญ่ของมหาวิทยาลัยเวียนนา ผลงานของเขาสามชิ้น Philosophy, Medicine และ Jurisprudence ที่เปลี่ยนคติความเชื่อและสัญลักษณ์แบบประเพณีให้กลายเป็นภาษาใหม่ที่เต็มไปด้วยความเปิดเผยทางเพศและท้าทาย แต่กลับถูกโจมตีว่าวิปริตอนาจาร ผลก็คือมันไม่ถูกนำไปติดตั้งเลยแม้แต่ภาพเดียว ภายหลังภาพทั้งสามถูกทำลายในการล่าถอยของกองทัพ SS ในปี 1945 คลิ๊มเลิกรับงานจ้างจากภาครัฐนับตั้งแต่นั้นมา

ช่วงปลายปี 1890s เขาไปเที่ยวพักร้อนกับครอบครัวของคู่รักของเขาที่ชายฝั่ง และวาดภาพทิวทัศน์ออกมาหลายภาพ เชื่อกันว่าเขาวาดภาพทิวทัศน์เหล่านั้นด้วยการส่องกล้องโทรทัศน์

The Kiss (1907-1908) สีน้ำมัน ทองคำเปลวบนผ้าใบ หอศิลป์เบลเวเดียร์ เวียนนา

ช่วงปี 1899 - 1910 หรือที่เรียกว่า “ยุคทองคำ” ซึ่งเป็นช่วงที่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายที่สุด ภาพวาดของเขาในยุคนี้โดดเด่นด้วยการใช้ทองคำเปลวและสีทองเมลืองมลัง อาทิเช่น ภาพ Pallas Athene (1898) และ Judith I (1901) รวมถึงผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาอย่าง Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907) และ The Kiss (1907-1908) ในปี 1904 เขาร่วมกับศิลปินคนอื่นทำงานตกแต่งคฤหาสน์สต๊อกเลตของมหาเศรษฐีชาวเบลเยียม ซึ่งต่อมากลายเป็นอณุสรณ์สถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของศิลปะอาร์ตนูโว คลิ๊มต์ออกแบบและวาดฝาผนังห้องอาหารและงานประดับตกแต่งภายในชั้นเยี่ยมให้กับที่นั่น

ขณะทำงานและพักผ่อนอยู่ที่บ้าน คลิ๊มต์มักสวมรองเท้าเตะและเสื้อคลุมยาวโดยไม่ใส่ชั้นใน เขาเก็บตัวใช้ชีวิตเรียบง่าย อุทิศเวลาให้กับงานศิลปะและครอบครัว หลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์แม้กระทั่งในแวดวงศิลปะด้วยกัน กระบวนการวาดภาพของเขาต้องใช้เวลาและความอุตสาหะอย่างมาก และถึงแม้งานของเขาจะพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยจะแจ้ง และตัวเขาเองจะมีแรงขับทางเพศสูง แต่เขาเก็บงำชีวิตเซ็กส์ของตัวเองอย่างมิดชิดและมักจะหลีกเลี่ยงเรื่องอื้อฉาวอย่างสิ้นเชิง คลิ๊มต์ไม่ค่อยแสดงออกถึงทัศนคติและปรัชญาของตัวเองนัก เขาไม่เคยวาดภาพเหมือนของตัวเองเลยแม้แต่ภาพเดียว เขากล่าว่า “ผมไม่มีความสนใจที่จะเป็นแบบให้ตัวเองวาดภาพ เท่ากับสนใจที่จะวาดภาพคนอื่น โดยเฉพาะผู้หญิง มันไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับตัวผม ผมเป็นจิตรกรที่วาดภาพไปวัน ๆ เช้ายันค่ำ ถ้าใครอยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวผม ก็ควรจะหามันในภาพวาดของผมมากกว่า”

ในปี 1911 ภาพวาด Death and Life ของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน World Exhibitions ที่กรุงโรม ในปี 1915 แม่ของเขาเสียชีวิต หลังจากทุกทรมานจากอาการเป็นลมชักและปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ กุสตาฟ คลิ๊มต์ ก็ตายในอีกสามปีให้หลังที่เวียนนา ในวันที่ 6 มกราคม 1918 เขาถูกฝังในสุสานฮีตซิงในเวียนนา ทิ้งภาพเขียนจำนวนมากที่ยังเขียนไม่เสร็จไว้เบื้องหลัง

