ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Contemporaries

Christo and Jeanne-Claude ศิลปินคู่ผู้ห่อโลก

Contemporaries

Christo and Jeanne-Claude ศิลปินคู่ผู้ห่อโลก


คริสโตและฌานน์-โคล้ด (Christo and Jeanne-Claude) คือศิลปินคู่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวัตถุ สิ่งของ สิ่งก่อสร้าง ทั้งขนาดเล็กและมหึมา ไปจนถึงภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมบนโลก ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการ ‘ห่อ’ 

คริสโต หรือในชื่อเต็มว่า คริสโต วลาดิมีรอฟ จาวาเชฟ (Christo Vladimirov Javacheff) และ ฌานน์-โคล้ด หรือในชื่อเต็มว่า ฌานน์-โคล้ด เดอนา เด กีบง (Jeanne-Claude Denat de Guillebon) นอกจากทั้งคู่จะเป็นผู้ลี้ภัยเหมือนๆ กันแล้ว ทั้งคู่ยังเกิดในวันเดือนปีเดียวกันอีกด้วย

พวกเขาร่วมกันทำงานศิลปะทั้งหมดด้วยกัน โดยในช่วงแรกเครดิตของงานทั้งหมดใช้ชื่อ คริสโต แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งในปี 1994 พวกเขาก็เปลี่ยนมาใส่เครดิตร่วมกันว่า ‘คริสโตและฌานน์-โคล้ด’ ซึ่งนับย้อนหลังรวมไปถึงผลงานที่พวกเคยเขาทำที่ผ่านๆ มาด้วย ที่น่าสนใจก็คือ เวลาเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน พวกเขาจะไปกันคนละลำ เผื่อในกรณีที่เครื่องบินของใครเกิดอุบัติเหตุตกจนเสียชีวิต อีกคนก็จะได้สานต่องานของกันและกันได้ (รอบคอบมากๆ)

คริสโตและฌานน์-โคล้ด เริ่มต้นทำงานศิลปะด้วยการห่อ ของเขามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 โดยเริ่มแรก พวกเขาห่อของเล็กๆ อย่าง หนังสือ นิตยสาร โทรศัพท์ โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ถังน้ำมัน ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ขึ้นอย่าง ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และถาวรวัตถุขนาดย่อมๆ อย่างต้นไม้ อนุสาวรีย์ ไปจนถึงขนาดมหึมาอย่างอาคารสำนักงาน หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ สะพาน ไปจนถึง หุบเขา หรือแม้แต่เกาะทั้งเกาะก็ยังมี!

แต่ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ Wrapped Reichstag หรือการห่ออาคารไรชส์ทาค (Reichstag) หรือ อาคารรัฐสภาเยอรมัน อภิมหาโครงการห่อศิลปะที่พวกเขาเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงปี 1971 แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติให้สร้างจริงก็ปาเข้าไปอีกยี่สิบกว่าปีให้หลัง

เนื่องด้วยในเวลานั้น อาคารไรชส์ทาค หรือในชื่อเป็นทางการว่า อาคารที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค (Plenarbereich Reichstagsgebäude) นอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศเยอรมนี อายุนับร้อยปี ที่สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิเยอรมัน เพื่อเป็นที่ประชุมของรัฐสภาเยอรมัน ตัวอาคารยังเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์แห่งความเปลี่ยนแปลงและความยุ่งเหยิงอย่างต่อเนื่อง

สร้างขึ้นใช้งานในปี 1894 และถูกวางเพลิงในปี 1933 จนสร้างความเสียหายอย่างมาก และถูกปล่อยทิ้งร้างกว่าสี่ทศวรรษ จนเมื่อมีการรวมประเทศเยอรมนีในปี 1990 ตัวอาคารก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยสถาปนิก นอร์มัน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1999 และถูกใช้เป็นอาคารรัฐสภาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมานับตั้งแต่ครั้งนั้น และมันก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของเยอรมนีจวบจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลานั้น กรุงเบอร์ลินยังถูกแยกออกเป็นสองฟากฝั่ง ตะวันออกและตะวันตก สองขั้วการเมือง ระหว่างคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย อาคารไรชส์ทาคที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ เป็นอาคารเดียวที่ตั้งคร่อมอยู่ระหว่างสองฟากฝั่งของเมือง สำหรับอดีตผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างคริสโต อาคารที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่สองขั้วการเมืองแห่งนี้จึงมีความหมายสำคัญกับเขาอย่างยิ่ง

