ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Talk with Artist

DiaLogic บทสนทนาสังสรรค์ทางความคิดระหว่างนักสร้างสรรค์ต่างสาขา สันติ ลอรัชวี I อโณทัย นิติพน

Talk with Artist

DiaLogic บทสนทนาสังสรรค์ทางความคิดระหว่างนักสร้างสรรค์ต่างสาขา สันติ ลอรัชวี I อโณทัย นิติพน


ถ้าพูดถึงชื่อ สันติ ลอรัชวี คนรักงานกราฟิกดีไซน์คงรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะนักออกแบบกราฟิกชาวไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอกราฟิกดีไซน์ แพรคทิเคิล (Practical Design Studio) ผู้สื่อสารและแสดงออกทางความคิดผ่านการสำรวจความเป็นระบบภาษาของกราฟิกและไทโปกราฟีหรือการออกแบบตัวพิมพ์ หลังจากร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการกลุ่ม Xspace the Xhibition : Human Relativity ที่ Xspace Art Gallery ในปี 2020 ที่ผ่านมา ล่าสุด สันติกำลังจะมีผลงานจัดแสดงที่ Xspace อีกครั้งในนิทรรศการดูโอที่มีชื่อว่า DiaLogic ที่เป็นเสมือนหนึ่งการสังสรรค์สนทนาร่วมกับ อโณทัย นิติพน นักประพันธ์เพลง/นักดนตรี/ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ปี 2564 ผู้มีความสนใจในการทดลองทางเสียงและดนตรี

มาร่วมรับฟังบทสนทนาของทั้งคู่ที่จะเปิดเผยเบื้องลึก เบื้องหลังของที่มาที่ไป รวมถึงแนวความคิดและแรงบันดาลใจของนิทรรศการนี้ไปพร้อมๆ กันเถอะ

Xspace:

นิทรรศการ DiaLogic มีจุดเริ่มต้นอย่างไรครับ

สันติ: 

ก็ต้องเริ่มจากการขอบคุณ Xspace ผมได้มีโอกาสได้แสดงงานกลุ่มที่ Xspace และก็มีผลงานแสดงอยู่ที่นี่บ้าง จนกระทั่งได้รับการชักชวนให้มาแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่ Xspace ซึ่งเป็นสเปซที่ใหญ่มาก พอดีกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผมรู้สึกค่อนข้างว่างเปล่าทางความคิด ว่าเรื่องที่เราเคยอยากจะสื่อสารนั้นเจือจางไป ทำให้มีทั้งความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจว่าจะสามารถจะทำงานที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างออกมาในลักษณะที่เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวได้จริงไหม นั่นเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ในระหว่างนั้นผมก็มีโอกาสได้เจออาจารย์ต้อม (อโณทัย) และทำงานด้วยกันอยู่เนืองๆ ก็คุยกับเขาว่า เราได้พื้นที่มา เรียกว่าสองหัวดีกว่าหัวเดียวดีไหม จะได้ทำงานด้วยกันแบบจริงจังสักที อาจารย์ต้อมก็ตอบตกลง ก็เลยมาปรึกษาทาง Xspace ซึ่งตกลงให้ทำด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้น 

อโณทัย: 

