ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Talk with Artist

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินผู้อยู่บนพรมแดนของศิลปะและสถาปัตยกรรม

Talk with Artist

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินผู้อยู่บนพรมแดนของศิลปะและสถาปัตยกรรม


สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ เป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอภูมิสถาปัตยกรรม และสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยที่ทำงานอยู่บนพรมแดนระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบริบททางสังคม การค้นคว้าทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง และการเล่นกับรอยต่ออันไร้ตะเข็บของภูมิสถาปัตยกรรมและงานศิลปะร่วมสมัย 

ผลงานของ สนิทัศน์ สตูดิโอ มีตั้งแต่โครงการภูมิสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ที่ทำออกมาในขนาดที่หลากหลาย งานแต่ละชิ้นเป็นการสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมและความหมายของมันที่มีความสัมพันธ์กับผู้คน ผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ได้รับรางวัลมามากมายไม่ว่าจะเป็นรางวัลทางสถาปัตยกรรมและศิลปะ 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขามอ (Mythical Escapism) ผลงานเลื่องชื่อของสตูดิโอแห่งนี้ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ภูเขาจำลอง งานศิลปะไทยโบราณ ที่ถูกตีความออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ในรูปแบบของงานศิลปะจัดวาง/ประติมากรรมขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับรางวัล Commended with Merit Award จาก Emerging Architecture Awards 2015 และถูกรับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ 'Aesthetica Art Prize 2015: 100 Longlisted Artists และถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือ The Aesthetica Art Prize Anthology ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินชั้นนำ 100 คนจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เธอยังเป็นหนึ่งในศิลปะที่ร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 อีกด้วย

สนิทัศน์เป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการเปิดตัว Xspace Gallery อย่าง Xspace The Xhibition : Human Relativity เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนได้สัมผัสกับผลงานจริง เรามาสำรวจแรงบันดาลใจและที่มาที่ไปของแนวคิดเบื้องหลังงานศิลปะของเธอกันเถอะ 

Xspace:

แรกเลย ทำไมคุณถึงสนใจเอางานภูมิสถาปัตยกรรมมาผสมผสานกับงานศิลปะ 

สนิทัศน์:

จริงๆ เริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนไม่จบ เราอยากให้งานออกแบบของเราไปได้ไกลกว่าแค่ฟังก์ชั่นและความสวยงาม เรามองว่าแนวความคิดทางศิลปะสามารถสร้างความหมายให้กับพื้นที่ได้ ก็เลยเริ่มสนใจในการที่จะเรียนรู้แล้วนำสองสิ่งนี้มาผสมผสานกัน 

Xspace:

พอสนใจแล้วทำยังไงต่อ?

สนิทัศน์:

พอสนใจแล้วก็เหมือนโชคดีด้วย บังเอิญเราได้ไปทำงานที่สิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นสตูดิโอที่เจ้าของเขาเป็นทั้งภูมิสถาปนิกและเป็นศิลปินด้วย เราก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานและแนวความคิดในเชิงศิลปะ และได้ก็เข้าใจการทำงานศิลปะแบบกลางแจ้ง หรือศิลปะในพื้นที่สาธารณะพอสมควร พอทำได้สัก 3 - 4 ปี เราก็ตัดสินใจไปเรียนต่อทางด้าน Fine Art โดยเฉพาะ ที่ Chelsea College of Arts เป็นคอร์ส Master of Fine Art ที่ลอนดอน ซึ่งที่นี่แหละ ที่เราได้เข้าไปเรียนรู้ศิลปะอย่างเต็มตัว ทำให้เริ่มเข้าใจศิลปะร่วมสมัยอย่างจริงจัง แล้วการที่เราย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ลอนดอน ตอนนั้นคือปี 2007 ซึ่งมีความต่างกันค่อนข้างเยอะ ทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม แวดวงศิลปะร่วมสมัยที่โน่นในเวลานั้นก็จัดจ้านมากๆ เหมือนมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สนุกมาก จนตอนนั้นอยากจะเปลี่ยนอาชีพไปเป็นศิลปินเลย (หัวเราะ)

Xspace:

แล้วทำไมคุณไม่เปลี่ยนอาชีพไปศิลปินไปเลยล่ะ

สนิทัศน์:

เพราะจริงๆ เราก็ชอบทำงานออกแบบภูมิสถาปัตย์ด้วย เราสนุกกับงานทั้ง 2 สเกล งาน Landscape design (ออกแบบภูมิสถาปัตย์) ที่สเกลใหญ่ๆ ที่ได้ใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ และงาน Fine Art ที่ว่ามีความเป็นส่วนตัวมากๆ เราก็เลยสนใจที่จะผสานทั้งสองอย่างทั้ง Landscape design กับงาน Fine Art เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ก็เลยเป็นจุดมุ่งหมายที่อยากจะทำสองสิ่งนี้ให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Xspace:

ในประเทศไทย อาชีพแบบนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลก แล้วในต่างประเทศมีลักษณะของธุรกิจที่ผสานทั้งสองวิชาชีพแบบนี้ไหม

สนิทัศน์:

มีค่ะ อย่างเจ้านายเก่าที่สิงคโปร์ก็เป็นแบบนี้ แต่อันนั้นเขาเป็นงานศิลปะป็นชิ้นๆ แบบชัดเจน คือเอางานศิลปะไปวางในสวน แต่อย่างในอเมริกา ตอนนั้นเคยไปทำงานกับ มาร์ธา ชวาร์ตซ์ (Martha Schwartz) ซึ่งเขาจบ Fine Art แล้วไปเรียน Harvard School Of design แล้วก็มาเป็นภูมิสถาปนิก นั่นก็จะงานในอีกลักษณะนึง 

Xspace:

สิ่งที่น่าสนใจในการทำงานของคุณก็คือความแตกต่างระหว่างศิลปะกับดีไซน์คือ งานดีไซน์เป็นการทำงานเพื่อตอบโจทย์หรือแก้ปัญหา หรือเป็นการทำตามความต้องการของลูกค้า ผู้ว่าจ้าง ในขณะที่งานศิลปะเป็นการทำงานเพื่อตั้งคำถาม เป็นการทำตามใจตัวเอง และทำเพื่อตัวเอง คุณสร้างสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ยังไง

สนิทัศน์:

อาจจะเป็นเพราะเราฝึกฝนในความเป็นสถาปนิกมาระยะเวลาหนึ่ง เรารู้ว่าการทำงานตอบโจทย์ ในโครงการต่างๆ นั้นเป็นยังไง ทีนี้พอได้ไปเรียนต่อ เราก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการกระเทาะเปลือกที่เป็นดีไซเนอร์ เพื่อมาทำงานศิลปะ ต้องใช้เวลาพอสมควรถึงได้เริ่มเข้าใจและสนุกกับมัน แต่ถามว่าพอมาทำงานจริงๆ แล้วมีทั้งความเป็นศิลปะและดีไซน์อยู่ด้วยกัน เรามองว่าก็เป็นส่วนผสมที่สนุกดีนะ คือเรื่องโปรแกรมฟังก์ชั่นทางดีไซน์ต้องแม่นอยู่แล้ว แต่ในความเป็นศิลปะที่ใช้ความเป็นส่วนตัว และมีการตั้งคำถาม เราว่าเป็นข้อดีที่เราได้เห็นมุมมองอีกมุม ในการทำโครงการต่างๆ ที่บางทีดีไซเนอร์อาจจะมองไม่เห็น แต่พอเรามองในเชิง Fine Art ก็ทำให้เรามองได้กว้างขึ้น

Xspace:

ช่วยให้ตั้งคำถามใหม่ๆ ได้

สนิทัศน์:

ใช่ พอเราเรียน Fine Art ทำให้เรารู้จักตั้งคำถาม และรู้จักเลือกคำตอบที่จะเอามาผสมกัน ทำให้ศิลปะกลายเป็นจุดเติมเต็มให้กับงานดีไซน์ที่ต้องตอบโจทย์ได้

Xspace:

หมายความว่าศิลปะช่วยตอบโจทย์ของงานดีไซน์ได้เหมือนกัน

สนิทัศน์:

ใช่ หรือช่วยเปิดมุมมองอีกมุมมอง

Xspace:

เวลาทำงานศิลปะ เราทำเพื่อตัวเอง ไม่ต้องตอบสนองความต้องการของคนอื่น แต่พอคุณทำงานศิลปะในรูปของงานดีไซน์ที่ต้องตอบสนองลูกค้า คุณทำยังไงให้ลูกค้าเข้าใจหรือเปิดใจในสิ่งที่คุณทำ

สนิทัศน์:

อย่างแรกเราต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการหรือมองหาอะไร แล้วเราก็ใช้ความต้องการของเราที่จะสื่อสารสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะสม สิ่งที่เราคิดว่าดี นำเสนอให้เขา แล้วถ้าสิ่งนั้นตอบโจทย์เขาได้ ก็มีความเป็นไปได้

Xspace:

เหมือนพบกันครึ่งทาง

สนิทัศน์:

ใช่ แต่ที่สำคัญ เราต้องเข้าใจลูกค้า ต้องไม่ละเลยเขา

Xspace:

คนทำงานศิลปะบางครั้งทำเพื่อตัวเองโดยไม่ต้องสนใจใคร เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ แต่พอมีส่วนผสมของความเป็นดีไซน์ก็ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย?

สนิทัศน์:

ใช่ เราต้องคิดถึงคนอื่น ต้องเข้าใจว่างานที่เราทำให้เขานั้นมีงบประมาณ มีเรื่องเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง แล้วงานศิลปะที่เราอยากนำเสนอจะตอบโจทย์เขาได้ยังไง เราจะต้องนำเสนอในรูปแบบไหนที่เหมาะ บางงานอาจจะเหมาะกับความเป็นศิลปะเพียวๆ เช่นงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ก็จะต่างกับงานศิลปะที่อยู่ในโครงการส่วนตัวหรือโครงการพาณิชย์ต่างๆ 

Xspace:

การมีพื้นฐานทางดีไซน์ทำให้คุณทำงานศิลปะได้อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้นไหม

สนิทัศน์:

ก็มีส่วนนะ การทำวิจัยในงานออกแบบทำให้เรามีเหตุมีผล มีการทำงานที่เป็นระบบ แล้วเราก็มีทีมที่ช่วยให้เราสามารถสร้างงานขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ด้วย

Xspace:

เมื่อนั้น สองศาสตร์อยู่ขั้วตรงข้ามกันก็ไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป แต่สามารถเกื้อหนุนกันได้

สนิทัศน์:

ใช่ค่ะ เราก็สนุกในการทำงานหลายสเกล ก็ยังสนุกกับการทำงานเล็กๆ หรือว่าก็ที่เป็นงานส่วนตัวหน่อย หรือว่างานชิ้นใหญ่ๆ ที่มัน Impact คนเยอะๆ ก็เป็นความสนุกคนละแบบ

Xspace:

ตอนคุณทำงาน คุณแยกชัดเจนไหมว่า งานนี้ต้องเป็นงานศิลปะหรืองานนี้ต้องเป็นงานดีไซน์อย่างเดียวเลย

สนิทัศน์:

ก็แล้วแต่โครงการไป อย่างสมมติเราทำงานให้เทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 นี่ก็เป็นศิลปะล้วนๆ เลย แต่ถ้าเราทำงานให้โครงการต่างๆ เราก็ต้องตอบโจทย์ลูกค้าเป็นอันดับแรก ที่มาก็เป็นคนละแบบอยู่แล้ว แต่จริงๆ บางครั้งเรื่องราว หรือหัวข้อที่เราพูดกับโจทย์หรือความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่ บางทีก็สองอย่างนี้ก็เลยซ้อนทับกัน เพราะเราสนใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ การสร้างเพื้นที่สำหรับความคิด พื้นที่สำหรับการไตร่ตรอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏทั้งในงานออกแบบและในงานศิลปะของเรา เราพยายามทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Form of belief V(Impermanence)

Capturing The Intangible

A Journey Within

Xspace:

ในอนาคต Sanitas Studio มีทิศทางการทำงานยังไงบ้าง

สนิทัศน์:

จริงๆ ตอนนี้ก็เหมือนขยับเข้ามาในขอบเขตของพื้นที่ศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ เรามั่นใจแล้วว่าเราชอบการอยู่ในเส้นทางศิลปะอย่างจริงจัง สนุก และเอนจอย ถึงตอนนี้ทุกคนในทีมจะมีทั้งสถาปนิกหรือ ภูมิสถาปนิก แต่ทุกคนก็จะมีความสุขกับการหันมาทำงานศิลปะ หรือว่างานออกแบบ Landscape ที่นำเอาแนวความคิดทางด้านศิลปะมาใช้ คิดว่าต่อไปก็คงจะขยับไปในเชิงศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

Xspace:

ในขณะที่สมัยก่อนคนทำงานศิลปะต้องหันไปทำงานดีไซน์ เพราะว่าทำงานศิลปะแล้วหาเลี้ยงชีพยาก จนมีสำนวนว่า “ศิลปินไส้แห้ง” แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบันคนทำงานดีไซน์หลายคนผันตัวเองมาทำงานศิลปะแทน

สนิทัศน์:

ก็อาจจะเป็นสเน่ห์ของงานศิลปะ ที่เราว่าเวลาทำทุกครั้งเราจะได้ Good Energy คือทุกครั้งที่ทำงานศิลปะแล้วติดตั้งเสร็จขึ้นมาเป็นชิ้นงาน หรือขณะที่เรากำลังทำอยู่ เหมือนเราได้เยียวยาตัวเอง หรือได้พลังอะไรบางอย่าง เหมือนเป็นพลังในการขับเคลื่อน หรือว่าในการทำอะไรต่อ ก็เลยมีความสุขในการทำ

Xspace:

แปลว่าการทำงานเป็นศิลปินอาชีพในยุคปัจจุบัน เราก็สามารถทำเป็นธุรกิจและเลี้ยงตัวเองได้ 

สนิทัศน์:

ก็พยายามอยู่น่ะค่ะ (หัวเราะ) เมื่อก่อนเราทำงานแบบลูกทุ่ง มีอะไรมาเราก็ลุยทำไปก่อน แต่ตอนนี้มีคนที่เริ่มเห็นสิ่งที่เราทำไปบ้าง บางคนเขาก็อยากให้เราทำทั้งงานออกแบบ Landscape แต่อยากมีศิลปะจัดวางอยู่ในนั้นด้วย แล้วสถานที่ก็สวยมาก พอเขาเห็นว่างานของเรามีความเป็นไปได้ เขาก็เริ่มสนใจติดต่อให้เราไปทำ 

Xspace:

โดยที่เราไม่ต้องไปนำเสนอ?

สนิทัศน์:

ใช่ ก็อย่างงานที่เพิ่งได้รับมา เขาจ้างให้เราออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม แต่ก็อยากให้มีศิลปะจัดวางอยู่ในนั้นด้วย

Xspace:

เรียกว่าทำทั้งงานภูมิสถาปัตย์และงานศิลปะไปพร้อมๆ กัน

สนิทัศน์:

ใช่ค่ะ ซึ่งงานนั้นลูกค้าเขาชอบศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วย

Xspace:

กลายเป็นว่าถ้าใครอยากได้งานศิลปะและงานออกแบบก็ต้องมาหา Sanitas Studio

สนิทัศน์:

ใช่ค่ะ (หัวเราะ) 

Xspace:

ตอนนี้กำลังทำโครงการอะไรอยู่บ้างครับ

สนิทัศน์:

หลักๆ ก็เตรียมงานสำหรับนิทรรศการที่ Xspace นี่แหละค่ะ ทั้งงานที่ร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่มเร็วๆ นี้ และงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวในปีหน้า (ยิ้ม)

Xspace:

ช่วยเล่าให้ฟังถึงผลงานที่จะเอามาร่วมแสดงใน Xspace หน่อยครับ

สนิทัศน์:

งานมันจะมีอยู่ 3 ช่วงค่ะ ในงาน Soft Opening เป็นงานประติมากรรมจัดวางขนาดไม่ได้ใหญ่มาก ซึ่งเคยแสดงในนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนิทรรศการชื่อ Capturing the Intangible เป็นงาน 2 ชิ้น 

ชิ้นแรกชื่อ Holding Emptiness ที่พูดถึงการพยายามจับต้องความเชื่อ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่มีตัวตน คือเราก็เลยสร้างออกมาเป็นเหมือนพื้นที่ภายในเจดีย์ ให้เป็นเหมือน Negative Space (พื้นที่กลับด้าน) ด้วยความที่เราต้องการที่จะจับต้องสิ่งที่ไม่มีตัวตน

Xspace:

หมายถึงความว่างเปล่า?

