Art Behind Film
แรงบันดาลใจที่ส่งผ่านจากงานศิลปะสู่แผ่นฟิล์ม Egon Schiele I Kim Ki-duk
ถ้าพูดถึงหนังเกาหลี หลายคนคงนึกถึงหนังดรามารันทดซาบซึ้งเรียกน้ำตา ที่ตอนจบนางเอก (หรือพระเอก) ต้องป่วยเป็นโรคร้ายตายจาก หรือหนังตลกโปกฮาโรแมนติกกุ๊กกิ๊กคอเมดี้ ที่มีนางเอกน่ารักแสนซนแบบยัยตัวร้าย คอยปั่นหัวผู้ชายหน้าตาเจี๋ยมเจี้ยม ฯลฯ
แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหนังของผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสมัยและโปรดิวเซอร์ระดับแนวหน้าของเอเชียชาวเกาหลีใต้อย่าง คิม คี-ด็อค (Kim Ki-duk) นางเอกในหนังของเขาไม่ใช่แค่ยัยตัวร้ายแสนสน เพราะเธอทำเรื่องร้ายกาจยิ่งกว่า อย่างการเอาเบ็ดตกปลาเกี่ยวปากผู้ชาย และของสงวนของตัวเอง! และอื่นๆ อีกมากหมายที่ผู้ชายต้องเสียวสันหลังและขนหัวลุก ส่วนผู้ชายก็ไม่มีเวลามาเจี๋ยมเจี้ยม เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการซ้อมผู้หญิง ข่มขืน และจับตัวไปเป็นโสเภณี! สิ่งเหล่านี้อาจทำให้หลายคนต้องเบือนหน้าหนีหนังของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการตีแผ่สันดานดิบของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น
คิม คี-ด็อค ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 69 ปี 2012
คิม คี-ด็อค เกิดในปี ค.ศ. 1960 ที่หมู่บ้านในชนบทของเกาหลี พอ 9 ขวบก็ย้ายมาอยู่ที่กรุงโซลและเข้าเรียนในโรงเรียนการเกษตร ก่อนที่จะหยุดเรียนเมื่ออายุ 17 ปี และเข้าไปทำงานในโรงงาน เนื่องจากถูกบังคับให้เป็นผู้จัดการโรงงานด้วยความไม่เต็มใจ เขาจึงใช้เงินเก็บทั้งหมดซื้อตั๋วเครื่องบินไปปารีส ที่นั่นเขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย (เพราะเงินไม่พอ) แต่ไปนั่งวาดรูปขายข้างถนน ในตอนนั้นเองที่เขาได้เข้าโรงหนังเป็นครั้งแรก และตกหลุมรักภาพยนตร์ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อกลับถึงเกาหลีเขาจึงเริ่มเขียนบทหนัง และส่งประกวดตามสถาบันต่างๆ จนได้ทำหนังเรื่องแรกอย่าง Crocodile ในปี 1996 และมีผลงานทยอยออกมาสู่สายตาผู้ชมเรื่องแล้วเรื่องเล่าในเวลาต่อมา อาทิ The Birdcage Inn (1998), The Isle (2000), Bad Guy (2001), Spring, Summer, Fall, Winter, and Spring (2003), Samaritan Girl (2004), 3-Iron (2004), Breath (2007), Arirang (2011), Pietà (2012) ฯลฯ และได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัล Un Certain Regard Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์, รางวัลรองชนะเลิศหมีเงิน จากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน และรางวัลชนะเลิศสิงโตทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เวนิส
เซ็กซ์ ความดิบเถื่อน ความรุนแรง คือประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอในหนังของเขา นอกจากองค์ประกอบเหล่านี้ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในหนังเกือบทุกเรื่องของเขาแล้ว หนังของเขายังเต็มไปด้วยลักษณะแบบเดียวกับที่งานศิลปะมี คือพื้นที่ว่าง และความสงบเงียบ ในหนังของเขาหลายเรื่องภาพบนจอไม่มีอะไรมากไปกว่าความว่างเปล่าและความเงียบอยู่เป็นนาน
"สำหรับผม ความว่างเปล่าและความเงียบ มีความหมายเดียวกันกับ "พื้นที่ว่าง” (Space) ในการทำงานศิลปะ หนังหลายๆ เรื่องของผม ตัวละครแทบจะไม่มีบทพูด ผมคิดว่า ความเงียบก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง"
หนังของเขามักจะเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด พล็อตเรื่องพิสดาร คลุมเครือ และตัวละครอันมีพฤติกรรมผิดเพี้ยนจนยากจะคาดเดาและเข้าถึงได้ เขาให้คำนิยามหนังของตัวเองว่า เป็นหนังกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract Film) ซึ่งเป็นสไตล์เดียวกับงานศิลปะแบบกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract Art) โดยแนวคิดของหนังไม่ใช่การนำเสนอความเป็นจริงที่เราจับต้องได้ แต่มุ่งเน้นในการนำเสนอความรู้สึกนึกคิดจากจิตใต้สำนึกมากกว่า หนังของเขามักจะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ให้คนดูตีความ ที่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ และสิ่งไม่มีชีวิตอย่าง ข้าวของเครื่องใช้ และแม้กระทั่งงานศิลปะ
มีผลงานของศิลปินผู้หนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นศิลปินที่คิม คี-ด็อคชื่นชอบและมักหยิบมาใส่ในหนังของเขาอยู่บ่อยๆ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า อีกอน ชีเลอ (Egon Schiele)
Self-Portrait with Physalis (1912) ภาพเหมือนตัวเองของ อีกอน ชีเลอ
หนึ่งในจิตรกรชาวออสเตรียผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 เขาได้รับอิทธิพลจากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในยุคเดียวกันอย่าง กุสตาฟ คลิ๊มต์ (Gustav Klimt) เขามีชื่อเสียงจากการทำงานศิลปะอีโรติก (Erotic Art) ที่แสดงออกถึงเรื่องทางเพศ ด้านมืดของมนุษย์และความตาย ภาพวาดของเขามักจะเป็นภาพเปลือย (ของตัวเองและนางแบบ) ที่แสดงท่าทางอันพิสดาร บิดเบี้ยว หงิกงอ ผ่านเส้นสายลายเส้นที่เฉียบขาด รุนแรง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นธารของงานศิลปะสกุลเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) เลยทีเดียว
อีกอน ชีเลอ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1890 ในประเทศออสเตรีย บิดาทำงานในสถานีรถไฟ ในปี ค.ศ. 1906 เขาเข้าศึกษาในโรงเรียนศิลปะ Kunstgewerbeschule (School of Arts and Crafts) และ Akademie der Bildenden Knste ณ กรุงเวียนนา (ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกันกับที่เคยปฏิเสธที่จะรับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เข้าเรียน จนนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่ว่า ชีเลอและฮิตเลอร์เคยรู้จักกันที่เวียนนานั่นเอง) ในช่วงนั้นเขามีโอกาสพบกับกุสตาฟ คลิ๊มต์ ผู้เป็นรุ่นพี่ในสถาบันเดียวกัน ซึ่งชื่นชมในพรสวรรค์ของเขา และให้การสนับสนุน ตลอดจนฝากฝังงานให้เขา
ภายหลังจากจบการศึกษา เขาเริ่มต้นทำงานศิลปะอย่างจริงจัง ในช่วงนี้เอง ที่เขาเริ่มวาดภาพเปลือยมากมาย โดยจ้างสาวแรกรุ่นมาเป็นแบบ (ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนจากความต้องการในช่วงวัยหนุ่ม ที่เขามีความผูกพันในลักษณะหมิ่นเหม่ไปในทางชู้สาวกับน้องสาวของเขาเอง) นางแบบในภาพวาดของเขามีท่าทางอันยั่วยวนและแสดงออกถึงความรู้สึกทางเพศอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอะไรที่ดูลามกอนาจารและเป็นเรื่องต้องห้ามเป็นอย่างยิ่งในความคิดของคนสมัยนั้น
และในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1912 เขาก็ถูกจับกุมและยึดภาพวาดของเขา และถูกตั้งข้อกล่าวหาล่อลวงและกระทำอนาจารเด็ก ถึงแม้จะรอดพ้นจากข้อหาดังกล่าว เขาก็ยังคงถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าแสดงนิทรรศการศิลปะโป๊เปลือยโดยให้เด็กเข้าชมได้ เขาถูกศาลสั่งคุมขัง 21 วัน พร้อมกับถูกเผางานทิ้งไปจำนวนหนึ่ง ในระหว่างที่ถูกจำคุกอยู่นั้น เขาได้วาดภาพเหมือนของตัวเองออกมาชุดหนึ่ง ที่แสดงออกถึงความยากลำบากและความบอบช้ำทางจิตใจของเขาในขณะถูกคุมขัง เสมือนหนึ่งการประท้วงต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปิน
Self-Portrait in Prison (1912) ภาพวาดอันเป็นเหมือนสารแสดงความเจ็บปวดในการถูกริดรอนเสรีภาพในที่คุมขังของชีเลอ
แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงงานในนิทรรศการศิลปะ Sonderbund เมืองโคโลญจ์ ที่นี่เขาได้มีโอกาสรู้จักและได้รับการสนับสนุนจากนายหน้าค้างานศิลปะ ในเมืองมิวนิคคนหนึ่ง จนประสบความสำเร็จทั้งทางด้านชื่อเสียงและเงินทอง เป็นหนึ่งในศิลปินดาวรุ่งรุ่นใหม่ที่อายุน้อยที่สุด และยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้แสดงงานในต่างประเทศหลายครั้ง
Secession Exhibition Poster (1918)
ในปี ค.ศ. 1912 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการแสดงศิลปกรรม ‘Secession ครั้งที่ 49’ และได้รับมอบหมายให้ออกแบบโปสเตอร์ของงานนี้ ซึ่งโปสเตอร์ที่เขาออกแบบมีองค์ประกอบของภาพที่ชวนให้นึกไปถึงภาพ ‘พระกระยาหารมื้อสุดท้าย’ (The last supper) โดยที่เขาวาดภาพตัวเองนั่งอยู่ในตำแหน่งของพระเยซูคริสต์ ถึงแม้ว่าจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่งานในครั้งนั้นก็สำเร็จลงด้วยดี และทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นจนผลงานของเขามีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว และยังได้รับข้อเสนอให้วาดภาพเหมือนบุคคลเป็นจำนวนมากอีกด้วย
Self-Portrait as Saint Sebastian (1914-15)
Sitting Woman with Legs Drawn Up (1917)
แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของเขานั้นช่างแสนสั้นยิ่งนัก เพราะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1918 โรคไข้หวัดใหญ่ในสเปนที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20 ล้านชีวิตในยุโรปได้ระบาดมาถึงกรุงเวียนนา ซึ่งชีเลอกับครอบครัวตกเป็นเหยื่อของโรคนี้ ในช่วงนี้นี่เองที่เขาวาดทำผลงานภาพวาดสีน้ำมันชิ้นสุดท้าย (แต่วาดไม่เสร็จ) อย่าง The Family (1918) (หรือในชื่อเดิมว่า Squatting Couple "คู่รักนั่งยองๆ")
The Family (ภาพเหมือนครอบครัวของชีเลอ) (1918)
ภาพวาดอันงดงามแต่แฝงไว้ด้วยความรันทด แสดงภาพเปลือยของเขาและภรรยากับลูกชายผู้ไม่มีโอกาสลืมตาดูโลก เป็นภาพของครอบครัวอันสมบูรณ์พร้อมหน้าที่ไม่มีวันเป็นไปได้ในความเป็นจริง (อันที่จริงเด็กในภาพคือหลานชายของอีกอน และอีดิทเองก็ไม่ได้เป็นแบบให้เขาวาดภาพนี้ เพราะขณะนั้นเธอกำลังท้องอยู่)
และในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1918 อีดิท ภรรยาของเขาผู้กำลังตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ก็เสียชีวิตจากโรคนี้ไปพร้อมกับลูกในท้อง ชีเลอที่ติดโรคด้วยก็เสียชีวิตตามไปในวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1918 อีกเพียง 3 วันหลังจากนั้นด้วยวัยเพียง 28 ปี
แต่แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ผลงานของเขาก็ยังได้รับการชื่นชมและยกย่องจวบจนถึงปัจจุบัน