ของเราก็เช่นเดียวกัน ข้อแรกก็ขอบคุณอาจารย์สันติ และทาง Xspace ด้วยการแนะนำของอาจารย์สันติ ทำให้ได้มีโอกาสมาได้รู้จักพื้นที่นี้ ก่อนหน้านี้เราได้เห็นเฟอนิเจอร์ของ Xspace (WURKON) ในหลายพื้นที่แล้ว พอได้เดินเข้ามาเห็นบ้านของเขา ก็รู้สึกตื่นเต้นค่ จริงๆ ก่อนหน้านี้เราได้ทำงานกับอาจารย์สันติมานานมากแล้ว รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานกับอาจารย์ ที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนามาตลอด 10 ปี ตั้งแต่เราก่อตั้งสถาบันขึ้น จากบทสนทนาครั้งแรกที่อาจารย์ไปออกแบบ ปรับโลโก้ และทำระบบกราฟฟิกดีไซน์ให้สถาบันตั้งแต่ต้น ก็มีบทสนมนากับอาจารย์มาตลอด อย่างน้อยปีละครั้ง บางทีก็ทานข้าวกัน ทุกครั้งที่คุยกันก็จะพบโจทย์ใหม่ๆ ในการทำงานของตัวเองตลอด เวลาเรามีคอนเสิร์ตก็จะรบกวนอาจารย์สันติให้ดีไซน์โปสเตอร์ให้ รู้สึกว่าอาจารย์ไปไกลกว่าการเป็นผู้ออกแบบ แต่อาจารย์ชวนเราคิด ชวนให้ตั้งคำถาม ทุกครั้งที่ทำงานกับอาจารย์สันติ อาจารย์ก็จะตั้งคำถามใหม่ให้เราคิดตามตลอด เพราะฉะนั้น พออาจารย์สันติชวนให้มาร่วมทำนิทรรศการ DiaLogic ในครั้งนี้ ก็ตอบตกลงทันที ชอบตรงที่ ทุกครั้งที่ทำงานกับอาจารย์สันติ เราจะพยายามไม่หาคำตอบไว้ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นงานชิ้นไหน แล้ววิธีการทำงาน วิถีปฏิบัติของอาจารย์ก็เหมาะกับการทำงานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราทำงานในวงการดนตรีมาหลายปี ใช้การขีดเขียนบนกระดาษ ก็รู้สึกว่า เอ๊ะ นี่คือปลายทางที่สุดที่เราจะทำหรือเปล่า ก็จะเป็นโจทย์ที่จะค่อยๆ คลี่คลายกันไป

Xspace:

งานดนตรีกับงานกราฟิกดีไซน์ จะว่าไปก็เป็นสื่อคนละแบบ ในขณะที่ดนตรีเป็นสื่อที่ใช้หูฟังแต่กราฟฟิกดีไซน์เป็นสื่อที่ใช้ตาดู สองอย่างนี้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

สันติ: 

ถ้าตอบแบบคนที่ไม่ใช่นักดนตรี จริงๆ สองสิ่งนี้อยู่ด้วยกันมานานมาก เพราะนักดนตรีก็เล่นดนตรีจากโน้ตเพลง โน้ตคือระบบภาษาอย่างหนึ่งที่แปลมาจากเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงในหัวนักแต่งเพลง หรือ เสียงดนตรีที่เล่นก็ตาม อาจารย์ต้อมเคยบอกว่าโน้ตคือบันทึก เพราะฉะนั้นพอมนุษย์เริ่มพยายามจะบันทึกเสียง ก็มีความพยายามในการสร้างรหัส (Code) ใช่ไหม รหัสที่ว่านี้เป็นรหัสทางสายตา (Visual Code) เพราะฉะนั้นดนตรีกับกราฟิกดีไซน์นั้นไม่เคยห่างกันเลย โดยเฉพาะเมื่อผมเข้าไปในสถาบันดนตรีบ่อยๆ ก็พบว่าเริ่มใกล้เข้าไปเรื่อยๆ อย่างอาจารย์ต้อมชวนผมเข้าไปในวิชา Notation Literacy เข้าไปฟังโปรเฟสเซอร์ชาวเยอรมันเล็คเชอร์ ได้เห็นวิธีการเขียนโน้ตสมัยใหม่ ผมรู้สึกเลยว่าคนเขียนโน้ตเพลงเนี่ย กราฟฟิกดีไซเนอร์ชัดๆ หรือศิลปินอย่าง จอห์น เคจ ก็ตาม สิ่งนี้ทำให้ผมสนใจ นักแต่งเพลงในยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ที่หลายคนก็เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ และก็เป็นนักแต่งเพลง เพราะคนที่สามารถเห็นภาพ แล้วเห็นสารในประสาทสัมผัสอื่น หรือเห็นภาพเป็นถ้อยคำ เห็นภาพเป็นเสียง หรือเห็นภาพเป็นรสชาติ ผมว่านั่นคือกราฟฟิกดีไซเนอร์ เพราะหน้าที่ของกราฟฟิกดีไซเนอร์ คือการพยายามทำงานวิช่วลเพื่อสื่อสารความหมายของสิ่งต่างๆ เหมือนเราทำโปสเตอร์น้ำหอม เราก็ต้องพยายามแปลกลิ่นหรือบุคลิกของกลิ่นนั้นให้ออกมาเป็นภาพ ทีนี้พอยิ่งเข้าทำงานกับอาจารย์ต้อมมากขึ้นเมื่อไร ทำให้ผมรู้สึกว่า จากเมื่อก่อนที่ผมไม่กล้าเข้าใกล้พื้นที่ของเสียง เพราะเราไม่ใช่นักดนตรี แต่พอเราเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น อาจารย์ต้อมเชิญไปสอน ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้มีความรู้ทางด้านโน้ตดนตรีเลย ผมพบว่าเรามีที่ทางที่เราจะแบ่งปันกับนักดนตรี หรือนักเรียนดนตรีได้ ความใกล้ชิดนี่แหละ ที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจที่จะทำงานร่วมกันกับนักดนตรี