สนิทัศน์: 

ใช่ จับต้องความว่างเปล่านั่นแหละค่ะ เราตั้งคำถามว่า ความเชื่อคืออะไรกันแน่ ส่วนงานอีกชิ้นชื่อ Impermanent ซึ่งอยู่ในงานชุด Form of Believe งานชิ้นนี้ ครั้งแรกที่แสดงทำมาจากน้ำแข็งและฝุ่น ที่ก่อตัวเป็นรูปของเจดีย์ที่ค่อยๆ ละลาย จากสิ่งที่ดูคงทนสวยงาม สุดท้ายก็เหลือแค่ฝุ่นกับน้ำ ตอนนี้ก็เอามาทำขึ้นใหม่โดยใช้วัสดุเรซิ่นกับฝุ่นแทน

Xspace:

แล้วงานที่จะแสดงใน Grand Opening ตอน Grand Opening ของ XSPACE ล่ะครับ

สนิทัศน์:

งานชิ้นที่จะแสดงตอน Grand Opening ของ XSPACE (ในนิทรรศการ Xspace The Xhibition: Human Relativity) ชื่อ ...Or we are all just stardust... เป็นงาน Installation ชิ้นใหญ่ ที่เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้หยุด เพื่อเริ่มสำรวจและตั้งคำถามระหว่างสิ่งตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็น สิ่งสมมุติกับความจริง เปลือกข้างนอกกับเนื้อข้างใน การคงอยู่และการสลายไป เป็นเหมือนการกระตุ้นให้คนตั้งคำถามและครุ่นคิดว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เรายึดถืออยู่คืออะไรกันแน่? ตัวงานมีลักษณะเป็นเหมือนโมบายห้องลงมาจากเพดาน โดยประกอบด้วยวัสดุหลักสองชนิด คือ ขี้เถ้า กับ กระจก

งานชิ้นนี้เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากงานอีกชิ้นที่ชื่อ A Journey within เป็นงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่คนสามารถไปเดินข้างและสัมผัสได้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ภายใน หรือความเชื่อของตัวเอง จากที่เราตั้งคำถามว่า ความเชื่อคืออะไรกันแน่ งานศิลปะจัดวางชิ้นนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีประสบการณ์ ได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่ของความเชื่อนั้น ตัวงานมีลักษณะเป็นผ้าขนาดใหญ่ห้อยลงมาจากเพดาน งานชิ้นนี้ก็เคยแสดงในนิทรรศการ Capturing the Intangible มาด้วยเหมือนกัน ก็ตั้งใจว่าจะนำงานชิ้นนี้มาแสดงในนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่ XSPACE ด้วย ประมาณปลายปีหน้า ก็จะแสดงร่วมกับงานชิ้นใหม่ ที่กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งพูดถึงการเสื่อมสลาย เพราะปัจจุบัน คนรอบตัวเราก็ค่อนข้างที่จะมีอายุ เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา เราก็ตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้ตัวเองใคร่ครวญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้ งานชุดนี้จะพูดถึงความเป็นปัจจุบัน และสิ่งที่มันค่อยๆ เสื่อมสลาย เป็นวงจรชีวิต เป็นงานชิ้นใหม่ที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อนค่ะ. (ยิ้ม)

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ของเธอได้ที่นี่ https://youtu.be/4OmrzpiuPSY 


#Xspace #art #architect #sanitasstudio #landscapearchitecture #installationart #sculpture #เขามอ #mythicalescapism #CAPTURINGTHEINTANGIBLE #ArtApplicationinLandscapeArchitecture #story #passion #ภูมิสถาปัตยกรรม #ศิลปะจัดวาง #ประติมากรรม #ศิลปะร่วมสมัย #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะและสถาปัตยกรรม






More to explore