แต่การขออนุญาตห่ออาคารแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อันที่จริงมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ พวกเขาต้องทำเรื่องขออนุญาตใช้อาคารจากรัฐบาลเยอรมันอย่างแสนยากเข็ญ ต้องหว่านล้อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายร้อยคน ต้องเขียนจดหมายอธิบายโครงการหลายร้อยฉบับ ต้องโทรศัพท์ต่อรองอีกนับครั้งไม่ถ้วน และต้องเจรจากับสภาผู้แทนรัฐเยอรมนีอย่างยืดเยื้อยาวนานถึงหกสมัยรัฐบาล และถูกปฏิเสธไปหลายต่อหลายครั้ง จนเกือบจะถอดใจ

แต่หลังจากดิ้นรนต่อสู่เป็นเวลายาวนานกว่ายี่สิบปี ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1995 หลังจากการอภิปรายและโหวตกันในสภาเป็นเวลา 70 นาที สภาผู้แทนรัฐเยอรมนีก็อนุมัติให้พวกเขาดำเนินการห่ออาคารไรชส์ทาคได้ในที่สุด ด้วยข้อแม้ว่าด้วยข้อแม้ว่า มันจะต้องเป็นโครงการศิลปะที่ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ แอบแฝง ต้องใช้เงินส่วนตัวในการทำ และวัสดุทุกอย่างที่ใช้ทำ ต้องรีไซเคิลได้

หลังจากดิ้นรนต่อสู่เป็นเวลายาวนาน ผ่านทศวรรษที่ 70 80 และ 90 (เรียกว่านานจนเยอรมันที่แยกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออกกลับมารวมประเทศกันอีกครั้งเลยทีเดียว) อาคารไรชส์ทาคก็ถูกห่อด้วยผ้ากันไฟเนื้อหนาสีเทาเงินที่ทอด้วยเส้นใยโพลีโพรพิลีน เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียมขนาด 100,000 ตารางเมตร และมัดด้วยเชือกเส้นใยโพลีโพรพิลีนสีฟ้า ขนาดเส้นผ้าศูนย์กลาง 1.26 นิ้ว ความยาว 15.6 กิโลเมตร แต่ผ้าที่ห่อก็ไม่ได้ทำความเสียหาย หรือแม้แต่สัมผัสกับอาคารเลยแม้แต่น้อย เพราะมีการติดตั้งโครงสร้างเหล็กกล้าจำนวน 220 ตัน ก่อนที่จะห่อลงไป และแน่นอนว่าวัสดุทุกอย่างที่ใช้ในการห่ออาคารนั้นถูกนำไปรีไซเคิลทั้งหมด และงบประมาณในการห่ออาคารไรชส์ทาคทั้งหมดจำนวน 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในเวลานั้น) ศิลปินทั้งคู่เป็นคนจัดหามาด้วยตัวเองโดยไม่ยอมรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ในรูปแบบใดก็ตามเลยแม้แต่น้อย และพวกเขาก็ไม่อนุญาตให้มีการหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ใดๆ ก็ตามกับผลงานชิ้นนี้ของเขาอย่างสิ้นเชิง

การห่ออาคารไรชส์ทาคเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 1995 และเสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 1995 กินเวลาทั้งสิ้นเ 14 วัน และดึงดูดผู้คนจำนวนห้าล้านคนให้เข้ามาเยี่ยมชมในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ทางเทศบาลเมืองต้องการให้ยืดระยะเวลาการห่อต่อไปอีก แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยินยอม และรื้อถอนออกทันทีเมื่อครบกำหนด และทั้งคู่ก็ไม่เคยทำการห่อรัฐสภาแบบนี้ที่ไหนอีกเลย ผลงานชิ้นนี้ส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลที่สุดในเยอรมนีรวมถึงในวงการศิลปะโลกจวบจนทุกวันนี้






More to explore