อโณทัย: 

ในมุมของเรา เราตอบคำถามนี้ว่า มันเชื่อมกันที่คนนี่แหละ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ในการเรียนหรือทำดนตรี เราใช้ชีวิต เราลืมตามากับโน้ต เราอ่านโน้ตทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีคลาสสิค เราดูโน้ตเป็นหลักเลย สื่อแรกก่อนที่จะฟังเสียง เราเห็นโน้ตก่อน แล้วถึงจะสร้างเป็นเสียง เพราะฉะนั้น เราฝึกฝนมาด้วยการเป็นคนที่ใช้ตามาก่อน พอมาทำงานแต่งเพลง ช่วงหลังๆ เราพบว่าเราต้องสเก็ตซ์ก่อนแต่งเพลงด้วยเกรยอง โดยที่ไม่ได้มีทักษะทางศิลปะใดๆ ทั้งสิ้น คือเราทำงานกับความอ่อน ความเข้ม พื้นผิวของกระดาษ พวกนี้เป็นโจทย์ก่อนที่จะเขียนเพลงเสมอ อาจจะด้วยการฝึกฝนที่เราดูโน้ตมาตั้งแต่ 3 - 4 ขวบ ถึงจะแปลงมาเป็นเสียง สำหรับเรา มันคือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ปลายทางมันอาจจะไม่เหมือนกัน พอเริ่มเรียนแต่งเพลง เราต้องจับเสียงที่อยู่ในหัวลงมาเป็นตัวโน้ตในกระดาษ เพื่อให้คนอื่นเล่น เราก็กลายเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ไปในตัว

สันติ: 

เป็นการสื่อสารด้วยภาพ (Visual communication)

อโณทัย: 

ใช่ ให้กับนักดนตรีคนอื่น แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักประพันธ์ดนตรียุคโมเดิร์นนิสม์ จะเห็นเลยว่าเขาพยายามค้นคว้าเรื่องพวกนี้กันมาก อย่างนักประพันธ์จากอิตาลี ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 พอศึกษางานพวกนี้ ก็พบว่าเขาใช้วิช่วลเยอะมาก มีกราฟิกหน้าตาแปลกๆ ไปนั่งอธิบายให้นักดนตรีฟัง จังหวะที่อธิบายให้นักดนตรีฟังนี่แหละ บทสนทนามันเกิด ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนมันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่เราสนใจ เราไม่ได้สนใจแค่วางโน้ตลงไปให้คนอื่นเล่นตาม แต่เราสนใจว่าเราคุยกันอย่างไร งานครั้งนี้มันไม่ได้เป็นการเปิดแค่ตากับหู แต่เป็นการเปิดกิริยาหรือกรรมต่างๆ ของเรา ทั้งงานของอาจารย์สันติและงานของเรา ว่าทำอย่างไรให้เราใช้ร่างกายของเราสัมพันธ์กับโลกให้ได้เต็มที่ที่สุด

