ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

นักเปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ Francis Bacon

Art Behind Film

นักเปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ Francis Bacon


มีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกคนในวงการศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งผลงานของเขาส่งแรงบันดาลใจต่อศิลปินรุ่นหลังและศิลปะแขนงอื่นอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะภาพยนตร์ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon)

Figure with Meat, 1954, สีน้ำมันบนผ้าใบ, ชิคาโก้, The Art Institute of Chicago

จิตรกรชาวอังกฤษ ผลงานของเขาส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดอันบิดเบี้ยวขององคาพยพร่างกายมนุษย์ ที่เหมือนกับถูกปลิ้นเอาอวัยวะภายในออกมาข้างนอก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจอันไร้ความมั่นคงและความสกปรกโสมมที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจคน นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้แหวกขนบธรรมเนียมของการวาดภาพแนวประเพณีนิยมโดยสิ้นเชิง โดยนำรูปแบบของภาพเขียน 3 ช่อง (Triptych) ที่มักวาดกันบนผนังแท่นบูชาของโบสถ์คริสต์ที่เป็นเรื่องราวทางศาสนาหรือนักบุญ มาใช้ในการวาดภาพที่แสดงถึงความชั่วร้ายเลวทรามของมนุษย์ออกมา

Head I, 1948 สีน้ำมันบนผ้าใบ

ฟรานซิส เบคอน เริ่มต้นทำซีรีส์ ‘ศีรษะ’ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ ในภาพ Head I (1948) ภาพใบหน้าคนอันบิดเบี้ยวผสมกับหน้าลิงบาบูนแยกเขี้ยวที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดรวดร้าว ชิงชัง ภาพวาดของเบคอนมักจะแสดงออกถึงความไม่มั่นคง ตัวตนของเขาก็มีบุคลิกที่เข้าใจยาก แต่อิทธิพลทางศิลปะของเขาที่มีต่อวงการศิลปะอังกฤษ (และของโลก) ในศตวรรษที่ 20 ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้เลย

เกิดวันที่ 28 ตุลาคม ปีค.ศ. 1909 ณ เมืองดับลิน ไอร์แลนด์ ในครอบครัวชาวอังกฤษ แต่เขาหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 16 เขาย้ายไปอยู่ที่ปารีสระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาอาศัยอยู่ที่ลอนดอนในที่สุด เขาวาดภาพชุดแรก ๆ ในปี 1930 ในปี 1934 เขามีงานแสดงครั้งแรก แต่ผลตอบรับค่อนข้างย่ำแย่จนเขาถึงกับทำลายงานส่วนใหญ่ไปเกือบหมด

ด้วยโรคหอบหืดเรื้อรังทำให้เขาได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร ในขณะเดียวกันกับที่เรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเริ่มแพร่กระจายมาถึงอังกฤษ เบคอนสร้างผลงานชุด Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Guernica ของปิกัสโซ และผลงานของดาลี มันถูกแสดงในแกลเลอรี่ Lefervre ในลอนดอน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชนและนักวิจารณ์จากความทุกข์ทรมานและความบิดเบี้ยวของมัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถูกยกย่องให้เป็นงานของศิลปินอัจฉริยะ และประกาศตัวเป็นสไตล์ใหม่ของศิลปะอังกฤษอันเกรี้ยวกราด เบคอนกลายเป็นไอคอนของวงการศิลปะโลกในลอนดอน

Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X (1953), สีน้ำมันบนผ้าใบ, Des Moines, Nathan Emory Coffin Collection of the Des Moines Art Center

