ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

Jojo Rabbit & Heroes เพลงประกอบหนังกับความรักระหว่างกำแพง

Art Behind Film

Jojo Rabbit & Heroes เพลงประกอบหนังกับความรักระหว่างกำแพง


ถ้าใครเคยดูหนัง Jojo Rabbit (2019) หนังดราม่าตลกร้ายพึลึกพิลั่น ของ ไทกา ไวทีที ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย Caging Skies (2008) ของ คริสติน ลูเนินส์ คงประทับใจไปกับเรื่องราวของ “โจโจ้” เด็กชายชาวเยอรมัน ผู้เป็นยุวชนฮิตเลอร์ แต่ดันมีเพื่อนในจินตนาการเป็นฮิตเลอร์ในเวอร์ชั่นสุดติงต๊อง (ที่รับบทโดยตัวผู้กำกับเอง) โจโจ้อาศัยอยู่กับ “โรซี” แม่ของเขากันสองคน ถึงแม้โจโจ้จะอยู่ในองค์การเยาวชนของพรรคนาซีที่หล่อหลอมให้เด็กๆ สืบสานเจตนารมณ์ของจอมเผด็จการฮิตเลอร์และพรรคนาซีอย่างแข็งขัน แต่โจโจ้ก็ล้มเหลวในการเป็นยุวชนฮิตเลอร์ที่ดีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความอ่อนโยนในจิตใจ กระทั่งเขาได้ชื่อฉายา “โจโจ้ แรบบิท” จากเพื่อนๆ ยุวชนคนอื่น เพราะเขาไม่ยอมฆ่ากระต่ายเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองมีสัญชาตญาณนักฆ่าตามอุดมการณ์ของนาซี จนกลายเป็นตัวตลกในหมู่เพื่อนๆ

Jojo Rabbit (2019)

อยู่มาวันหนึ่ง โจโจ้พบความลับว่าแม่ของเขาแอบซ่อน “เอลซ่า”เด็กสาวชาวยิวเอาไว้ในห้องลับหลังกำแพงบ้าน แทนที่จะส่งตัวเธอเข้าค่ายกักกันตามหน้าที่ หนำซ้ำเขายังพบว่าแม่ของเขาแอบเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านนาซีอยู่ลับๆ อีกต่างหาก สิ่งนี้ทำให้โจโจ้ต้องต่อสู้ระหว่างการเป็นยุวชนฮิตเลอร์ที่ดีกับมนุษยธรรมในใจของเขา และยิ่งนานวันเข้า จากที่เคยถูกองค์กรนาซีปลูกฝังให้เกลียดชังชาวยิวเข้ากระดูกดำ โจโจ้กลับค่อยๆ คลายความเกลียดชังและเพิ่มความสนิทสนมกับเอลซ่า เด็กสาวผู้แอบอยู่หลังกำแพงบ้านทีละเล็กทีละน้อย จนกลายเป็นความผูกพัน มิตรภาพ และความรักในที่สุด

หนังถ่ายทอดแง่มุมของสงครามและสภาพสังคมเยอรมันในเผด็จการยุคนาซี ผ่านสายตาของเด็กออกมาได้อย่างน่ารักน่าชังและฮารั่วจนหลุดโลก แต่ในขณะเดียวกันก็แอบซ่อนความโหดร้ายชวนให้ใจสลายได้อย่างแนบเนียนจนเราต้องหัวเราะไปพร้อมน้ำตาโดยแทบไม่รู้ตัว

นอกจากการดำเนินเรื่องอันสนุกสนานเพลิดเพลินและร้าวรานสะเทือนใจไปพร้อมๆ กัน และบทสนทนาอันตลกร้ายชวนหัวและเสียดสีสังคมการเมืองได้อย่างแสบสัน จนทำให้หนังได้รางวัลออสการ์สาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยมในปี 2019 ไปครองแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งในหนังเรื่องนี้ก็คือเพลงประกอบหนังที่หยิบเอาเพลงร็อกชั้นดีหลากหลายเพลงมาใช้ หนึ่งในนั้นคือเพลงร็อกที่งดงามที่สุดเพลงหนึ่งในโลกใบนี้ เพลงนั้นมีชื่อว่า Heroes 

