ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

งานศิลปะที่แฝงกายใต้ผิวแห่งภาพยนตร์ Pedro Almodóvar

Art Behind Film

งานศิลปะที่แฝงกายใต้ผิวแห่งภาพยนตร์ Pedro Almodóvar


ถ้าเอ่ยชื่อของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) คอหนังหลายคนน่าจะรู้จักเขาในฐานะ นักสร้างหนัง, ผู้กำกับ, นักเขียนบท, โปรดิวเซอร์ และอดีตนักแสดงชาวสเปน เจ้าของฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” ผลงานหนังของเขาเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เปี่ยมสีสัน เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นพิสดารเหนือความคาดหมาย เและถึงพร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยม

และด้วยความที่อัลโมโดวาร์เป็นผู้ที่หลงใหลในศิลปะอย่างลึกซึ้ง ทำให้มีงานศิลปะชั้นดีแปรากฏให้เห็นในหนังของเขาอยู่บ่อยครั้ง และนอกเขาจะหยิบงานศิลปะเหล่านั้นมาใช้ในหนังเพราะความหลงใหลและรสนิยมส่วนตัวอันวิไลของตัวเองแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผลงานศิลปะเหล่านั้นยังทำหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ขับเน้นบุคลิกภาพของตัวละคร และเป็นสัญลักษณ์สัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังอย่างแนบเนียนอีกด้วย

The Skin I Live In (2011)

ไม่ว่าจะเป็นหนัง The Skin I Live In (2011) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายของนักเขียนชาวฝรั่งเศส เธียรี ฌองเก็ต ที่มีชื่อว่า Mygale (หรือในชื่ออังกฤษว่า Tarantula) ที่เล่าเรื่องราวของศัลยแพทย์พลาสติกหนุ่มใหญ่ที่หมกมุ่นกับการจองจำสาวงามปริศนาไว้ในคฤหาสน์ของเขา ซึ่งหญิงสาวผู้นี้นี่เองที่กุมความลับอันน่าตื่นตะลึงเอาไว้ (ไม่เล่าไปมากกว่านี้ เพราะไม่อยากสปอยล์) กลับได้รับอิทธิพลมาจากผลงานศิลปะของศิลปินอีกผู้หนึ่งอย่างโจ่งแจ้งและชัดเจนยิ่ง ซึ่งศิลปินผู้นั้นก็คือ ‘หลุยส์ บรูชัวร์’ (Louise Bourgeois) ศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส/อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งนวงการศิลปผู้เป็นที่รู้จักจาก Maman ประติมากรรมรูปแมงมุมขนาดยักษ์ที่ทำจากเหล็กและหินอ่อนที่สร้างชื่อเสียงให้เธอที่สุด จนมีคนตั้งฉายาให้เธอว่า ‘มิสซิสแมงมุม’ เลยทีเดียว เธอมักจะถ่ายทอดผลงานของเธอออกมาในรูปทรงของสิ่งมีชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นเพศเมีย) อันน่าขนลุก พิสดาร แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความงามอย่างน่าพิศวง 

Rejection, 2001

Arched Figure, 1999

Three Horizontals, 1998

แต่ผลงานของหลุยส์ บรูชัวร์ ที่เจ้าป้านำมาใช้ในเนื้อหาของหนังเรื่องล่าสุดเรื่องนี้ หาใช่เป็นผลงานชิ้นโด่งดังของเธออย่างประติมากรรมรูปแมงมุมยักษ์ Maman (1999) ที่เรา ๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันไม่ หากแต่เป็นประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ที่ทำขึ้นจากผ้า ซึ่งเป็นผลงานที่เธอทำขึ้นในช่วงปี 1960 โดยเธอจะนำผ้าจากสิ่งของหรือเสื้อผ้าของบุคคลอันเป็นที่รักของเธอมาทำเป็นประติมากรรมรูปร่างคล้ายมนุษย์ ที่เป็นเสมือนภาพจำลองของวัยเยาว์และอดีตที่เธอหวนหา

ผลงานประติมากรรมหุ่นผ้าของบรูชัวร์ที่ปรากฏในหนัง The Skin I Live In นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเหมือนยารักษาใจและเครื่องผ่อนคลายความตึงเครียดจากการถูกจองจำของหญิงสาวปริศนาในเรื่องแล้ว การที่เธอจำลองงานศิลปะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ (หลังจากที่เธอได้ดูมันจากหนังสือและโทรทัศน์ที่ผู้กักขังทิ้งไว้ให้ดูฆ่าเวลา) มันยังเป็นเสมือนการป่าวประท้วงอย่างเงียบงันต่อชะตากรรมอันอยุติธรรมที่เธอได้รับ