Xspace:

ชื่อของนิทรรศการ DiaLogic มีที่มาจากไหน

สันติ : ชื่อนี้เคยถูกใช้มาก่อน แล้วผมรู้สึกแวบขึ้นมาว่ามันเหมือนสิ่งที่กำลังทำอยู่เลย จริงๆ ชื่อนี้เคยเป็นชื่อของนิทรรศการที่เคยจัดขึ้นที่ BACC มีชื่อในภาษาไทยว่า “ตรรกะสังสรรค์”​ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ผมชอบชื่อมาก เป็นนิทรรศการที่คิวเรทโดยคุณโย กิตติพล สรัคคานนท์ พอนึกถึงชื่อนี้ ก็เลยนึกถึงบุคคลไปด้วย ก็เลยชวนอาจารย์ต้อม บอกว่าเราหาคนมาร่วมสังสรรค์เพิ่มในบทสนทนาของเรากันไหม หลังจากที่เราได้คุยกันสองสามครั้ง โย กิตติพล ก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่เราเดินทางไปหา แล้วเอาความคิดของเราไปนั่งพูดคุยกัน กระบวนการหนึ่งของงานชุดนี้คือการพูดคุย เรามีการพูดคุยนอกรอบ กับน้องๆ เพื่อนๆ หลายคน แล้วก็บันทึกเป็นวิดีโอไว้ ทำให้ผมได้อะไรเยอะมาก ผมส่งข้อความไปขออนุญาตใช้ชื่อนี้กับ โย กิตติพล ด้วย ซึ่งเขาก็กรุณาให้อนุญาต บอกว่า ไม่มีปัญหาอะไร ที่เลือกใช้เพราะคิดว่าเราหาชื่อดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)

Xspace:

คุณสองคนทำงานร่วมกันอย่างไร

สันติ:

เราทั้งคู่รู้ว่าเราน่าจะยุ่งกัน นี่คือโจทย์ที่คุยกันตอนแรก เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เวลาทำงานกับอาจารย์ต้อม ผมแทบไม่ค่อยได้สคริปต์อะไรเท่าไร แม้กระทั่งเขาจะขึ้นคอนเสิร์ตอยู่แล้ว และผมก็ต้องอยู่ในคอนเสิร์ตเขาด้วย ผมยังไม่รู้เลยว่าผมต้องขึ้นไปทำอะไร ตอนไหน เพราะฉะนั้นการทำงานกับอาจารย์ต้อม คือการเตรียมตัวให้พร้อม แล้วเดินทางไปเลย ซึ่งนั่นคือความสนุกของผม จริงๆ ผมก็เคยทำงานกับศิลปินหลายคนที่ทำงานแบบนี้ ทำให้เราเริ่มมีภูมิคุ้มกันกับการทำงานแบบนี้ เพราะฉะนั้นพอรอบนี้ผมเป็นคนชวน เราก็รู้ว่าจะเกิดประมาณนี้ เราก็เลยบอกกันว่า อยากทำอะไรก็ทำไปเลย แล้วค่อยมาคุยกัน การคุยกันนี่แหละ พอเราคุยจบ แยกย้ายกันไปแล้ว เราจะไม่ใช่คนเดิม เหมือนน้ำที่ถูกผสม ไม่ว่าบทสนทนาจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อได้คุยกับใครสักคนหนึ่ง นี่เป็นกระบวนการหลัก คือปล่อยให้แต่ละคนคิด ไตร่ตรอง หรือค้นหา แล้วก็มาเจอกันเพื่อแบ่งปันความคิด แล้วก็แยกย้าย แล้วก็กลับมาเจอกัน บางทีเจอกัน แล้วมีเพื่อนเพิ่ม เพื่อนก็จะป่วนเรา แล้วก็แยกย้าย แล้วก็มาเจอกัน จนกระทั่งหมดเวลา เมื่อหมดเวลา เราสองคนต้องมาไกล่เกลี่ยหรือตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร ถ้าเป็นดนตรี ก็คือ Duration นี้ ถ้าเป็นพื้นที่ ก็คือสเปซนี้ ในเวลานี้ ทุกอย่างจะต้องมีกรอบ มีจุดจบ แล้วเราก็เอาสิ่งที่ได้มาไกล่เกลี่ย มาสอดรับ หรือจะมาขัดแย้งกันก็ได้ นี่คือโครงรวมๆ ของการทำงาน