เบคอนได้แรงบันดาลใจจากศิลปินยุคก่อนหน้า อาทิ เรมบรันต์, โกย่า, ปุสแซง รวมถึงคนทำหนังอย่าง เซอร์ไก ไอเซนสไตน์ และช่างภาพอย่าง เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์, อย่างภาพวาด Head VI เขาทำขึ้นเพื่อเป็นการคารวะปนเสียดสีศิลปินชั้นครูในอดีตอย่าง ดิเอโก เบลาสเควซ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของภาพ Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X (1953) หรือในชื่อเล่นว่า ‘The Screaming Pope’ (สันตปาปาผู้กรีดร้อง) อันลือลั่นอื้อฉาวของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดเข้มงวดของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคในไอร์แลนด์ รวมถึงความทรงจำที่เขาถูกจับขังและกรีดร้องในตู้เสื้อผ้า ภาพวาดชุดสันตปาปานั้นเชื่อมโยงกับความโกรธแค้นของเขาที่มีต่อวาติกันซึ่งว่ากันว่าสมรู้ร่วมคิดกับพรรคนาซี เบคอนหยิบเอาความอาฆาตมาดร้ายนี้มาขยายให้ใหญ่ขึ้น และแสดงความโกรธเกรี้ยวของเขาที่มีต่อศาสนามาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย แทนที่จะเป็นบัลลังก์ สันตปาปาในภาพของเบคอนกลับนั่งอยู่บนเก้าอี้ไฟฟ้า ส่วนบนของศีรษะหายไป ปากเปิดกว้างอย่างน่าสยดสยองราวกับกำลังกรีดร้องหรือกำลังดูดกลืนชีวิตออกจากโลกใบนี้กันแน่?

ศาสนาเป็นหนึ่งในสิ่งที่เบคอนชิงชังอย่างใหญ่หลวง ในฐานะที่เขาเป็นเกย์ที่อาศัยอยู่ในโลกอันเคร่งศาสนาที่ก่นด่าประณามเพศสภาพของเขา เขาผลิตภาพวาดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรักร่วมเพศอันล่อแหลมออกมามากมายเพื่อท้าทายกฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศในสหราชอาณาจักร ซึ่งผลงานของเขาเหล่านี้เองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ว่านี้ในเวลาต่อมา

แต่น่าเศร้าที่ชีวิตส่วนตัวเขากลับพัวพันกับความรุนแรงในความสัมพันธ์กับอดีตนักบินขับไล่ขี้ยาซาดิสต์ ปีเตอร์ เลซี ด้วยชื่อเสียงที่โด่งดังพอ ๆ กับอาการติดสุราเรื้อรัง และชีวิตที่บิดเบี้ยวไม่ต่างกับงานศิลปะที่เขามักจะเลียนแบบจากชีวิตของตัวเอง เมื่อ จอร์จ ไดเยอร์ ชู้รักและนายแบบคนโปรดของเขาฆ่าตัวตายในปารีสปี 1971 สองวันก่อนที่เขาจะมีเปิดงานแสดงในปารีส เบคอนวาดภาพ Triptych May-June (1973) ซึ่งเป็นภาพไดเยอร์ตายอย่างโดดเดี่ยวและอัปภาคย์

ฟรานซิส เบคอน เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1992 จากอาการหัวใจล้มเหลวในวัย 82 ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขาได้รับการสรรเสริญพอ ๆ กับสาบส่ง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษนิยามเขาว่าเป็น “ชายผู้วาดภาพอันน่าสะพรึงกลัว” ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต มูลค่าผลงานของเขากลับสูงขึ้น ๆ ในปี 2013 ภาพวาด Three Studies of Lucian Freud (1969) ของเขาได้รับการบันทึกว่าเป็นผลงานศิลปะถูกประมูลไปในราคาแพงที่สุดที่เคยมีมา ด้วยราคา 142 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงชื่อเสียงในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ได้อย่างถึงแก่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

Love Is the Devil: Study for a Portrait of Francis Bacon (1998)

นอกจากชีวประวัติของเบคอนจะถูกนำมาสร้างเป็นหนังอย่าง Love Is the Devil: Study for a Portrait of Francis Bacon (1998) ซึ่งตีแผ่ความสัมพันธ์อันมืดหม่นและปวดร้าวของเบคอนและชู้รักอย่างไดเยอร์ (ซึ่งคนที่รับบทเป็น จอร์จ ไดเยอร์ นั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็พ่อยอดชายนาย แดเนียล เครก เจมส์ บอนด์ คนล่าสุดในยุคเรานี่เอง ซึ่งบทบาทในหนังเรื่องนี้ถือเป็นบทที่สร้างชื่อให้กับเขาเป็นเรื่องแรก ๆ เลยก็ว่าได้) แล้ว ผลงานของเขาก็ให้แรงบันดาลใจกับงานสร้างและแนวคิดของหนังอีกหลายต่อหลายเรื่อง อาทิเช่น