ผลงานของเขาส่งอิทธิผลอย่างสูงให้ศิลปินชื่อก้องร่วมสมัยเดียวกันกับเขาอย่าง เอกอน ชีเลอ ที่เป็นเหมือนลูกศิษย์และเพื่อนสนิทของเขา นอกจากนั้นมันยังให้แรงบันดาลใจให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์อย่าง กวี นักดนตรี ไปจนถึงนักวาดการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่น รวมถึงวงการแฟชั่น ดีไซเนอร์ชื่อดังอย่างจอห์น กัลลิอาโน ก็ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเล็คชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2008 มาจากผลงานจิตรกรรมของคลิ๊มต์อีกด้วย

ในปี 2012 ในเมืองเวียนนา ออสเตรีย ได้จัดนิทรรศการพิเศษหลายแห่งขึ้นมาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีของคลิ๊มต์ ผลงานภาพวาดของเขาหลายภาพถูกบันทึกให้เป็นงานศิลปะที่มีราคาสูงที่สุด อาทิเช่น Landhaus am Attersee ถูกขายไปในราคาสูงถึง 29 ล้านเหรียญ หากแต่มันก็ถูกลบสถิติด้วยผลงานอีกชิ้นของเขาอย่าง 

Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907) หรือเรียกในชื่อเล่นว่า Woman In Gold (สตรีในชุดสีทอง)

Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907) สีน้ำมัน ทองคำเปลวบนผ้าใบ, แกลเลอรี Neue ในนิวยอร์ค

ภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของคลิ๊มต์เคียงคู่ไปกับ The Kiss (1907- 1908) และเป็นภาพสุดท้ายที่เป็นตัวแทนของยุคทองของเขา มันเป็นหนึ่งในสองภาพเหมือนของ อดีเล่ บล็อค-บาวเออร์ (Adele Bloch-Bauer) สตรีชาวเวียนนาผู้เป็นเพื่อนสนิทและเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของคลิ๊มต์ ซึ่งสามีของเธอ เฟอร์ดินานด์ บล็อค นักลงทุนอุตสาหกรรมชาวยิวผู้รักศิลปะที่ร่ำรวยจากธุรกิจค้าน้ำตาลเป็นผู้จ้างวานให้เขาวาด

คลิ๊มต์ใช้เวลาสามปีในการวาดภาพนี้ขึ้นมา โดยใช้สีน้ำมันและทองคำเปลวบนผ้าใบ ที่แสดงให้เห็นถึงสีสันอันเรืองรองสง่างาม รายละเอียดอันซับซ้อน ลวดลายประดับประดาอันละเอียดอ่อนในแบบศิลปะอาร์ตนูโวอันเลิศหรูตระการตา สีหน้าแววตาของนางแบบที่แสดงออกถึงความปรารถนาและความลุ่มหลงอันลึกซึ้ง ลักษณะอันเหนือธรรมดาของมันได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแบบการตกแต่งประดับประดาของศิลปะประยุกต์ การใช้วัสดุอย่างทองคำกับพื้นหลังและตัวละครในภาพได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะไบแซนไทน์ในศตวรรษที่ 4 ซึ่งโดยปกติมักใช้กับภาพของนักบุญหรือผู้ปกครองรัฐ เพราะสีทองเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และความศักดิ์สิทธิ์ แต่เขากลับนำวัสดุและสีอันสูงส่งนี้มาใช้ในภาพของสามัญชนคนธรรมดา และใช้ในเชิงประดับประดาตกแต่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความหมายเชิงสัญลักษณ์ และความหมายเชิงวัฒนธรรมของมันโดยสิ้นเชิง