อัลบั้ม Heroes (1977) ของ เดวิด โบวี

ผลงานของศิลปินดนตรีชื่อดังระดับตำนานชาวอังกฤษ เดวิด โบวี ที่แต่งโดยโบวี และ ไบรอัน อีโน ในปี 1977 และโปรดิวซ์โดย โบวี กับ โทนี วิสคอนติ มันรวมอยู่ในอัลบั้มลำดับที่ 12 ของเขาอย่าง Heroes ที่มีชื่อเดียวกันกับเพลง โดยเป็นหนึ่งในสามอัลบั้มของยุค Berlin Trilogy อันโดดเด่นเป็นสง่า ที่พัฒนาสุ้มเสียงและสไตล์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา และเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ได้รับเสียงวิจารณ์ดีที่สุดของเขาอีกด้วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีมือกีต้าร์ระดับเทพอย่าง โรเบิร์ต ฟริปป์ (King Crimson) มาร่วมงานด้วย) โดยชื่อเพลงได้แรงบันดาลใจจากเพลงในปี 1975 ที่ชื่อ Hero ของวงดนตรีเยอรมัน Neu! ที่โบวีและอีโนชื่นชอบ

ในช่วงแรกที่เพลงออกมานั้น โบวีเล่าถึงแรงบันดาลใจของตัวละครคู่รักที่มาพบกันในเงื้อมเงาของ “กำแพงแห่งความอับยศ” (หรือกำแพงเบอร์ลินที่แบ่งแยกเยอรมันตะวันตกและตะวันออกออกจากกันตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งถูกพังทลาบลงไปในปี 1989 ซึ่งในช่วงที่โบวีอยู่ในเบอร์ลินกำแพงก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่) ในเพลงนั้น นอกจากจะมาจากตัวกำแพงเบอร์ลินเองแล้ว มันยังได้มาจากการที่เขาได้เห็นคู่รักหนุ่มสาวนิรนามคู่หนึ่งมาแอบพลอดรักกันอยู่ข้างกำแพงทุกวัน 

แต่ในความเป็นจริง แรงบันดาลใจของเพลงนี้มันเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวเขากว่าที่คิด อันที่จริงมันเป็นเรื่องของ โทนี วิสคอนติ โปรดิวเซอร์ร่วมของอัลบั้มนี้นั่นเอง โดยในช่วงที่อยู่เบอร์ลิน โทนี (ผู้มีภรรยาเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว) แอบไปมีสัมพันธ์ลับๆ กับนักร้องประสานเสียงสาว แอนโธเนีย มาาส์ ทั้งคู่ลอบไปพลอดรักกันข้างกำแพงหลังมื้อเที่ยง โดยมีโบวีแอบมองจากทางหน้าต่างสตูดิโอ โทนีเปิดเผยว่าที่โบวีบอกว่าพวกเขาเป็น “คู่รักหนุ่มสาวนิรนาม” ในตอนแรก เพราะเป็นการช่วยปกป้องตัวเขาและชู้รัก ซึ่งโบวีเองก็ออกมายอมรับในภายหลังว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของโทนีจริงๆ นั่นแหละ

Lovers Between Garden Walls (1916) โดย อ็อตโต้ มูลลาร์

แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้อีกอย่างได้มาจากผลงานของ อ็อตโต้ มูลลาร์ (Otto Müller) ศิลปินในกลุ่ม Die Brücke (สะพาน) กลุ่มศิลปินเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ของเยอร์มัน อย่าง Lovers Between Garden Walls (1916) ภาพวาดสีนำ้มันรูปคู่รักกำลังตระกองกอดกันอยู่หน้ากำแพงหิน อารมณ์แห่งความโศกาอาวรณ์ที่เต็มเปี่ยมอยู่ในภาพวาดนี้สร้างความประทับใจและส่งอิทธิพลให้กับโบวีในการแต่งเพลงนี้อย่างมาก

ครั้งหนึ่งในปี 1987 เดวิด โบวี เคยแสดงคอนเสิร์ตและเล่นเพลงนี้ที่เมืองเบอร์ลินตะวันตก หน้ากำแพงเบอร์ลินที่ยังไม่ถูกทลาย เขากล่าวถึงความประทับใจในครั้งนั้นว่า 

“ผมไม่เคยลืมวันนั้นเลย มันเป็นหนึ่งในการแสดงสดที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดที่ผมเคยเล่นมา จนทำให้ผมต้องหลั่งน้ำตาเลยทีเดียว ในวันนั้น เวทีคอนเสิร์ตถูกวางชิดกับกำแพงเบอร์ลินจนดูเหมือนกำแพงเป็นฉากหลังของเวที ตอนแสดงอยู่เราได้ยินเสียงชาวเบอร์ลินตะวันออกสองสามคนหลังกำแพงที่น่าจะมีโอกาสได้ยินเราแสดง แต่เราไม่ได้รู้เลยว่ามีคนจำนวนกี่คนอยู่ตรงนั้น จริงๆ แล้วอีกฝั่งของกำแพงนั้นมีคนมารวมตัวกันอยู่หลายพันคนเพื่อฟังเรา มันเลยเหมือนกับเรากำลังแสดงคอนเสิร์ตสองคอนเสิร์ต ที่มีกำแพงเบอร์ลินเป็นตัวแบ่งแยกคนดูออกจากกัน เราได้ยินพวกเขาส่งเสียงเชียร์และร้องเพลงคลอตามไปกับเราในอีกฝั่งของกำแพง พระเจ้า! มันทำให้ผมตื้นตันท่วมท้นแม้จนทุกวันนี้ ผมไม่เคยทำอะไรแบบนั้นมาก่อนในชีวิต และคงคิดว่าจะไม่ได้ทำอีกแน่ๆ 