Robocop (2014) ในฉากที่มีภาพเขียนของ ฟรานซิส เบคอน ประดับอยู่

RoboCop (2014) ของ โฮเซ่ ปาดิญญ่า ที่รีเมคจากหนังเก่าปี 1987 ในชื่อเดียวกันของ พอล เวอร์โฮเว่น ที่นอกจากจะมีภาพวาด Triptych inspired by the Oresteia of Aeschylus (1981) ของฟรานซิส เบคอน แขวนประดับอยู่ในฉากในหนังแล้ว หนังยังใช้ภาพวาดของเบคอนเป็นสัญลักษณ์แฝงที่แสดงถึงนัยยะ เนื้อหาสาระ และปรัชญาของหนังได้อย่างแยบคาย ดังที่ผู้กำกับกล่าวเอาไว้ว่า

“มันมีช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งในหนัง ที่ตัวเอก (ที่กลายเป็นโรโบค็อบ) ตื่นขึ้นมาจากความฝันอันแสนหวาน และมองไปที่มือของตัวเองแล้วพูดขึ้นมาว่า “นี่มันชุดอะไรกันเนี่ย?” นักวิทยาศาตร์ที่ดัดแปลงร่างกายเขาก็ตอบว่า “มันไม่ใช่ชุด มันคือคุณ” นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ RoboCop แตกต่างจากหนังอย่าง Iron Man เพราะมันไม่ใช่ชุดเกราะ แต่เขากลายเป็นหุ่นยนต์ และเขากลายเป็นหุ่นยนต์ก็เพราะบริษัทต้องการผลิตสินค้า ดังนั้น ร่างกายของเขาจึงถูกดัดแปลง บิดเบือน ความจริงภายในของเขาถูกปั้นแต่งเพื่อจุดมุ่งหมายที่ไม่ได้เป็นของเขา สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมนึกถึงภาพวาดของ ฟรานซิส เบคอน

เบคอนวาดภาพร่างกายคน และเขาสาดแสงสว่างไปที่มัน เขาโดดเดี่ยวมันจากองค์ประกอบอื่นในภาพ ร่างกายเหล่านั้นมักจะบิดเบี้ยว และคุณสามารถมองมันได้หลายแง่มุม คุณอาจจะคิดถึงสังคมที่ทำให้คนเหล่านั้นพิกลพิการ หรืออาจเป็นจิตใจของพวกเขาเองที่ทำให้พวกเขาพิกลพิการแบบนั้นก็เป็นได้

Triptych inspired by the Oresteia of Aeschylus, 1981, สีน้ำมันบนผ้าใบ

ผมตัดสินใจเอาไว้ตั้งแต่ต้นที่จะแขวนภาพวาดของ ฟรานซิส เบคอน เอาไว้ข้างหลังตอนที่วายร้ายในหนังพูดขึ้นมาว่า “เราเอาคนใส่เข้าไปข้างในหุ่นยนต์กันเถอะ”

และผมก็เอาภาพที่ว่าให้กับ มาร์ติน วิสต์ โปรดักชั่นดีไซเนอร์ดู และบอกให้เขาออกแบบห้องทดลองและสถานที่เก็บโรโบคอปโดยอ้างอิงจากภาพวาดภาพนั้น รวมถึงให้เขาออกแบบฉากที่โรโบคอปถูกแขวนอยู่บนแท่นและถูกแยกชิ้นส่วนจนเหลือเพียง ศรีษะ และอวัยวะที่มีเลือดเนื้อไม่กี่ชิ้นอย่าง ปอด มือขวา และมันสมองลอยอยู่ โดยอิงจากภาพวาดของเบคอนอีกด้วย

เมื่อเปรียบเทียบงานออกแบบของหนังกับภาพวาดภาพนี้ คุณจะพบว่ามันคล้ายกันจริง ๆ แท่นเก็บโรโบคอปในห้องทดลองที่เมืองจีนถูกออกแบบให้เหมือนกับภาพวาดของเบคอน เราวางโรโบคอปอย่างอ้างว้างอยู่กึ่งกลางห้อง ทิ้งเขาไว้โดดเดี่ยวอยู่ที่นั่น และแยกชิ้นส่วนร่างกายของเขาให้เหมือนกับภาพวาดอันบิดเบี้ยวของเขา” (แกรี โอลด์แมน นักแสดงในหนังที่ร่วมให้สัมภาษณ์อยู่ด้วยฟังจบแล้วถึงกับอุทานว่า “บร๊ะ ผมนึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นแค่หนังแอ็คชั่นธรรมดาเสียอีก!”)

