Art Behind Film
ประภาคารแห่งแรงบันดาลใจของเหล่าคนทำหนัง เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์
มีคำกล่าวว่า ศิลปะมักส่องทางให้แก่กัน หลายครั้งหลายคราที่ในวงการศิลปะมักมีการส่งแรงบันดาลใจข้ามผ่านกันระหว่างวงการศิลปะแขนงต่างๆ ผลงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์หลายต่อหลายชิ้นในสื่อประเภทหนึ่ง ต่างก็ล้วนแล้วแต่เคยได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลมาจากผลงานศิลปะและสื่อสร้างสรรค์ประเภทอื่นๆ มาแล้วทั้งสิ้น
ภาพยนตร์ก็เป็นสื่อหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลมาจากสื่อต่างๆ หลากแขนงอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากวรรณกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี กวี ฯลฯ หรือแม้แต่งานทัศนศิลป์อย่างงานจิตรกรรมเองหลายต่อหลายครั้ง มันก็เป็นแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับคนทำหนัง ที่จะใช้มันเป็นแหล่งข้อมูลหรือต้นกำเนิดไอเดียในหนังของพวกเขา
มีศิลปินผู้หนึ่ง ที่ผลงานจิตรกรรมของเขาหลายต่อหลายชิ้นเป็นแรงบันดาลใจและจุดกำเนิดไอเดียราวกับเป็นประภาคารที่สาดส่องแสงสว่างทางปัญญาให้กับคนทำหนังและคนทำงานสร้างสรรค์คนแล้วคนเล่าจวบจนถึงปัจจุบัน
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) จิตรกรและศิลปินภาพพิมพ์แนวสัจนิยม (Realism) ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะอเมริกัน
ผลงานของเขาได้รับการยกย่องและนำกลับมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก และถูกผลิตซ้ำและเลียนแบบหลายต่อหลายครั้ง และกลายเป็นแรงบันดาลใจและเชื้อไฟให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ในยุคหลังต่อมา
อ่านเกี่ยวกับ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ ได้ที่นี่ https://bit.ly/39sKpm1
ด้วยสไตล์การวาดภาพที่คล้ายกับลักษณะของภาพยนตร์ การใช้องค์ประกอบของภาพที่กว้าง แสงเงาแบบโรงละคร ทำให้ผลงานของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ เป็นที่โปรดปรานและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนังหลายต่อหลายคน อาทิเช่น
House by the Railroad (1925) ภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ
ฉากโมเตลริมทางเปลี่ยวในหนัง Psycho (1960)
ฉากในหนัง Days of Heaven (1978)
ภาพวาดชื่อ House by the Railroad (1925) ที่ส่งอิทธิผลต่อฉากโมเตลริมทางเปลี่ยวอันเป็นฉากคลาสสิคในหนังสยองขวัญระดับตำนานของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก อย่าง Psycho (1960) และฉากบ้านโดดเดี่ยวกลางทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตาในหนัง Days of Heaven (1978) ของ เทอร์เรนซ์ มาลิก
Nighthawks (1942) สีน้ำมันบนผ้าใบ
ในขณะที่บรรยากาศอันแปลกแยกเหงาหงอยของภาพวาด Nighthawks ก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างฉากภัตตาคารกลางคืนในหนังอย่าง Deep Red (1975) ของผู้กำกับสยองขวัญชั้นครูอย่าง ดาริโอ อาร์เจนโต หรือหนังไซไฟสุดหม่นอย่าง Blade Runner (1982) ของ ริดลีย์ สก็อตต์ และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพนิ่งสำหรับโปรโมตซีซั่นที่หกของซีรีส์สืบสวนสุดฮิตของอเมริกาอย่าง CSI (Crime Scene Investigation) ที่ใช้ชื่ออย่างเก๋ไก๋ว่า CSI Diner
ภาพโปรโมท CSI ซีซั่น 6
หนังของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาลี มีเกลันเจโล อันโตนีโอนี อย่าง Il Grido (1957) ทีได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดปั้มน้ำมันอันเปลี่ยวร้างของฮอปเปอร์ หรือ Red Desert (1964) ที่ได้แรงบันดาลใจจากบรรยากาศภายในห้องและทิวทัศน์อันเงียบงันเหมือนเวลาหยุดนิ่งในภาพวาดของฮอปเปอร์เช่นกัน