ก่อนวาดเขาร่างภาพสเก็ตซ์กว่า 100 ภาพ ที่มีภาพเหมือนอย่างน้อย 10 ชุดที่แสดงให้เห็นถึงอิริยบถ เสื้อผ้า รวมถึงท่าทางในการโพสต์ท่าต่าง ๆ ของนางแบบ เพื่อให้เห็นสภาวะ สไตล์ สีสัน และวัสดุที่ใช้ บางภาพเขาใช้สีชอล์คสีเหลืองในการสเก็ตซ์ภาพเพื่อศึกษาเอฟเฟ็กต์ของสีทองในภาพจริง ในภาพวาดของเขา ร่างกายของนางแบบแทบจะหลอมรวมเข้ากับลวดลายรอบ ๆ อย่างสิ้นเชิง มีเพียงเส้นรอบนอกของชุดและเสื้อคลุมที่แยกมันออกจากกันอย่างเบาบาง มันเลยทำให้แทบจะมองไม่ออกเลยว่าเธอที่อยู่ในภาพนั้นกำลังนั่งหรือยืนอยู่ มีเพียงเก้าอี้ที่เกือบจะแยกไม่ออกจากลวดลายก้นหอยข้างหลังเท่านั้นที่ทำให้ทราบว่าเธอกำลังนั่งอยู่ เขาเปลี่ยนร่างกายของเธอให้เป็นรูปสามเหลี่ยมที่สอดประสานด้วยลวดลายโมเสกทรงเรขาคณิต มีเพียงศีรษะและมือของเธอเท่านั้นที่ดูเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นเขายังใส่ลวดลายของอัญมณีที่กระตุ้นความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่สีทองของภาพ เขายังหยิบยืมรูปทรงเลอค่าของอียิปต์โบราณอย่าง ดวงตาของโฮรัส มาใช้เป็นลวดลายของชุด ส่วนลวดลายของเสื้อคลุมเขาได้มาจากลายตราประทับของญี่ปุ่น จุดสีทองที่ประปรายฟุ้งในฉากหลังเขาได้แรงบันดาลใจมาจากงานลงรักปิดทองของญี่ป่น ซึ่งตัวเขาเองมีหนังสือศิลปะญี่ปุ่นเก็บเอาไว้หลายเล่ม

Portrait of Adele Bloch-Bauer II (1912) สีน้ำมันบนผ้าใบ

อดีเล่ บล็อค-บาวเออร์ เป็นนางแบบเพียงคนเดียวที่คลิ๊มต์วาดภาพเหมือนถึงสองภาพ (ความจริงน่าจะมีอีกภาพหนึ่งคือ Judith I, 1901ที่นางแบบในภาพหน้าคล้ายเธอมาก) เมื่อเขาวาดภาพที่สองของเธอ Portrait of Adele Bloch-Bauer II เสร็จในปี 1912 เธอเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 44 ปี หลังจากการคลอดลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน สามีของเธอตกแต่งห้องเธอให้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำด้วยภาพวาดของคลิ๊มต์ทุกภาพที่เขามีอยู่

โดยในปี 1938 หลังจากการเสียชีวิตของ อดีเล่ 13 ปี กองทัพนาซียาตราเข้าสู่ออสเตรียเพื่อทำการผนวกดินแดนทั้งสองให้เป็นปึกแผ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟอร์ดินานด์ลี้ภัยออกจากออสเตรียโดยทิ้งทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่เอาไว้ที่บ้านของเขาและครอบครัวในกรุงเวียนนา ซึ่งบรรดาสมบัติเหล่านั้นก็มีภาพวาดของคลิ๊มต์ภาพนี้รวมอยู่ด้วย ไม่นานหลังจากนั้น ทหารนาซีก็บุกเข้ามาปล้นชิงทรัพย์สมบัติและยืดภาพวาดภาพนี้รวมถึงภาพวาดสูงค่าอื่นๆ ไปจากฝาผนังบ้านพวกเขาอย่างหน้าด้านๆ ด้วยเหตุผลเพียงเพราะพวกเขาเป็นชาวยิวเท่านั้นเอง ต่อมาภายหลังภาพนี้ตกอยู่ในความครอบครองของหอศิลป์แห่งชาติของออสเตรีย และคงอยู่ที่นั่นไปจนสิ้นสงคราม 

และนี่ก็เป็นที่มาของเรื่องราวในหนังที่เรากำลังจะพูดถึงนั่นเอง

ภาพจากหนัง Woman In Gold (2015) BBC Films

Woman In Gold เป็นหนังดราม่าสัญชาติอังกฤษ/อเมริกัน ของ ไซมอน เคอร์ติส ที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของ มาเรีย อัลต์แมน (เฮเลน มีร์เรน) หญิงชราชาวยิวออสเตรียผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เธอและทนายหนุ่ม แรนดี้ โชนเบิร์ก (ไรอัน เรย์โนลด์ส) ร่วมกันฟ้องร้องรัฐบาลออสเตรียเพื่อทวงกรรมสิทธิ์ภาพวาดที่ว่าคืนแก่ตนเอง

