HBD OUR FAVORITE ARTIST
HBD ปรมาจารย์ศิลปินแห่งยุคเอโดะ Hokusai
วันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้ทรงอิทธิพลและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น ศิลปินผู้นั้นมีชือ่ว่า
คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) (1760–1849)
เขาเป็นจิตรกร ช่างพิมพ์ และศิลปินอุคิโยเอะ* ระดับบรมครูแห่งยุคเอโดะ ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 70 ปี โฮะคุไซ สร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศเอาไว้มากมายจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เขาเป็นหนึ่งในจิตรกรที่พัฒนาศิลปะอุคิโยเอะของญี่ปุ่นให้ถึงจุดสูงสุดในทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดทิวทัศน์ธรรมชาติอย่างภาพภูเขาไฟฟูจิ, ภาพดอกไม้พืชพันธุ์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติ ที่ถูกจับเอาลมหายใจและห้วงเวลาแห่งวิถีชีวิตเหล่านั้นมาบันทึกลงในภาพวาดอย่างเชี่ยวชาญ หรือภาพจากจินตนาการของศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ อย่างภูติผีปิศาจและเทพเจ้าต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ (The Great Wave off Kanagawa) (1829–1833) อันลือเลื่อง ที่โด่งดังทัดเทียมภาพวาด Mona Lisa (1503) ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) เลยทีเดียว
คลื่นใหญ่นอกคะนะงาวะ (1829–1833) ภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้สอดสี
ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ลมจากทิศใต้ (ภูเขาฟูจิแดง) (1831) ภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้สอดสี
เมืองโชชิ จังหวัดชิโมอุสะ จากชุด “พันภาพแห่งมหาสมุทร” (1832–1834) ภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้สอดสี
นอกจากจะเป็นปรมาจารย์แห่งภาพอุคิโยเอะแล้ว เขายังเป็นปรมาจารย์แห่งภาพวาดอีโรติก ที่ถึงพร้อมด้วยรายละเอียดและองค์ประกอบอันงดงามเปี่ยมสุนทรียะชั้นครูและบทอัศจรรย์อันจะแจ้งและวิจิตรพิสดารพันลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพนักประดาน้ําและหมึกยักษ์ (The Dream of the Fisherman’s Wife) (Tako to ama) (1814) ภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ที่ถูกทําข้ึนในช่วงที่เขามีอายุ 50 กว่าปี ภาพน้ีเป็นต้นธารของงานศิลปวัฒนธรรมอีโรติกของญี่ปุ่น และเป็นท่ีนิยมอย่างมากในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น อาทิเช่นในอนิเมะ, มังงะ และอื่นๆ ผลงานชิ้นนี้ของโฮะคุไซส่งแรงบันดาลใจ ให้ศิลปินรุ่นหลังอีกมากมาย แม้แต่ศิลปินตะวันตกอย่าง เฟลิเซียน รอปส์ ( Félicien Rops), ออกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin), หลุยส์ อูก็อก (Louis Aucoc), แฟร์ นองด์ ค์นอฟฟ์ (Fernand Khnopff) และ พาโบล ปิกัสโซ่ เป็นต้น
โฮะคุไซอาศัยอยู่ในมหานครเอโดะ (หรือโตเกียวในยุคปัจจุบัน) อันคึกคักยิ่ง ในยุคสมัยที่เขาเกิด เอโดะเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเศรษฐกิจการค้าที่รุ่งเรือง ทำให้ธุรกิจการผลิตสิ่งพิมพ์และหนังสือประกอบภาพเฟื่องฟูอย่างมาก ในยุคนั้น ลองคิดดูว่าในขณะที่ชาวยุโรปรู้หนังสือราว 40% ของจำนวนประชากร แต่ชาวญี่ปุ่นราว 80% ก็อ่านหนังสือกันได้แล้ว สิ่งพิมพ์ในยุคนั้นจึงเป็นอะไรที่ทันสมัยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และมีราคาย่อมเยา ผลงานที่โฮะคุไซบรรจงสร้างสรรค์และส่งต่อให้ช่างทำแม่พิมพ์ไม้แกะสลักแม่พิมพ์ และส่งต่อให้ช่างพิมพ์ ทำการพิมพ์ออกมาด้วยมือนั้น เป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม
แต่ความเป็นที่นิยมของผลงานของเขาก็ไม่ได้ช่วยโฮะคุไซจากความลำบากยากแค้น เขาเคยประสบอุบัติเหตุถูกฟ้าผ่า และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อย่างแร้นแค้นขัดสน แต่เขาก็ไม่เคยละทิ้งความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการทำงานศิลปะของเขา โฮะคุไซใช้ชีวิตอย่างสมถะ แต่เคี่ยวกรำและเข้มงวดกับการวาดภาพอย่างมาก เขามักจะเสาะแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงาน และเปลี่ยนฉายาของตัวเองในหลายช่วงชีวิต ราวกับจะละทิ้งตัวตนเดิมๆ และแสวงหาตัวตนใหม่ๆ เขาใช้ชื่อ โฮะคุไซ ในช่วงอายุเกือบ 40 ปี, ในช่วงวัยชราเขาเปลี่ยนฉายาตัวเองเป็นชื่อ กะเคียว โรจิน มันจิ (Gakyō Rōjin Manji) หรือ “ตาแก่ผู้บ้าวาดภาพ” เขาใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายในบ้านของลูกสาวที่เป็นนักวาดภาพเหมือนกัน จนกระทั่งเสียชีวิตในอายุ 89 ปี
ในช่วงยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ เริ่มมีการค้าขายแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอก ผลงานของโฮะคุไซ ที่ถูกเผยแพร่ออกสู่โลกตะวันตกกลายเป็นที่นิยมอย่างมโหฬาร ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ชื่อดังอย่าง โมเน่ต์ (Claude Monet), เดกาส์ (Edgar Degas), มาเน่ต์ (Édouard Manet), แวนโก๊ะห์ และ โกแกง ต่างเก็บสะสมและได้รับอิทธิพลจากผลงานของเขาเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้น โฮะคุไซยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิด มังงะ หรือนิยายภาพ ซึ่งเป็นต้นธารของการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน ภาพคลื่นใหญ่นอกคะนะงาวะ ผลงานชิ้นเอกของเขายังถูกเอามาทำเป็นอิโมจิอย่างน่ารักน่าชัง
*อุคิโยเอะ (Ukiyo-e) หรือ “โลกเบาหวิว”, “โลกอันล่องลอย” (Floating World) คำนี้แต่เดิมเป็นคำในพุทธศาสนาที่กล่าวถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตและการหลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าว ต่อมามันถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นคำที่หมายถึงวิถีชีวิตของคนเมืองในยุคเอโดะ ที่หมกมุ่นในเรื่องทางโลกย์และความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ ด้วยการเกื้อหนุนของระบบเศรษฐกิจสังคมที่การค้าขายเฟื่องฟูอย่างมากในยุคนั้น สินค้าที่ให้ความบันเทิง เช่น นิยาย หรือนิยายประกอบภาพจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ภาพที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตในสังคมดังกล่าวจึงถูกเรียกขานว่า อุคิโยะเอะ (Ukiyo-e) ซึ่งมีความหมายว่า "ภาพของโลกอันล่องลอย" นั่นเอง
#Xspace #art #HBD #greatartist #hokusai #ukiyoe #โฮะคุไซ #อุกิโยเอะ #ภูเขาไฟฟูจิ #คลื่นใหญ่นอกคะนะงาวะ #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