ภาพจากหนัง Paris, Texas (1984)
ภาพจากหนัง Don't Come Knocking (2005)
South Carolina Sunday morning, 1955 สีน้ำมันบนผ้าใบ
และหนังรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ อย่าง Paris, Texas (1984) และหนังเข้าชิงอย่าง Don't Come Knocking (2005) ของผู้กำกับชาวเยอรมัน วิม เวนเดอร์ส ที่ชื่นชอบจิตรกรชาวอเมริกันผู้นี้และได้แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพและจัดแสงในหนังทั้งสองเรื่องให้ดูราวกับเป็นภาพวาดของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ ยังไงยังงั้น รวมถึงจำลองฉากหนึ่งในหนัง The End of Violence (1997) ของเขา มาจากภาพ Nighthawks ทั้งดุ้นเลยทีเดียว
หรือในหนังของผู้กำกับอเมริกัน จิม จาร์มุช อย่าง Broken Flowers (2005) ที่จับเอาอารมณ์อันเศร้าสันโดษในภาพวาดของฮอปเปอร์มาไว้ในหนังได้อย่างลงตัว
รวมถึงหนังของผู้กำกับอเมริกัน ทอดด์ เฮย์นส์ อย่าง Far From Heaven (2002) หรือหนังของคู่หูผู้กำกับอเมริกันอย่างพี่น้องโคเอน The Man Who Wasn’t There (2001) ก็ได้แรงดันดาลใจการสร้างฉาก บรรยากาศ แสงสีและการถ่ายภายในหนังมาจากภาพวาดของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ เช่นเดียวกัน
ภาพจากหนัง Bolt (2008)
Portrait of Orleans (1950) สีน้ำมันบนผ้าใบ
แม้แต่หนังแอนิเมชั่นหมาๆ (จริงๆ) ของดิสนีย์อย่าง Bolt (2008) ที่ใช้สไตล์การใช้สี องค์ประกอบ และแสงเงาในภาพวาดของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นทั้งเรื่อง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี NPR (Non-Photorealistic Rendering) ที่ช่วยในการสร้างงานสามมิติให้กลายเป็นภาพแอนิเมชั่นที่นุ่มนวลไม่แข็งกระด้างแบบภาพถ่าย ซึ่งเป็นการเลียนแบบการใช้ฝีแปรงของจิตรกรอย่างฮอปเปอร์นั่นเอง
Morning Sun, 1952 เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์, สีน้ำมันบนผ้าใบ
ภาพนิ่งจากหนัง Shirley: Visions of Reality (2013) © Gustav Deutsch
ผู้กำกับชาวออสเตรีย กุสตาฟ ดอยตช์ (Gustav Deutsch) ที่เนรมิตภาพวาดจำนวน 13 ภาพ ของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ ให้มีชีวิตเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์ โดยเล่าเรื่องราวของ เชอร์ลีย์ ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีชีวิตผ่านยุคสมัยต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของอเมริกาตั้งแต่ยุค 1930s ถึงต้นยุค 1960 ในหนังที่มีชื่อว่า Shirley: Visions of Reality (2013)
ตัวอย่างหนัง https://goo.gl/kieunn
ขอบคุณภาพภาพและข้อมูลจาก: หนังสือ EDWARD HOPPER สำนักพิมพ์ SKIRA เว็บไซต์ www.alledwardhopper.com, http://goo.gl/dKGFvj, https://goo.gl/GIiFEr, http://goo.gl/zJWxrm, http://goo.gl/dEIgXZ, http://goo.gl/bV5olC, http://goo.gl/HMypwt, http://goo.gl/TZLyjZ, http://goo.gl/bGorpt, http://goo.gl/HHzbVW, http://goo.gl/ZR8wYc, http://goo.gl/xL3uWO, https://goo.gl/fuL7dU, http://goo.gl/WhWR4V, https://goo.gl/Rnopq2, http://goo.gl/QHygl1, http://goo.gl/nn4nIN, https://goo.gl/OwqOHt, http://goo.gl/Ejif5r
#Xspace #art #movie #edwardhopper #nighthawks #housebytherailroad #psycho #daysofheaven #deepred #bladerunner #CSIdiner #Ilgrido #reddesert #paris,texas #don'tcomeknocking #theendofviolence #brokenflowers #farfromheaven #themanwhowasn’tthere #bolt #gustavdeutsch #shirleyvisionsofreality #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