ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

ความลับข้างหลังภาพวาดในหนัง The Grand Budapest Hotel

Art Behind Film

ความลับข้างหลังภาพวาดในหนัง The Grand Budapest Hotel


ถ้าหากใครเคยดูหนัง The Grand Budapest Hotel (2014) ผลงานของผู้กำกับขวัญใจคอหนังอินดี้หนังอาร์ตทั้งหลายอย่าง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) คงจะประทับใจไปกับสีสันสดใสหวานแหววราวกับลูกกวาด เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายฉูดฉาดเปี่ยมสไตล์ มุกตลกหน้าตายอันร้ายกาจ บรรยากาศย้อนยุคอันเปี่ยมสเน่ห์ ฉากและสภาพแวดล้อมอันเพี้ยนพิลึกแต่ก็เก๋ไก๋เนี้ยบกริบ และเหล่านักแสดงมากหน้าหลายตาทั้งขาประจำและขาจรที่ยกโขยงกันมาแน่นขนัด รวมกันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ต่างกับลายเซ็นเฉพาะตัวของเขาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

The Grand Budapest Hotel (2014)

นอกจากหนังจะเล่าเรื่องราวชุลมุนวุ่นวายของ กุสตาฟ เอช (เรล์ฟ ไฟนส์) หัวหน้าพนักงานต้อนรับของโรงแรมสีลูกกวาดกลางหุบเขาในซูโบรวกา ประเทศสมมุติในยุโรปกลาง ผู้บังเอิญจับพลัดจับผลูได้รับมรดกล้ำค่าจาก มาดาม ดี. (ทิลดา สวินตัน) แขกสตรีชราผู้สูงศักดิ์ ชู้รักลับ ๆ ของเขาที่ถูกฆาตกรรม จนทำให้ดีมิทรี (เอเดรียน โบรดี้) ผู้เป็นลูกชายซึ่งหมายปองมรดกอยู่ไม่พอใจและใส่ใคล้จนเขาต้องตกเป็นผู้ต้องหาในเรือนจำ กุสตาฟจึงต้องหาทางแหกคุกเพื่อกลับไปเคลมมรดกล้ำค่าและหาทางพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน โดยมี ซีโร่ (โทนี่ เรโวโลรี) เด็กรับใช้ฝึกหัดชาวอินเดียคอยให้ความช่วยเหลือ และ จ็อปลิง (วิลเลียม เดโฟ) นักฆ่าจอมโฉดของดีมิทรีตามไล่ล่าอย่างไม่ลดละ

ซึ่งเจ้ามรดกที่ว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตามศัพท์แสงสแลงหนังเขาเรียกกันว่า แม็คกัฟฟิน (MacGuffin) หรือสิ่งที่ตัวละครหลักในเรื่องต่างหมายปองต้องการและทุ่มเท แรงกายแรงใจและทำทุกวิถีทางเพื่อครอบครองมัน และ แม็คกัฟฟินในหนังเรื่องนี้คือภาพวาดภาพหนึ่งที่มีชื่อว่า

Boy with Apple

Boy with Apple (2012) ไมเคิล เทย์เลอร์ ในหนัง The Grand Budapest Hotel (2014)

Boy with Apple (2012) ไมเคิล เทย์เลอร์ ในหนัง The Grand Budapest Hotel (2014)

ซึ่งตามเนื้อหาในหนังนั้นเป็นผลงานมาสเตอร์พีสของจิตรกรชั้นครูในยุคเรอเนสซองส์ โยฮานเนส ฟาน ฮอยต์ เดอะยังเกอร์ (Johannes van Hoytl the Younger) ภาพวาดสีน้ำมันรูปเด็กหนุ่มวัยกระเตาะแต่งตัวหรูหราสง่างาม มือขวาของเขาโอบอุ้มผลแอปเปิ้ลเอาไว้ ในขณะที่นิ้วมือซ้ายเรียวยาวบรรจงจีบจับก้านของมันอย่างทะนุถนอม

หนังกล่าวถึงจิตรกรผู้นี้เอาไว้ว่าเอาไว้ว่า “ฟาน ฮอยต์ ป็นจิตรกรที่ใช้สีสันอันสดใสถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาผ่านห้วงเวลาอันเชื่องช้า โดดเด่นในการใช้แสงและเงา ลุ่มหลงในการวาดภาพผ้ามันเงาเลื่อมและกำมะหยี่นุ่มละมุนตา เขาเป็นศิลปินที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และประสบความล้มเหลวในวิชาชีพ อย่างไรก็ดี เขาก็ผลิตผลงานชั้นเยี่ยมที่โลกต้องจารึกเอาไว้หลายชิ้นในยุคสมัยของเขา”

…ซึ่งแน่นอนว่าจิตรกรผู้นี้ไม่มีตัวตนอยู่จริงๆ หรอก (อ้าว!) 