The Skin I Live In (2011)

นอกจากนั้นมันยังแฝงนัยยะซ่อนเร้นถึงเพศสภาวะและตัวตนที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนังที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปกายภายนอกอีกด้วย ชุดแนบเนื้อและหน้ากากที่หญิงสาวปริศนาคนที่ว่านั้นสวมใส่ (ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์สุดซ่าขาประจำของเจ้าป้า อย่าง ฌอง ปอล โกติเยร์) ท่วงท่าและลีลาในการขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวร่างกายและโพสท่า รวมถึงรอยต่อบนผิวหนังที่ถูกศัลยกรรมของเธอที่เราเห็นในหนังนั้น ก็ดูราวกับว่ามันถูกถอดแบบมาจากเหล่าประติมากรรมหุ่นผ้าของบรูชัวร์ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว

นอกจากผลงานของบรูชัวร์แล้ว The Skin I Live In ยังเต็มไปด้วยผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมของศิลปินชั้นยอดมากหน้าหลายตาทั้งเก่าใหม่ ทั้งร่วมสมัยและล่วงสมัยให้เห็นจนละลานตา

The Skin I Live In (2011)

อาทิเช่น ภาพวาดที่แขวนประดับอยู่ตรงโถงบันไดในคฤหาสน์ของคุณหมอศัลย์พลาสติกหนุ่มใหญ่ในหนังนั้นก็ไม่ใช่ภาพของศิลปินไก่กาที่ไหน หากแต่เป็นภาพวาด Venus of Urbino, 1538 และ Venus with Organist and Cupid, 1548 ของ ทิเชียน (Titian หรือ Tiziano Vecellio) จิตรกรเอกชาวอิตาเลียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของยุคเรอเนซองส์ในศตวรรษที่ 16 ผู้โดดเด่นในด้านสีสันและแสงเงาที่จัดจ้าน ผลงานของเขาส่งอิทธิพลไม่ใช่แค่ต่อจิตรกรในยุคเรอเนสซองส์รุ่นหลังๆ หากแต่ยังส่งไปถึงศิลปินตะวันตกยุคใหม่ด้วย เรื่องราวในผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะเกี่ยวข้องกับศาสนาและตำนานเทพปกรณัม ซึ่งทั้งสองภาพที่ปรากฏในหนังต่างก็เป็นภาพของเทพธิดาแห่งความงามอย่างวีนัสนั่นเอง

Venus of Urbino, 1538

Venus with Organist and Cupid, 1548

นอกจากภาพวาดทั้งสองภาพจะเป็นสัญลักษณ์ของความงามและแรงกฤษณาอันเย้ายวนเกินต้านทานของหญิงสาวปริศนาในเรื่องแล้ว มันยังสะท้อนประเด็นของการเฝ้ามอง และ การถูกมอง และสัญลักษณ์ของผู้ชมและผู้แสดงในหนังได้อย่างแหลมคมอีกด้วย สังเกตดูท่านั่งโพสของหญิงสาวปริศนาในเรื่อง ที่ราวกับจะถูกถอดแบบมาจากภาพวาดที่ว่ายังไงยังงั้นเลยทีเดียว

The Skin I Live In (2011)

Stonehenge (With Two Persons) Orange, 2005, จอห์น บัลเดสซารี่

ยังมีงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่แม้จะโผล่มาให้เห็นแวบ ๆ เพียงไม่กี่ฉาก แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ความสำคัญ เพราะมันเป็นผลงานของศิลปินป็อปอาร์ตชาวอเมริกัน จอห์น บัลเดสซารี่ (John Baldessari) ที่นำภาพถ่ายบุคคลเก่า ๆ หรือภาพโฆษณามาดัดแปลงด้วยการวาดทับ ใส่ตัวหนังสือ ปิดหน้าด้วยจุดสี เพื่อยั่วล้อ บิดเบือน และสร้างความหมายใหม่ให้กับภาพเหล่านั้น ซึ่งบังเอิญมีนัยยะที่ไปคล้องจองกับการการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของตัวละครในหนังอย่างเหมาะเจาะ

The Skin I Live In (2011)