ซึ่งอันที่จริง นางแบบในภาพอย่าง อดีเล่ บล็อค-บาวเออร์ นั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นป้าแท้ๆ ของมาเรียนั่นเอง ส่วน เฟอร์ดินานด์ สามีของเธอก็พี่ชายของพ่อหรือก็คือลุงของเธอนั้นแหละ โดยในช่วงสงคราม มาเรียกับสามีหลบลี้หนีภัยนาซีออกจากบ้านที่เธออาศัยอยู่กับครอบครัวตามหลังลุงของเธอที่จากไปก่อนหน้า หลายสิบปีให้หลัง มาเรียกับสามีที่หลบลี้หนีภัยสู่อเมริกา (น่าเศร้าที่พ่อแม่ของเธอหนีไม่รอดและเสียชีวิตในค่ายกักกัน) ไปใช้ชีวิตใหม่และเปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวอเมริกันจนล่วงเข้าสู่วัยชรา เธอบังเอิญพบหลักฐานจากจดหมายของพี่สาวผู้ล่วงลับของเธอว่า ก่อนตายลุงของเธอได้เขียนพินัยกรรมยกสมบัติของเขาให้แก่หลานๆ อย่างมาเรียและพี่สาวของเธอ ซึ่งในจำนวนนั้นมีภาพวาดสตรีในชุดสีทองอันเลอค่าของคลิ๊มต์รวมอยู่ด้วย ประจวบกับในช่วงปี 1990 รัฐบาลออสเตรียได้ทำโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีด้วยการออกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ประสบภัยเหล่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่หรือทายาทของพวกเขาแจ้งความจำนงในการทวงคืนผลงานศิลปะที่ถูกนาซีปล้นชิงไปในช่วงสงครามที่รัฐครอบครองอยู่กลับคืนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองได้

มาเรียจึงขอความช่วยเหลือจากแรนดี้ ทนายหนุ่มน้อยลูกชายเพื่อนสนิทของเธอยื่นเรื่องทวงคืนภาพวาดของคลิ๊มต์กลับคืนจากหอศิลป์แห่งชาติของออสเตรีย เรื่องราวก็คงจะสะดวกราบรื่นดีอยู่ถ้าไม่ติดปัญหาตรงที่ภาพวาดภาพนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของจิตรกรเอกที่เป็นหน้าเป็นตาและเป็นความภูมิใจสูงสุดของมหาชนชาวออสเตรียอย่าง กุสตาฟ คลิ๊มต์ จนถึงกับมีคนให้สมญานามมันว่า “โมนาลิซ่าแห่งออสเตรีย” มีหรือที่รัฐบาลออสเตรียจะยอมคืนมันให้กับมาเรียง่าย ๆ เรียกว่าแย่งอ้อยคืนจากปากช้างยังจะง่ายกว่า! แน่นอนว่าข้อเรียกร้องของเธอถูกทางการออสเตรียปฏิเสธอย่างไม่ใยดี และตัวเธอเองก็ไม่มีปัญญาฟ้องร้องรัฐบาลออสเตรียเนื่องจากต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องร้องแพงเป็นล้านเหรียญ (คิดจาก 1% ของมูลค่าของภาพ) แต่ในปี 2000 แรนดี้และมาเรียพบช่องทางทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดีนี้ในศาลสหรัฐอเมริกา ภายหลังการต่อสู้อย่างยาวนานเป็นเวลาหกปี จนเรื่องราวขึ้นถึงศาลสูงสุด ในวันที่ 16 มกราคม 2006 ลูกขุนร่วมอเมริกัน/ออสเตรียก็ตัดสินให้รัฐบาลออสเตรียคืนภาพสตรีในชุดสีทอง รวมถึงภาพเขียนของคลิ๊มต์อีกสี่ภาพให้กับมาเรียในที่สุด

ภาพจากหนัง Woman In Gold (2015) BBC Films

ในปีเดียวกันนั้นเองภาพวาดสตรีในชุดสีทองก็ถูกประมูลไปโดยทายาทของเอสเต้ เลาเดอร์ แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง โรนัลด์ เลาเดอร์ ในราคา 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มันเป็นภาพวาดที่มีราคาสูงที่สุดช่วงเวลานั้น มันถูกจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรี Neue ในนิวยอร์คจวบจนถึงทุกวันนี้

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายๆ คนอาจคิดว่าที่มาเรียทำแบบนี้เป็นเพราะความโลภและกระหายเงินจนถึงกับแย่งชิงความภูมิใจของคนทั้งประเทศไปขายเอาเงินเข้าประเป๋าตัวเอง แต่ถ้าได้ดูหนังหรืออ่านเรื่องราวของเธอจริงๆ ก็จะเข้าใจว่า การที่หญิงชราตัวเล็กๆ คนหนึ่งลงทุนลงแรงฟ้องร้องรัฐบาลประเทศหนึ่งโดยที่โอกาสชนะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนั้น เหตุผลย่อมมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องเงินๆ ทอง ๆ เป็นแน่ อันที่จริงแล้วการทวงคืนภาพเขียนในครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากการทวงคืนความเป็นธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความทรงจำอันงดงามของครอบครัวของเธอที่ถูกปล้นชิงไปอย่างไร้มนุษย์ธรรมโดยนาซีกลับคืนมานั่นเอง