พอเราเล่นเพลง “Heroes” มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเรากำลังร้องเพลงสรรเสริญหรือสวดภาวนา การได้เล่นเพลงนี้ที่นั้น ในเวลานั้น มีความหมายกับเรามากเหลือกัน เพราะเบอร์ลินเป็นเมืองที่เราเขียนเพลงนี้ขึ้นมา ในสถานการณ์เดียวกันกับที่เรากำลังแสดงคอนเสิร์ตอยู่ เป็นอะไรที่พิเศษเอามากๆ ไม่มีเมืองไหนที่จะมอบประสบการณ์ในการเล่นเพลงนี้ให้เราได้ดีเท่ากับการเล่นที่นี่อีกแล้ว หลังจากนั้นผมได้กลับไปแสดงสดที่เบอร์ลินอีกครั้งในวันที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายไปแล้ว วันนั้นคนดูครึ่งหนึ่งของเราเคยเป็นชาวเบอร์ลินตะวันออกในกาลก่อน แต่วันนั้นผมได้แสดงสดต่อหน้าคนที่เคยร้องเพลงร่วมกับเราอยู่หลังกำแพงเมื่อหลายปีก่อน และเราทั้งหมดต่างก็ร้องเพลงนี้ด้วยกัน มันเป็นอะไรที่ทรงพลังเอามากๆ ทำให้ผมรู้สึกว่า นี่แหละ คือสิ่งที่การแสดงสดจะทำได้จริงๆ ผมไม่คิดว่าอะไรแบบนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ หรอกนะ และมันก็ทำให้ผมรู้สึกว่า ต่อให้วันพรุ่งนี้ผมไม่อาจเล่นดนตรีหรือทำอะไรได้อีกต่อไป ก็คงไม่เป็นไรแล้วล่ะ”

Heroes เป็นหนึ่งในเพลงที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของโบวีและเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ จากการที่มันถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบโฆษณามากมายหลายครั้ง รวมถึงเป็นเพลงของโบวีที่ถูกนำไปคัฟเวอร์มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเพลง Rebel Rebel ของเขา นอกจากนั้นมันยังถูกนำไปทำเป็นเพลงประกอบหนังหลายเรื่อง อย่างเช่นในเวอร์ชันที่ The Wallflowers นำไปทำเป็นเพลงประกอบหนัง Godzilla ในปี 1998 ที่ขึ้นถึงอันดับ 10 ของชาร์ตบิลบอร์ดโมเดิร์นร็อกในปี 1998 และอันดับที่ 23 ของบิลบอร์ดท็อป 40 และในปี 2012 มันถูกนำไปใช้ในหนัง The Perks of Being a Wallflower Stranger (2012), Horns (2013) และ Stranger Things ซีซัน 3 (2019) 

Jojo Rabbit (2019)

และแน่นอนว่ามันถูกใช้เป็นเพลงประกอบในฉากสุดท้ายและเอนด์เครดิตในหนัง Jojo Rabbit ได้เพี้ยนพิลึกหากแต่งงดงามอย่างยิ่ง จนทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในฉากจบที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เลยทีเดียว เพราะนอกจากเนื้อหาและภูมิหลังของเพลงจะเข้ากันกับเนื้อเรื่องในหนังอย่างเหมาะเจาะลงตัวแล้ว สิ่งที่ลงตัวเหมาะเจาะกับหนังเรื่องนี้จนน่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้นคือ เพลงนี้นำมาใช้นั้นเป็นเพลงในเวอร์ชันเยอรมัน (ในชื่อ Helden) ซึ่งโบวีแต่งคำร้องและร้องเพลงในภาษาเยอรมันเพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่เขาแต่งเพลงนี้ขึ้นมานั่นเอง.

ฟังเพลงประกอบหนังได้ที่นี่ https://bit.ly/2DKNBhd 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://r29.co/2XTifMf, https://bit.ly/2Y97Psj, https://bit.ly/2PKFKTo, https://bit.ly/3fRnsdL, https://bit.ly/2PHAJuV, https://amzn.to/33Q1HZn, https://bit.ly/3hb6QC7 

#Xspace #musuxoncinema #movie #music #jojorabbit #ost #heroes #davidbowie #song #berlinwall #ottomüller diebrücke #loversbetweengardenwalls #painting #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ






More to explore