Dionysus found Ariadne on Naxos, 2008

นอกจากนั้นในห้องนอนของหมอหนุ่มใหญ่คนที่ว่า ยังประดับด้วยผลงานจิตรกรรมชิ้นเด่นของจิตรกรแนวโพสต์โมเดิร์นที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของสเปนอย่าง กิเยร์โม เปเรซ วิลัลตา (Guillermo Pérez Villalta) ที่มีชื่อว่า Dionysus found Ariadne on Naxos, 2008 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปรกณัมกรีก ในตอนที่ไดโอนิซุส เทพแห่งสุราเมรัยได้บังเอิญมาพานพบกับ แอดเรียดเน่ บุตรีของกษัตริย์แห่งครีตผู้มีหน้าที่อยู่โยงเฝ้าเขาวงกตที่กักขังอสูรร้ายผู้มีร่างกายเป็นคนแต่หัวเป็นวัว มิโนทอร์ ภาพวาดแนวเซอร์เรียลลิสม์สีสันจัดจ้าน ประกอบกับองค์ประกอบอันประหลาดล้ำของตัวละครคู่รักไร้หน้าชิ้นนี้ โยงใยไปถึงกามารมย์อันพิสดารและการสูญเสียตัวตนของตัวละครในเรื่องได้เป็นอย่างดี

The Skin I Live In (2011)

ท้ายสุด กับผลงานของ ฆวน กัตติ (Juan Gatti) ศิลปินชาวอาร์เจนตินาคู่บุญของเจ้าป้า เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีจากผลงานภาพถ่าย กราฟิกดีไซน์ และงานจิตกรรมคอลลาจ และอาร์ตไดเร็คชั่นในหนังหลายต่อหลายเรื่องของอัลโมโดวาร์

ผลงานที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มีชื่อว่า Ciencias Naturales Anatomical, 1988 ซึ่งเป็นงานคอลลาจที่หลอมรวมภาพวาดกายวิภาคศึกษาของมนุษย์ เข้ากับภาพวาดการจำแนกประเภททางชีววิทยาของสัตว์และพืชพรรณนานาในธรรมชาติ จนกลายเป็นผลงานจิตรกรรมอันแปลกประหลาดล้ำและสวยงามอย่างพิสดาร ซึ่งถึงไม่บอกก็คงรู้ว่ามันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิชาชีพของตัวละครเอกเพศชายในเรื่องแค่ไหนอย่างไร โดยผลงานชุดนี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการทำงานร่วมกับอัลโมโดวาร์

Ciencias Naturales Anatomical, 1988

นอกจากจะถูกใช้ในฐานะงานศิลปะที่เป็นพร็อบประกอบฉากอย่างโดดเด่นเป็นสง่าในหนังแล้ว ภาพวาดในชุดนี้ยังถูกใช้เป็นโปสเตอร์เวอร์ชั่นพิเศษของหนังเรื่องนี้อีกด้วย

หรือหนังอีกเรื่องของเขาอย่าง Pain and Glory (2019) ที่ไม่ต่างอะไรกับการหยิบเอาชีวิตของตัวอัลโมโดวาร์ในวัยเยาว์และวัยโรยรามาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่องราวในหนัง 

Pain and Glory (2019)

ในฉากหนึ่งของหนัง Pain and Glory มีสายโทรศัพท์พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (บิลเบา) โทรมาหาผู้ช่วยของผู้กำกับวัยกลางคนตอนปลายอย่าง ซัลบาดอร์ มัลโญ [อันโตนิโอ บันเดรัส ผู้เป็นเสมือนร่างทรงของอัลโมโดวาร์ในหนังเรื่องนี้] เพื่อขอยืมภาพวาดภาพหนึ่งที่เขาสะสมไปแสดงในนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของศิลปินคนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ แต่ซัลบาดอร์กลับปฏิเสธไปอย่างไร้เยื่อใย พลางบอกว่า “ฉันใช้ชีวิตอยู่กับภาพวาดพวกนี้ ฉันมีแค่ภาพวาดพวกนี้อยู่เคียงข้างเท่านั้น” ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า “เสียใจ ยังไงฉันก็ไม่มีวันให้ยืมหรอก!”