Robocop (2014) ฉากในห้องทดลอง สถานที่เก็บโรโบคอป รวมถึงอวัยวะภาพในและชิ้นส่วนของโรโบคอปที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของ ฟรานซิส เบคอน Columbia Pictures, Inc. and Metro-Goldwyn-Mayer Pictures Inc.

ส่วนโปรดักชั่นดีไซเนอร์อย่าง มาร์ติน วิสต์ กล่าวถึงงานออกแบบของเขาในหนังเรื่องนี้ว่า

“ในช่วงเริ่มสร้างภาพลักษณ์ของโรโบคอป โฮเซ่ ปาดิญญ่า ส่งรูปภาพวาดของเบคอนสองสามภาพให้ผม เราใช้มันเป็นเสมือน “การอุปมาทางสายตาที่ซ่อนอยู่” ของหนัง ห้องทดลองในหนังเป็นเหมือนภาพเขียนเบคอนในเวอร์ชั่น 3 มิติ ด้วยสถาปัตยกรรมภายในที่เคร่งขรืม รูปทรงเส้นตรงหักมุมฉากที่เลียนแบบเส้นในภาพวาดของเบคอน เขาสร้างกล่องและเส้นรอบนอกของมัน เพื่อบรรจุรูปทรงของสิ่งมีชีวิตที่บางครั้งดูเหมือนรูปร่างอันวิปริตผิดเพี้ยนของร่างกายมนุษย์เอาไว้ภายใน

เมื่อโรโบคอปถูกแขวนอยู่บนแท่นในห้องทดลอง มันดูไม่ต่างจากภาพร่างกายของมนุษย์ในภาพวาดของเบคอน ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นถึงสภาวะทางจิตและอารมณ์ของโรโบคอปในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้ถูกกักขังอยู่ในชุด (เหล็ก) ที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรที่ทำตัวเป็นเจ้าของเขาอยู่”

The Dark Knight (2008)

หรือในหนังซูเปอร์ฮีโร่ชั้นดีที่กลายเป็นตำนานไปแล้วอย่าง The Dark Knight (2008) ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน นั้น หลายคนอาจไม่ทราบว่า เมคอัพตัวตลกแบบเลอะๆ เละๆ ปนสยดสยองที่เห็นบนใบหน้าของโจ๊กเกอร์ (ฮีธ เลดเจอร์) นั้น เมคอัพอาร์ติสต์มือรางวัลออสการ์อย่าง จอห์น คากลิโอนี จูเนียร์ (John Caglione Jr.) ไม่ได้ทำขึ้นมาแบบมั่วๆ ซั่วๆ หากแต่มันมีที่มาที่ไป เพราะมันได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของ ฟรานซิส เบคอน อีกด้วยเหมือนกัน

Study for a Portrait, 1953 สีน้ำมันบนผ้าใบ

“ในวันเทสต์หน้ากล้อง คริสโตเฟอร์ โนแลน เข้ามาในเทรลเลอร์เอาหนังสือรวมภาพเขียนของ ฟรานซิส เบคอน มาให้ผมกับ ฮีธ ดู มันดูน่ากลัว แต่ก็เจ๋งมาก มีภาพหนึ่งที่คริสชอบมาก คือภาพ Study for a Portrait, 1953 ต่อมาหนังสือเล่มนั้นก็เลยกลายเป็นไบเบิลสำหรับผมในการออกแบบหน้าตาของตัวตลกวายร้ายอย่างโจ๊กเกอร์ไปในที่สุด” จอห์นกล่าว

และในฉากวิดีโอที่โจ๊กเกอร์ข่มขู่และฆ่าแบทแมนกำมะลอในห้องห้องหนึ่งซึ่งถูกเผยแพร่ออกอากาศ นอกจากการแสดงอันน่าสะพรึงกลัวของ ฮีธ เลดเจอร์ แล้ว ถ้าใครสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าห้องห้องนั้นคือห้องเย็นแช่เนื้อสดนั่นเอง โดยจะเห็นว่ามีซากเนื้อสดที่ถูกชำแหละแขวนอยู่ด้านหลังด้วย ซึ่งซากหมูชำแหละนี้เองก็เป็นองค์ประกอบที่เรามักจะพบเห็นในภาพวาดหลายชิ้นของฟรานซิส เบคอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพ Figure with Meat, 1954 อันโด่งดังของเขา ก็ไม่รู้ว่าตัวผู้กำกับเขาใส่ฉากห้องเย็นแช่เนื้อสดนี้ในหนังด้วยความบังเอิญ หรือเป็นการแสดงการคารวะต่อจิตรกรเอกอย่าง ฟรานซิส เบคอน กันแน่? (ซึ่งซากเนื้อสดที่แขวนในฉากหลังของภาพนี้ เบคอน เองก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด Carcass of Beef (Flayed Ox) (1655) ของ เรมบรันต์ อีกทีหนึ่งนั่นเอง)