อันที่จริงแล้ว ภาพวาดชิ้นนี้ก็ไม่ได้เป็นผลงานของศิลปินยุคเรอเนสซองส์ที่ไหน หากแต่เป็นภาพวาดของจิตรกรในยุคสมัยเรานี่แหละ เขามีชื่อว่า ไมเคิล เทย์เลอร์ (Michael Taylor) 

ไมเคิล เทย์เลอร์ ขณะกำลังวาดภาพ Boy with Apple ในปี 2012

ไมเคิล เทย์เลอร์ เป็นศิลปินมือรางวัลชาวอังกฤษ ที่มีผลงานแสดงในหอศิลป์ชั้นนำหลายแห่ง อย่าง The Royal Academy of Arts, The National Portrait Gallery ลอนดอน, พิพิธภัณฑ์ Scheringa Museum, เนเธอร์แลนด์ ผลงานของเขาเป็นการนำเอาแรงบันดาลใจและเทคนิคจากงานจิตรกรรมในยุคโบราณอย่างองค์ประกอบ แสงเงา สีสัน และการโพสท่าของนายและนางแบบ มาถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลฉากหลังในยุคสมัยปัจจุบัน

ในปี 2012 เวส แอนเดอร์สัน จ้างให้เทย์เลอร์ทำการอุปโลกน์ภาพวาดในยุคเรอเนสซองส์ขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ในหนังของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้เทย์เลอร์เองไม่เคยทำงานให้กับหนังเรื่องไหนมาก่อนเลย โดยเริ่มต้นด้วยการที่แอนเดอร์สันส่งสคริปต์และภาพตัวอย่างของสไตล์งานที่เขาอยากได้ให้กับเทย์เลอร์ 

“เขาส่งของทุกอย่างที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม ตั้งแต่โปสการ์ดรูปปราสาท ภาพถ่ายเพ้นต์สีของโรงแรมใหญ่ หรือแม้แต่ภาพเค้กแฟนซี รวมถึงภาพงานของศิลปินอย่าง อัลเบรชท์ ดือเรอร์, ฮันส์ โฮลเปียน และภาพเหมือนของยุคทิวเดอร์ หรือแม้แต่ภาพวาดของผมเองด้วยซ้ำ”

Portrait of a Young Man Artist (ราวปี 1550-5) บรอนซิโน

แอนเดอร์สันยังให้ไทย์เลอร์ ดูภาพวาดของ จอร์จ เพนซ์ (Georg Pencz) Portrait of a Young Man, 1544 มาเป็นไกด์ไลน์สำหรับรายละเอียดของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (กระจับที่เด็กชายในภาพ Boy with Apple ใส่อยู่ และการใส่ตัวหนังสือในฉากหลังน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพนี้)

ส่วนของนิ้วมือที่จีบจับก้านแอปเปิ้ลนั้น เทย์เลอร์ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของจิตรกรนิรนามที่เขาหลงใหลอย่าง Gabrielle d’Estrées and One of Her Sisters รูปเปลือยอันเลื่องลือในความเย้ายวนรัญจวนใจซึ่งว่ากันว่าเป็นภาพของกาเบรียล เดสเทร่ส์ (Gabrielle d'Estrees) นางในของกษัตริย์อองรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศสและน้องสาวของเธอนั่นเอง

แรงบันดาลใจหลักอีกที่สำคัญอีกชิ้นก็คือภาพเหมือนของบรอนซิโน* อย่าง Portrait of a Young Man Artist และ Portrait of ‘Lodovico Capponi ที่ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบที่ใช้อ้างอิงทางทางเทคนิคการในใช้แสงเงาและบรรยากาศของภาพ ซึ่งทำให้ภาพนี้มีความใกล้เคียงกับงานของบรอนซิโนอย่างมาก 

“เราต้องการทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้คนดูรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าอาจเคยเห็นมันมาก่อน มันต้องเป็นอะไรที่ดูเหมือนจะคุ้นเคย แต่ก็มีความแปลกใหม่อยู่ในตัวด้วยเช่นกัน” เทย์เลอร์กล่าว

สำหรับนายแบบในการวาดภาพ พวกเขาใช้บริการของหนุ่มน้อยนักเรียนการแสดง/เต้น เอ็ด มันโร (Ed Munro) มานั่งโพสท่าให้ และเครื่องแต่งกายของนายแบบนั้น พวกเขาผสานแนวคิดจากอดีตหลากยุคสมัย หลายไอเดีย และจากเสื้อผ้ามากมายมาผสมกัน ทั้งเสื้อคลุมกำมะหยี่ เสื้อกั๊กขนเฟอร์ กางเกงรัดรูป กระจับแบบโบราณ ฯลฯ พวกเขาลองแล้วลองอีกจนได้ชุดที่ลงตัวสำหรับวาดภาพ

เทย์เลอร์ใช้เวลาสองสามเดือนในการวาดภาพร่างเริ่มต้น ก่อนที่แอนเดอร์สันจะเข้ามาตรวจงานและวิจารณ์ว่ามันเหมือนงานชิ้นเก่า ๆ ของเขามากเกินไป “มันเป็นคำวิจารณ์ที่ออกจะตลกนะสำหรับคนที่ทำหนังออกมาเหมือนกันแทบจะทุกเรื่องน่ะ” เทย์เลอร์กล่าวแบบขำๆ