Artist viewing an art book) (2008) โดย กิเยร์โม เปเรซ บิยัลตา

ภาพวาดที่ว่านี้ชื่อ Artista viendo un libro de arte (Artist viewing an art book) (2008) ของ กิเยร์โม เปเรซ บิยัลตา อีกเช่นเคย ซึ่งภาพนี้ก็ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่นในฉากที่ซัลบาดอร์คุยกับคนรักเก่าอย่างโหยไห้สะเทือนใจนั่นเอง

ผลงานของบิยัลตา ถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของศิลปินผ่านตัวละครไร้ใบหน้าที่ผสมผสานความแปลกประหลาดเข้ากับความธรรมดาสามัญได้อย่างโดดเด่น ในขณะที่เสื้อผ้าตัวของละคร และการตกแต่งภายในฉากอันวิจิตรเปี่ยมสีสันก็สะท้อนรสนิยมด้านดีไซน์และพื้นเพทางสถาปัตยกรรมของเขาออกมาอย่างชัดเจน

ภาพวาดศิลปินไร้ใบหน้ากำลังเปิดอ่านหนังสือศิลปะในห้องหับที่ตกแต่งอย่างเก๋ไก๋เปี่ยมสไตล์อย่าง Artist viewing an art book ที่ปรากฏในหนัง Pain and Glory นั้นสะท้อนรสนิยมในการใช้ชีวิตและการหวนกลับไปค้นหาตัวตนในอดีตของตนเองของตัวละครเอกในหนัง Pain and Glory ได้อย่างแยบคาย

The Skin I Live In (2011)

นอกจากจะปรากฏใน The Skin I Live In และ Pain and Glory แล้ว ผลงานของบิยัลตา ยังไปปรากฏในหนังของอัลโมโดวาร์หลายต่อหลายเรื่องอย่าง Pepi, Luci, Bom and Other Girls Like Mom (1980), Labyrinth of Passion (1982) 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในหนังของอัลโมโดวาร์ก็คือ เขามักจะหยิบเอางานศิลปะของศิลปินสเปนมาใช้ในหนังของเขาเป็นส่วนใหญ่ ในเรื่อง Pain and Glory ก็มีงานของศิลปินสเปนอีกหลายคนให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากอพาร์ตเมนต์ของตัวเอกอย่างซัลบาดอร์

ถามว่าในฉากนี้มีงานศิลปะเยอะแค่ไหน ก็เยอะขนาดที่เมื่อคนรักเก่าของซัลบาดอร์เข้ามาเยี่ยมเยือนในอพาร์ตเมนต์ของเขาเป็นครั้งแรกยังต้องอุทานว่า \"ยังกับพิพิธภัณฑ์เลย!\" น่ะนะ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงรสนิยมและความหลงใหลในศิลปะของผู้กำกับอย่างอัลโมโดวาร์ได้เป็นอย่างดี

Pain and Glory (2019)

อาทิเช่น ผลงานของจิตรกรเซอร์เรียลลิสต์ชาวสเปน มารูคา มัลโญ (Maruja Mallo) อย่าง El Racimo de Uvas (1944) ภาพวาดสีน้ำมันรูปพวงองุ่นชิ้นนี้ เป็นภาพที่อัลโมโดวาร์เคยปรารถนาจะครอบครองตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเห็นมันในนิทรรศการของมัลโญ ในหอศิลป์ที่กรุงมาดริด ในปี 2017 แต่ตอนนั้นเจ้าของแกลเลอรีไม่ยอมขายให้เขา แต่สุดท้ายมันก็มาปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้จนได้ในที่สุด

El Racimo de Uvas (1944) โดย มารูคา มัลโญ

อนึ่ง มารูคา มัลโญ เป็นศิลปินคนสำคัญในขบวนการ Generation of ’27 กระแสเคลื่อนไหวทางวัฒธรรมในยุค 1923 และ 1927ของสเปน ที่ประกอบด้วยศิลปินและหัวก้าวหน้าผู้กลายเป็นศิลปินคนผู้ยิงใหญ่แห่งลัทธิเซอร์เรียลลิสม์อย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี, ฆวน มิโร (Joan Miró) และฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) กวีและนักเขียนคนสำคัญแห่งอาร์เจนตินา และมัลโญเองก็น่าจะเป็นศิลปินคนโปรดของอัลโมโดวาร์ด้วย เพราะนอกจากผลงานชิ้นนี้แล้ว ในหนังยังปรากฏผลงานของเธออีกหลายชิ้น และที่สำคัญ การที่ตัวเอกในเรื่องอย่างซัลบาดอร์ ก็ใช้นามสกุล "มัลโญ" เหมือนกันกับเธอนั้นก็ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ

Pain and Glory (2019)

หรือผลงานของศิลปินสเปน ซิกเฟรโด มาร์ติน เบอเก (Sigfrido Martín Begué) อย่าง Las costureras ช่างเย็บผ้า (1996) และผลงาน El olfato Santa Casilda (The smell of Santa Casilda) (1986) ซึ่งก่อนหน้านี้ผลงานของเบอเก ก็ปรากฏในหนังของอัลโมโดวาร์อย่าง Bad Education (2004) มาแล้ว