อีกอน ชีเลอ น่าจะเป็นศิลปินคนโปรดของ คิม คี-ด็อค เหตุเพราะเขาหยิบเอาภาพวาดของ ชีเลอ มาใส่เป็นส่วนประกอบในหนังของเขาถึงสองเรื่อง โดยที่ภาพวาดเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์และองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อเรื่องราวและเนื้อหาไม่แพ้ตัวละครเลยทีเดียว
The Birdcage Inn (1998)
Standing Nude Girl (1910)
ไม่ว่าจะเป็นในหนัง The Birdcage Inn (1998) ภาพวาดที่นางเอกถือไปมาในหนังคือภาพก็อบปี้ของภาพ Standing Nude Girl (1910) ของอีกอน ชีเลอ, ว่ากันว่านางแบบในภาพคือโสเภณีวัยกระเตาะ ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานภาพของนางเอกที่เป็นโสเภณีสาว แถมนางเอกในหนังเรื่องนี้ยังมีงานอดิเรกเป็นการวาดรูปอีกด้วย (ภาพลายเส้นฝีมือเข้าทีที่นางเอกวาดในหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นฝีมือของ คิม คี-ด็อค เอง นั่นเอง)
Bad Guy (2001)
The Embrace (Lovers) (1917)
ฉากในหนัง Bad Guy (2001) ที่นางเอกนั่งดูภาพ The Family (1918) ในหนังสือของอีกอน ชีเลอ
หรือในหนัง Bad Guy (2001) รูปที่นางเอกในเรื่องแอบฉีกจากสมุดภาพในร้านหนังสือ และรูป The Embrace (1917) ของ อีกอน ชีเลอ นั่นเอง, ภาพของคู่รักที่กอดก่ายกันอยู่นั้น อาจเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงกิเลสตัณหาและความต้องการลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปร่างหน้าตาน่ารักและภาพพจน์เรียบร้อยของสาวน้อยอย่างนางเอกก็เป็นได้
คิม คี-ด็อคกล่าวถึงเหตุผลที่เขาหยิบเอาภาพของอีกอน ชีเลอมาใช้ในหนังของเขาว่า
"ตอนอยู่ที่ฝรั่งเศส ผมใช้ชีวิตเป็นจิตรกรวาดภาพริมชายหาดในเมืองมงเปอลีเยอยู่หลายปี แต่ผมไม่ได้มีนิทรรศการแสดงเป็นเรื่องเป็นราวอะไรหรอกนะ แค่วาดภาพแล้วก็เอามาแสดงอยู่ข้างถนนเท่านั้นแหละ ผมยังเคยแสดงผลงานข้างถนนในเมืองมิวนิค เยอรมนี ด้วย, ที่นั่นเองที่ผมได้รู้จักกับอีกอน ชีเลอ
เหตุผลที่ผมเลือกเอางานของเขามาใส่ไว้ในหนังของผมในหนัง ก็เพราะเมื่อแรกเห็น งานของชีเลออาจจะดูเหมือนหยาบคายหรือลามกอนาจาร แต่ถ้าคุณใช้เวลาดูอย่างใกล้ชิด คุณจะเห็นว่ามันเป็นงานที่จริงใจ และแสดงออกถึงความปรารถนาที่อยู่รอบตัวคนเราอย่างตรงไปตรงมา ก่อนหน้านี้ผมชอบกุสตาฟ คลิ๊มต์นะ แต่ยิ่งดูงานของชีเลอมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เปลี่ยนมาชอบอีกอน ชีเลอแทน"
น่าเศร้าที่ในวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา คิม คี-ด็อค เสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 ที่ประเทศลัตเวีย ในวัย 59 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจสู่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง
ข้อมูล: หนังสือ SCHIELE by Tim Marlow by Brompton Books 1990, หนังสือ คิม คี-ด็อค แกะดำของหนังเกาหลี : merveillesxx ไบโอสโคป พลัส 2551 ขอบคุณคุณคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง (merveillesxx) เอื้อเฟื้อข้อมูล, เว็บไซต์ https://bit.ly/3oT3sMV, https://bit.ly/37XS63b, https://bit.ly/37XJXvD,
#Xspace #artbehindfilm #movie #rip #kmkiduk #filmaker #egonschiele #painter #semiabstractfilm #semiabstractart #eroticart #expressionism #thebirdcageinn #badguy #แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์ #แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์