อโณทัย: 

ย้อนกลับไปที่ DiaLogic เราจำได้ว่าตอนสมัยเรียนเคยอ่านหนังสือชื่อ Inside-Out, Outside-In ของนักแต่งเพลงคนหนึ่งที่อ้างอิงจากผลงานของ เฮอร์มานน์ เฮสเส แล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ ว่าทำไมต้องเป็นอะไรที่ชัดเจนแบบขาวกับดำ ดำกับขาว พอเราหนีเส้นทางนี้มาตลอดเวลาที่เราทำงาน จนกระทั่งทำงานครั้งสุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่า เรายอมรับก็ได้นะ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เรารับคำว่า DiaLogic ที่อาจารย์บอกมาตอนต้นด้วยความรู้สึกพิเศษมาก เรารู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ต้องขอบคุณอาจารย์สันติมากๆ ที่ทำให้มาเจอคำนี้ใหม่ หลังจากเกือบ 20 ปีผ่านไป ส่วนการทำงานก็อย่างที่อาจารย์สันติเล่าเลย ว่าเราเป็นสไตล์เจอกันหน้างาน แต่เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อน แล้วก็ใช้สถานการณ์ คือเสียงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นที่อยู่รอบๆ ให้กลายเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้ แล้วด้วยสายงานของนักดนตรีเนี่ย เพลงจะแต่งจบก็ตอนที่โน้ตตัวแรกดัง ไม่งั้นเราจะไม่จบกับมัน จะแก้ไม่เลิก พอเป็นการทำงานร่วมกับคนอื่นเราก็ยังมีวิธีการทำงานแบบนี้อยู่ แต่ในขณะเดียวกัน พอคุยกับอาจารย์ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่โจทย์แรกที่เราคุยกัน สิ่งนี้ก็ไปอยู่ในทุกวินาทีคิด เวลาเห็นเฟอร์นิเจอร์ เวลาดื่มน้ำตอนทำงาน แล้วเจอแก้วหลายๆ แบบ ก็นึกถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ เริ่มสังเกตหลายสิ่งรอบๆ ตัวมากขึ้น ว่าเรามีบทสนทนากับสิ่งของรอบๆ ตัวเหล่านี้อย่างไร กลายเป็นการทำงานทุกขณะจิต ประสบการณ์เหล่านี้ที่เราเจอก็จะหยุดเอาตอนนาทีที่นิทรรศการจะเปิด ปล่อยวาง และส่งต่อ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือตอนที่เรามีบทสนทนากับตัวเอง 

Xspace:

บทสนทนาระหว่างกันและกันทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นกับคุณทั้งคู่บ้าง

สันติ:

ใหม่หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่คือมันทำให้เราเดินต่อได้ เหมือนหลายๆ ครั้ง ถ้าเริ่มต้นจากการทำงานตอนแรก ความไม่แน่ใจจะสูงมาก พอเรามีเพื่อนมาร่วมทำด้วย มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบอะไรบางอย่าง ว่าชวนเพื่อนแล้วก็ต้องไปต่อให้จบ พอได้คุยกันรอบแรกก็มีหลายมุมที่ผมเห็นว่ามีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างสั้นๆ ว่า สนทนากันครั้งแรกที่สถาบันดนตรี อาจารย์ต้อมมาพร้อมกับข้อเขียน ที่เขียนบรรยายถึงความคิดตัวเองตอนที่นั่งอยู่หน้าเปียโน ก่อนที่โน้ตตัวแรกจะดัง ซึ่งมีความคิดมากมายไปหมด ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าผมไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ว่างระหว่างกระบวนการทำงาน หรือการเกิดขึ้นขององค์ประกอบแรกของงาน ตรงนั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระหมดเลย มันทำให้ผมมองเห็นพื้นที่ใหม่ๆ ในการคิด ว่าบางทีเราคิดว่าเราจะทำอะไรสักอย่าง แต่ว่ากระบวนการก่อนหน้านั้น กลายเป็นเนื้อหาหรือบริบทที่น่าสนใจมาก เราขอกลับมาคิดบนหน้า Art Board ตัวเองบ้าง เวลาเรานั่งจด หรือสเก็ตซ์งานอะไร เราก็พยายามที่จะหยุดคิด ว่าสาระของมันตอนนี้คืออะไร มากกว่าจะคิดว่าผลลัพธ์ของมันคืออะไร ผมว่านี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานจะชี้ให้เราเห็นว่าเขาคิดแบบนี้ เราก็ขอหยิบยืมมาใช้ เราไม่ได้มาเพื่อสร้างงานใหม่ แต่เรามาเพื่อแลกกัน พอแลกกันมันก็มีตัวเลือกเพิ่ม แล้วเราค่อยไปจัดการตัวเองอีกที ว่าตัวเลือกนี้เราไปลองแล้วมันเหมาะกับเราไหม แต่ว่ามันจะมีของกลับบ้านเสมอเลย ไม่เคยว่างเปล่า ผมว่าดีมาก กับบริบทนี้ เหมือนว่าเราไม่รู้จะทำอะไรกันดี เหมือนโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก สิ่งที่เคยอยากจะทำ เราไม่แน่ใจ โน่น นี่ นั่น พอกลับมาแลกเปลี่ยนกัน เราก็ได้มุมมองใหม่ๆ เพิ่ม

อโณทัย:

สำหรับเรา ตอนที่อาจารย์สันติให้โจทย์ครั้งแรก เราคิดว่าถ้าจะแต่งเพลงให้ จะใช่ไหม หรือว่าเราจะเขียนเพลงแล้วไปเล่นให้ เราก็คิดว่ามันจะอยู่ในพื้นที่แสดงงานอย่างไร ในระยะเวลา 60 วัน หรือ 2 เดือน ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป พออาจารย์สันติพูดว่าได้พรินเตอร์มาเครื่องหนึ่ง แล้วจะใช้พรินเตอร์ตัวนั้นทำงาน เราก็เลยเริ่มคิดว่า ถ้างานแสดงของอาจารย์คือพรินเตอร์ แล้วงานแสดงของเราคืออะไร ตอนแรกเราคิดถึงเปียโน เพราะเราเกิดมากับมัน เราทำงานกับมันมามาตลอด เราก็เริ่มกลับไปทำอย่างที่อาจารย์สันติเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เรานั่งข้างหน้าเครื่องมือของเรา เราคิดอย่างไร ช่วงนั้นก็หมกมุ่นกับจังหวะการคิด ก่อนที่จะทำงานออกมา หมกมุ่นกับความลังเล แต่พอคุยกับอาจารย์ผ่านไปสามสี่ครั้งแล้วอาจารย์มาเล่าให้ฟังถึงการทำงานกับฟ้อนต์ที่มีการเคลื่อนที่อยู่บนพรินเตอร์ ว่าอาจารย์มีความเคลื่อนไหวแล้วก็ออกมาเป็นผลงาน เราก็กลับไปคิดว่าเราทำอย่างนั้นบ้างได้ไหม เราก็เริ่มสำรวจความคิดตัวเองใหม่ ก็นึกถึงไมโครโฟน หรือเครื่องบันทึกเสียง การผสมเสียง การทำงานกับ Delay วิถีการทำงานก็เปลี่ยนไป จากที่เมื่อก่อนเครื่องมือของเราคือเปียโน แต่ตอนนี้เครื่องมือของเราคือการหยิบฉวยเวลาและเสียงอีกแบบ เหมือนทุกครั้งที่คุยกันหรืออาจารย์ให้โจทย์กลับไป เราก็จะแตกความคิดออกมาใหม่ สะสมความสนุกขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นจุดที่ Healthy มากสำหรับการทำงานตรงนี้