Batman (1989)

มีความบังเอิญขำๆ ตรงที่ในหนัง Batman (1989) เวอร์ชั่น ทิม เบอร์ตัน ภาคแรก ในฉากที่โจ๊กเกอร์ (ฉบับ แจ็ก นิโคลสัน) เข้าไปทำลายภาพเขียนและงานศิลปะในหอศิลป์ ก็ภาพวาด Figure with Meat ของ ฟรานซิส เบคอน อันนี้อีกนั่นแหละ ที่โดนใจโจ๊กเกอร์จนรอดปากเหยี่ยวปากกาไปได้ ถึงขนาดที่ว่าโจ๊กเกอร์ลงมือหยุดสมุนไม่ให้ทำลายมันด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลส่วนตัวว่า “มันถูกใจกรูว่ะ!”

Inception (2010)

Study for Head of George Dyer, 1967

หรือแม้แต่ในหนังเรื่องถัดมาของโนแลนอย่าง Inception (2010) ก็มีภาพวาด Study for Head of George Dyer (1967) ของเบคอน ซึ่งเป็นภาพวาดชู้รักของเบคอนปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งของหนังอีกด้วย โนแลนกล่าวถึงเหตุผลที่เขาหยิบภาพนี้มาใช้ในหนังว่า เขามักจะนึกถึงงานศิลปะ เวลาที่เขาไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนของเขาด้วยถ้อยคำได้ การใช้ภาพวาดอยู่ในหนังมักแสดงออกได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

“สำหรับผม ภาพวาดของเบคอนนำเสนอความบิดเบี้ยวของความจำที่ถูกถ่ายทอดผ่านใบหน้าที่ผมหลงใหลในหลายแง่มุม ในหนังของผม ซึ่งผมพยายามสะท้อนมันออกมาในหนังของผม”

ในฉากที่ตัวละคร มาล (มาริยง โกติยาร์) ภรรยาในความทรงจำของ จ้องมองไปที่ภาพวาดนี้ของเบคอน แล้วหันมาพูดกับ คอบบ์ (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) สามีของเธอ นั้นเป็นเหมือนการฉายความทรงจำของของตัวเอกของเรื่องผู้นี้ออกมา เช่นเดียวกับภาพที่บิดเบี้ยวผิดรูปผิดร่างของจอร์จ ไดเยอร์ ในภาพวาดของเบคอร โนแลนแสดงความบิดเบี้ยว ไม่สมบูรณ์แบบของภรรยา (ในความทรงจำ) ของคอบบ์ ที่จ้องมองภาพของเบคอนภาพนี้อยู่ราวกับเป็นการสะท้อนซึ่งกันและกันก็ปาน

Last Tango in Paris (1972)

และท้ายสุด ในหนังอีโรติกดราม่าสุดอื้อฉาวของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน แบร์นาโด แบร์โตลุกชี (Bernardo Bertolucci) อย่าง Last Tango in Paris (1972) ที่เต็มไปด้วยด้วยฉากเซ็กส์ที่จะแจ้ง รุนแรง และสมจริง จนกลายเป็นความอื้อฉาวอย่างมากและมีปัญหากับกองเซ็นเซอร์ในทุกประเทศที่มันเข้าฉาย และเมื่อมันเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ฉากเซ็กส์ส่วนใหญ่ถูกหั่นออก และคณะกรรมการจัดเรตภาพยนตร์ (MPAA) ก็ให้เรตเอ็กซ์กับหนัง จนหลังจากที่มีการปรับปรุงระบบเรตติ้งใหม่มันก็ได้เรต NC-17 ที่ไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี เข้าชมโดยเด็ดขาดไปแทน