ตอนแรกดูจากหน้าหนังและเรื่องย่อแล้วก็คิดว่าคงไม่พ้นเป็นหนังประเภทดราม่าในศาลอะไรเทือกนั้น ก็ทำใจว่ามันคงจะน่าเบื่อชวนหลับสำหรับคนที่ไม่ค่อยสันทัดกฎหมายอย่างเรา ก็ถือซะว่าไปดูงานศิลปะชิ้นโปรด ดูพร็อพประกอบฉากสวยๆ แต่ผลกลับออกมาผิดคาด เพราะมันเป็นหนังที่ดูสนุกเลยทีเดียว หนังถ่ายภาพสวย ฉากและโปรดักชั่นงดงามตระการตา การตัดต่อดีมีจังหวะจะโคน ใช้การสลับช่วงเวลาอดีตกับปัจจุบันร้อยเรียงกันได้อย่างน่าติดตาม ส่วนการแสดงก็หายห่วง ด้วยทีมนักแสดงระดับนี้ เรียกว่าเอาอยู่อยู่แล้ว หนังมีมุกตลกเล็กๆ มีฉากน่ารักซาบซึ้งไปจนถึงดราม่าเรียกน้ำตา แถมยังมีฉากลุ้นระทึกให้นั่งตัวเกร็งจิกเบาะพอหอมปากหอมคอ 

องค์ประกอบอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือดนตรีประกอบ ด้วยความที่เรื่องราวช่วงหนึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ศิลปะวัฒนธรรมกำลังเฟื่องฟูของเวียนนา ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “นครหลวงแห่งดนตรีคลาสสิค” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและที่พำนักของคีตกวีเอกของโลกมากมายอย่าง ชูเบิร์ต, ไฮเดิน, โมซาร์ต และ เบโธเฟ่น ครอบครัวบล็อค-บาวเออร์ เองก็สนิทสนมกับคีตกวีชื่อดังในยุคนั้นอย่าง กุสตาฟ มาห์เลอร์, ริชาร์ด สเตราส์ และ โยฮันเนส บรามส์ อีกทั้งตัวทนายหนุ่มอย่างแรนดี้เองก็เป็นหลานของ อาร์โนลด์ โชนเบิร์ก คีตกวีชื่อดังชาวเวียนนาเชื้อสายยิว ผู้เป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงที่ทรงอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการของรูปแบบและแนวคิดทางดนตรีของศตวรรษที่ 20 (ด้วยความที่เป็นยิว โชนเบิร์กจึงนาซีถูกหมายหัวจนต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกาและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน จนกระทั่งเสียชีวิตที่นั่นในปี 1951) ซึ่งโชนเบิร์กเองก็สนิทสนมกับครอบครัวบล็อค-บาวเออร์อย่างมาก แถมสามีของมาเรียเองก็เป็นนักร้องโอเปร่าเสียงดี ส่วนพ่อของเธอเองเป็นนักเดี่ยวเชลโล่ฝีมือดีอีกด้วย เรียกว่าเป็นครอบครัวสุนทรีย์ที่รุ่มรวยด้วยศิลปะและดนตรีการโดยแท้ 

ด้วยเหตุนี้หนังจึงเต็มไปด้วยดนตรีคลาสสิคชั้นดีให้ฟังจนฉ่ำหูชื่นใจคอดนตรีคลาสสิค เรียกว่าเป็นหนังดีเรื่องหนึ่งเลย ถึงมันออกจะเป็นหนังตามสูตรฮอลลีวูดจ๋าไปสักหน่อยก็เถอะ

ถ้าใครเป็นคอหนังคุณภาพที่รักศิลปะและความสุนทรีย์ในหัวใจก็ขอแนะนำว่าห้ามพลาดเป็นอันขาดเลยเชียว

ข้อมูล/ภาพ : หนังสือ Gustav Klimt by: Gustav Klimt / Marian Bisanz-Prakken / Alfred Weidinger, BBC Films, http://goo.gl/DIKyb9 เว็บไซต์ www.klimt.com, en.wikipedia.org/wiki/Gustav_Klimt, อ่านเชิงอรรถศัพท์ศิลปะของบทความนี้ได้ที่ http://goo.gl/2QSPvr

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #art #movie #womaningold #gustavklimt #portraitofadeleblochbauer #สตรีในชุดสีทอง #artnouveau #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ






More to explore