หลังจากตรวจงานทางอีเมลและกำจัดรายละเอียดส่วนเกินในรูปที่แอนเดอร์สันเคยบอกให้ใส่เข้าไปก่อนหน้านั้นอย่าง จานดีบุกที่มีกระโหลกนกวางอยู่ ภาพปราสาท หรือรางผ้าม่านออกไป เพราะพวกเขาต้องการให้ภาพออกมาเรียบง่ายที่สุด สี่เดือนหลังจากนั้นภาพ Boy With Apple ก็ถูกส่งไปเข้าฉากและปรากฏตัวในฐานะพร็อพชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของหนัง

Girl with a Tweed Coat (2006) ไมเคิล เทย์เลอร์

Self Portrait with Grave Goods (2001) ไมเคิล เทย์เลอร์

แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริงเลยที่จะกล่าวว่าภาพวาดอายุ 400 ปี (ตี๊ต่างเอาน่ะนะ) ที่เทย์เลอร์ทุ่มเทเวลาสร้างสรรค์ขึ้นมาชิ้นนี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญอันหนึ่งของสำเร็จของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

เข้าไปชมผลงานชิ้นอื่นๆ ของไมเคิล เทย์เลอร์ ได้ที่ http://www.mrtaylor.co.uk 

และเข้าไปอ่านเรื่องราวของการวาดภาพ Boy With Apple ในหนังเรื่องนี้จากปากคำของเทย์เลอร์ได้ที่นี่ http://www.mrtaylor.co.uk/news/boy-with-apple

ป.ล. ภาพวาดที่ถูกนำมาแขวนแทนภาพ Boy With Apple แก้ขัดให้ตายใจเหมือนของไร้ค่าในหนัง ที่ท้ายที่สุดก็ถูกดีมิทรีทายาทมหาเศรษฐีจอมวายร้ายจับไต๋ได้และเอาไปฟาดกับเก้าอี้จนป่นปี้นั้น ดูไปดูมามันเหมือนภาพวาดของศิลปินชาวออสเตรียชื่อดัง เอกอน ชีเลอ ยังไงยังงั้นเลย แต่ความจริงมันก็เป็นภาพที่วาดเลียนแบบสไตล์ของเอกอนที่อีตาผู้กำกับคงจะทำขึ้นมาเป็นมุกให้เราคลับคล้ายคลับคลาแบบขันๆ เท่านั้นเองกระมัง อันที่จริงมันเป็นผลงานของ ริช เพลเลกริโน (Rich Pellegrino) ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวอเมริกันนั่นเอง

บรอนซิโน* (Agnolo Bronzino) จิตรกรแบบแมนเนอร์ริสม์** จากเมืองฟลอเรนซ์ในยุคกลางศตวรรษที่ 16 เขาเป็นศิลปินในสังกัดของตระกูลเมดิซีผู้ทรงอำนาจในฟลอเรนซ์ เป็นที่รู้จักจากผลงานจิตรกรรมภาพเหมือนที่ผสมผสานลักษณะของศิลปะเหมือนจริงเข้ากับการแสดงออกอันเย็นชาเย่อหยิ่งถือตัวและห่างเหินของเหล่าขุนนางและชนชั้นสูงผู้เป็นแบบเขียนภาพ ด้วยการใช้สีสันที่จัดจ้าน การเน้นรายละเอียดอันประณีตบรรจงของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอันหรูหรา ผลงานของเขาส่งอิทธิพลต่องานจิตรกรรมภาพเหมือนในยุคหลังจากเขาในอีกหลายศตวรรษต่อมา

แมนเนอร์ริสม์** (Mannerism) เป็นรูปแบบศิลปะที่ได้รับความนิยมหลังจากยุคเรอเนสซองส์ยุครุ่งเรือง มันผสมผสานแนวทางของศิลปะหลากหลายสไตล์ และได้รับอิทธิพลจากงานของศิลปินอย่าง ไมเคิลแองเจโล, ลีโอนาร์โด ดา วินชี, ราฟาเอล คำว่า “แมนเนอริสม์” มาจากภาษาอิตาลีว่า “maniera” หรือ “style” ลักษณะของศิลปะแบบแมนเนอร์ริสม์คือการแสร้งดัดและปั้นแต่งที่ตรงกันข้ามกับการเลียนแบบธรรมชาติของศิลปะในยุคเรอเนสซองส โดยมักจะมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน กล้ามเนื้อที่แข็งเกร็ง องงคาพยพของร่างกายที่ยืดยาว การวางท่าที่ฝืนดัดไม่เป็นธรรมชาติ และการใช้แสงเงาจัดจ้านแบบละคร

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://www.mrtaylor.co.uk, https://bit.ly/3844W1s, https://bit.ly/3kN9ZXv, https://bit.ly/2HXrW7d, https://bit.ly/3mEPDAs, https://bit.ly/2HMN5Sa, https://bit.ly/3kZDXrm 

#Xspace #artbehindfilm #art #movie #thegrandbudapesthotel #wesanderson #boywithapple #michaeltaylor #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ #แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์






More to explore