Las costureras (1996) โดย ซิกเฟรโด มาร์ติน เบอเก

The smell of Santa Casilda (1986) โดย ซิกเฟรโด มาร์ติน เบอเก

อนึ่ง กิเยร์โม เปเรซ บิยัลตา และ ซิกเฟรโด มาร์ติน เบอเก นั้นนอกจากจะสนิทสนมกับอัลโมโดวาร์มาหลายสิบปี และมีผลงานมาปรากฏอยู่ในหนังของเจ้าป้ามาหลายต่อหลายเรื่องแล้ว ทั้งสามต่างก็เป็นศิลปินเริ่มต้นอาชีพการงานของตนท่ามกลางการระเบิดขึ้นของกระแสเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่มีชื่อเรียกว่า ลาโมวิดา มาดรีเลญญ่า La Movida Madrileña หรือ The Madrid Scene ที่เกิดขึ้นในกรุงมาดริด ในช่วงเวลาที่ประเทศสเปนเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย ภายหลังจากการตายของผู้นำเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก ในปี 1975 ทำให้สภาพสังคมเปี่ยมล้นด้วยเสรีภาพและความมีชีวิตชีวาและการแสดงออกอย่างไร้ขีดจำกัด แม้แต่เรื่องที่เคยต้องห้ามอย่างเรื่องเพศและการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศก็ตาม

ภาพวาดสีน้ำของซัลบาดอร์ในวัยกระเตาะ วาดโดยศิลปินชาวสเปน ผู้เป็นเพื่อนสนิทของอัลโมโดวาร์อย่าง ฆอร์เก กาลินโด (Jorge Galindo)

การคัดเลือกผลงานของศิลปินเหล่านี้ รวมถึงศิลปินสเปนคนอื่นๆ อีกหลายคน [จนเขียนกันไม่หวาดไม่ไหว] ที่อยู่ร่วมในกระแสเคลื่อนไหวนี้ มาปรากฏในหนังของอัลโมโดวาร์นั้น เป็นการแสดงการรำลึกและคารวะแก่ปรากฏการณ์วัฒนธรรมที่ว่านี้ ที่ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในนักสร้างสรรค์คนสำคัญที่อยู่ร่วมในกระแสความเคลื่อนไหวอันเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเสรีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ภาพถ่ายหุ่นนิ่งในซีรีส์ Vida Detenida (2017) โดย เปโดร อัลโมโดวาร์

นอกจากนี้ ในหนังยังมีผลงานศิลปะที่อัลโมโดวาร์สร้างสรรค์ขึ้นเองอย่าง ภาพถ่ายหุ่นนิ่งในซีรีส์ Vida Detenida ที่เคยแสดงในนิทรรศการเดี่ยวของเขาในสหรัฐอเมริกาและลอนดอน ผลงานภาพถ่ายรูปแจกันและดอกไม้เปี่ยมสีสันในสไตล์ป๊อปอาร์ตชุดนี้เป็นตัวแทนของความรักในศิลปะอันเปี่ยมล้นของเขาได้เป็นอย่างดี

ดังเช่นฉากจบในหนัง Pain and Glory อันเรียบง่ายสามัญ ทว่างดงามและทรงพลัง มันแสดงให้เราเห็นว่า ตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนานของคนทำหนังอย่างอัลโมโดวาร์ ศิลปะนั้นหลอมรวมเข้ากับชีวิตอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้.

ภาพและข้อมูลจาก หนังสือ Louise Bourgeois The Fabric Works by Germano Celant เว็บไซต์ https://goo.gl/wQHIun, https://bit.ly/3c1Rh9Z, https://bit.ly/2XkAjzo, https://bit.ly/2JOUbCL, https://bit.ly/2wwcMkg, https://bit.ly/2UTeRA3 

#WURKON #art #theskinilivein #painandglory #movie #artonfilm #pedroalmodovar #painting #guillermopérezvillalta #marujamallo #sigfridomartínbegué #themadridscene #freedomofexpression #inspiration #pedroalmodovar #louisebourgeois #clothessculpture #ประติมากรรมผ้า #titian #vinus #johnbaldessari #GuillermoPérezVillalta #dionysusfoundariadneonnaxos #juangatti #cienciasnaturalesanatomical #ศิลปะร่วมสมัย #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะสู่ภาพยนตร์






More to explore