สันติ: 

ผมรู้สึกเหมือนกลับไปตอนสมัยเรียน แล้วเรามีก๊วนเพื่อนที่เวลาอาจารย์สั่งงาน เราก็จะชอบเอางานมาอวดกัน เหมือนเราสะดวกที่จะบอกว่า กูคิดอะไร กูจะทำอะไร จริงๆ ทุกคนก็แอบแข่งกันนิดหน่อยแหละ แต่ว่าเราจะไม่ปิดบังกัน ตรงนี้จะสปาร์คมาก ทำให้เราคิดต่อ ในขณะที่ทุกคนอวดงานของตัวเอง แต่ทุกคนก็จะได้อะไรกลับบ้านเอาไปทำต่อด้วย ผมว่าเรากลับมาใช้วิธีนี้ตอนอายุ 50 กลับมาใช้วิธีที่เราเริ่มเข้าวงการสมัยเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องแอบงานเอาไว้ เพื่อให้ทุกคนเซอร์ไพรส์ที่หลัง ผมกลับมารู้สึกเหมือนผมใช้วิธีการสมัยที่ผมเป็นนักศึกษา ที่อาศัยผู้คน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ หรือเพื่อนมาประคับประคองการทำงานของตัวเอง ซึ่งผมเห็นด้วยกับคำว่า Healthy ที่อาจารย์ต้อมบอก เพราะว่ารู้สึกดีมาก รู้สึกว่าตัวเองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ไม่ต้องมาแบกรับความคิดที่ว่า เราจะต้องทำอะไรที่คมคายหรือเปล่า ก็แค่มาเล่าให้เพื่อนฟัง แล้วออกจากวงไปทำอะไรต่อ เดี๋ยวตอนสุดท้ายก่อนส่งอาจารย์ ค่อยมาเคลียร์เอง ว่ามาก ไปน้อยไป เหมือนตอนช่วงสมัยเรียน

อโณทัย: 

เห็นด้วยค่ะ พอเรามีอิสรภาพตรงนี้ ทำให้เราทำงานสนุกขึ้นเยอะ 

สันติ: เหมือนได้อะไรกลับไปทำงานเพิ่มได้อีกสองปี 

อโณทัย : ใช่ เหมือนเจอเส้นทางใหม่ ให้เราพัฒนาขึ้นไปอีกเรื่อยๆ 

====================

นิทรรศการ DiaLogic เกิดจากการร่วมงานระหว่างศิลปินและผู้สนับสนุนดังนี้

Canon

ฉมามาศ แก้วบัวดี

กนกนุช ศิลปวิศวกุล

กิตติพล สรัคคานนท์

KPP-Antalis (Thailand)

Nutdao Studio

พรนภา อนะหันลิไพบูลย์

พรหมพิริยะ แพงาม

รวินทญา เสิ่น

สมชาย ตันชรากรณ์

โซซู

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

====================

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพถ่ายบุคคล: วิภาวี ข่าขันมะรี






More to explore