แม้จะเต็มไปด้วยความอื้อฉาว แต่ตัวหนังก็เปี่ยมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างยิ่ง และด้วยความที่เป็นคนรักศิลปะ แบร์โตลุกชีได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้มาจากผลงานของจิตรกรคนโปรดของเขาคนหนึ่ง ซึ่งจิตกรคนที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ ฟรานซิส เบคอน นั่นแหละ

ส่วนหนึ่งของภาพ Double Portrait of Lucian Freud and Frank Auerbach (1964) และภาพวาด Study for a Portrait of Isabel Rawsthorne (1964) ที่ปรากฏในไตเติ้ลเปิดเรื่องของหนัง Last Tango in Paris (1972)

Double Portrait of Lucian Freud and Frank Auerbach, 1964 สีน้ำมันบนผ้าใบ

Study for a Portrait of Isabel Rawsthorne, 1964 สีน้ำมันบนผ้าใบ

โดยแบร์โตลุกชีหยิบเอาภาพวาดของเบคอนสองภาพอย่าง Double Portrait of Lucian Freud and Frank Auerbach (1964) และ Study for a Portrait of Isabel Rawsthorne (1964) มาใส่ลงในไตเติ้ลเครดิตตอนเปิดของหนังเอาดื้อ ๆ โดยภาพวาดของฟราซิส เบคอน ปรากฏขึ้นกินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของจอ ภาพผู้ชายกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเก้าอี้นวม ใบหน้าของเขาดูบูดเบี้ยวเละเทะจนน่ากลัว องคาพยพร่างกายบิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ ในภาพมีหยาดสีกระเซ็นเลอะเปราะเปื้อนบนใบหน้าและลำตัวของเขา ดูไม่ออกว่ามันเป็นหยดเลือดหรืออะไรกันแน่

ไม่เพียงเท่านั้น โทนสีและฉากในหนังเรื่องนี้ก็ยังได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของเบคอนอีกด้วย โดยระหว่างการเตรียมงานถ่ายทำ แบร์โตลุกชีได้เข้าไปดูนิทรรศการของเบคอนที่จัดแสดงในปารีสหลายต่อหลายครั้ง

“แสงสีในภาพวาดของเบคอนย้ำเตือนให้ผมรำลึกถึงปารีสในฤดูหนาว ยามที่แสงไฟร้านค้าส่องสว่าง ท้องฟ้าสีเทาเข้มในฤดูหนาวที่ตัดกับสีสันอันอบอุ่นของตู้โชว์หน้าร้านค้า แสงในภาพเขียนของเบคอนคือแรงบันดาลใจหลักสำหรับสไตล์ที่เรากำลังมองหาอยู่”

ซึ่งสไตล์การวาดภาพของเบคอนมักจะแสดงให้เห็นถึงรูปทรงของมนุษย์ที่ดูเหมือนชิ้นเนื้อสดที่แขวนอยู่ในหน้าต่างร้านขายเนื้อนั่นเอง

ผู้กำกับภาพของหนังอย่าง วิตโตริโอ สโตราโร (Vittorio Storaro) ซึ่งเคยทำงานร่วมกับแบร์โตลุกชีในหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง The Conformist ซึ่งถ่ายด้วยโทนสีฟ้าหม่นหมอง กำลังอยู่ในช่วงเวลาตีบตันทางความคิดสร้างสรรค์ เขาถามตัวเองว่าในหนังเรื่องถัดมานี้เขาจะเลือกใช้โทนสีแบบไหนดี ซึ่งก่อนหน้านี้เขาไม่เคยคิดเลยว่าจะมีหนังที่ถ่ายทำด้วยโทนสีส้มแบบนี้มาก่อน จนกระทั่งได้มาเห็นภาพวาดของฟรานซิส เบคอน และกลายเป็นแรงบันดาลใจในการใช้โทนสีในการถ่ายทำ Last Tango in Paris ของเขา ด้วยการใช้สีส้มสด สีเทาสว่าง สีขาวเย็นเยียบ สีแดงเข้มขรึม ผสมผสานกับสีสันตามรสนิยมของแบร์โตลุกชีอย่าง สีน้ำตาลทอง สีขาวบางเบา สีฟ้าเหลือบ และสีชมพู

ฉากในอพาร์ตเมนต์ซึ่งเป็นรังรักของตัวเอกทั้งคู่ ภายในห้องว่างเปล่าแทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรอยู่เลยนอกจากพรมปูพื้นสีส้ม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสีสันและพื้นที่ว่างที่ดูคล้ายเวทีในภาพวาดของเบคอน ซึ่งพื้นที่ว่างนี่เองที่ขับเน้นความอ้างว้างว่างเปล่าและความทุกขเวทนาของตัวละครที่อยู่ภายในนั้นให้เด่นชัดขึ้นมา

นอกจากนั้นแบร์โตลุกชียังพานักแสดงนำอย่าง มาร์ลอน แบรนโด ไปดูนิทรรศการของฟรานซิส เบคอนด้วย และบอกแบรนโดว่าต้องการให้เขาเทียบตัวเองกับร่างกายมนุษย์ในภาพวาดของเบคอน หน้าตาและท่าทางร่างกายของมาร์ลอน แบรนโด ในหนังเรื่องนี้จึงถูกแสดงออกมาด้วยความแปลกประหลาดและแปรเปลี่ยนอย่างน่าสะพรึงกลัวแบบเดียวกับภาพวาดของเบคอน ภาพของมนุษย์ที่ใบหน้าถูกกัดกินจากสิ่งที่อยู่ภายในตัวของเขาเอง

ใน Last Tango in Paris ใบหน้าของแบรนโดดูเหมือนจะหลอมละลายและบิดเบี้ยวแบบเดียวกับมนุษย์ในภาพวาดของเบคอน ในวาระสุดท้ายของตัวละครของเขาในหนัง แบร์โตลุกชีจับภาพของแบรนโดที่นอนบิดตัวคุดคู้อยู่บนพื้น ในท่าเดียวกันกับภาพวาดภาพแรกของเบคอนที่เขาเคยเห็น แบรนโดประสบความสำเร็จในการสะท้อนภาพร่างกายมนุษย์ในภาพวาดของเบคอนออกมาให้เห็นบนจอภาพยนตร์

Last Tango in Paris (1972)

แก่นสารของตัวละครหลักสองตัวในหนังคือการสร้างความเป็นจริงขึ้นมาในพื้นที่ของพวกเขา (อพาร์ตเม้นต์ที่เป็นรังสมสู่ของตัวละครในหนัง) แบบเดียวกันกับที่เบคอนสร้างความเป็นจริงขึ้นมาในภาพวาดของตน ตัวละครหญิงชายในเรื่องสร้างโลกส่วนตัวของพวกเขาขึ้น โลกที่เธอไม่รู้จักฉันและฉันไม่รู้จักเธอ ที่ซึ่งความยุ่งเหยิงจากโลกภายนอกไม่เข้ามากำหนดกะเกณฑ์พวกเขา จนในท้ายที่สุดเมื่อ “เขา” กลับเป็นคนทำลายกฎเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งไว้ในโลกแห่งนี้ และพยายามสานความสัมพันธ์ลึกซึ้งและก้าวล้ำเกินขอบเขตปลอดภัยของทั้งสอง ทุกสิ่งอย่างมันจึงเกินกว่าที่ “เธอ” จะรับได้ เมื่อนั้นหายนะจึงบังเกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับชะตากรรมของสิ่งที่ดูคล้ายมนุษย์ในภาพวาดของเบคอนนั่นเอง

ข้อมูล : หนังสือ Francis Bacon, 1909-1992 :deep beneath the surfaces of things /Luigi Ficacci, สำนักพิมพ์ Taschen, cons of art :the 20th century /edited by Jurgen Tesch and Eckhard Hollmann. สำนักพิมพ์ Prestel เว็บไซต์ http://goo.gl/XbSXpvhttp://goo.gl/Vb3Bj4http://goo.gl/N7wtmKhttp://goo.gl/fSQHTihttp://goo.gl/RgB61Khttp://goo.gl/NFscwnhttps://goo.gl/rS93P8https://goo.gl/RbSa7Whttps://goo.gl/Nzba6Jhttps://goo.gl/zOVkk6

เรื่องโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#WURKON #art #movie #francisbacon #triptych #loveisthedevilstudyforaportraitoffrancisbacon #robocop2014 #triptychinspiredbytheoresteiaofaeschylus #thedarkknight #figurewithmeat #batman1989 #lasttangoinparis#แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ






More to explore