INFORM and DELIGHT
ศิลปินผู้เปิดเผยความเป็นจริงของชีวิต Gustave Courbet
ในตอนนี้เราเขากล่าวถึงศิลปินในอดีตอีกคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานชุดหนึ่งในนิทรรศการศิลปะที่แสดงใน Xspace Gallery กัน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) (1819-1877)
จิตรกรชาวฝรั่งเศสแห่งช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้เป็นหัวหอกของศิลปะสัจนิยม (Realism) ขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นในฝรั่งเศสยุคหลังการปฏิวัติในปี 1805 เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดเหมือนจริงอันสมจริงและอื้อฉาวท้าทายผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง
แทนที่จะวาดภาพเรื่องราววีรกรรมของชนชั้นสูงหรือเรื่องราวจากเทวตำนานและนิยายปรัมปรา ที่ศิลปินทั่วไปในยุคนั้นทำกัน กูร์แบกลับนำเสนอภาพของบุคคลและเหตุการณ์จริงที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนทุกชนชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตอันเรียบง่ายสมถะของผู้คนในชนบท ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไปโดยศิลปินในยุคนั้น
เขายังมักจะนำเสนอด้านไม่พึงประสงค์หรือไม่น่าโสภาของชีวิต และสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ซึ่งงานในลักษณะนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการมาถึงของการถ่ายภาพซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำเสนอความเป็นจริงอย่างไม่ผิดเพี้ยน อันเป็นผลจากการมาถึงของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 19
เขามุ่งมั่นในการวาดภาพแต่ในสิ่งที่เขาเห็นเท่านั้น และปฏิเสธรูปแบบและเทคนิคการวาดภาพในแบบที่สอนในสถาบันศิลปะ อย่างแนวทางศิลปะแบบคลาสสิคและโรแมนติกในยุคก่อนหน้า ที่เน้นความหรูหราประณีตฝีแปรงที่เรียบเนียนละมุนละไม เขาผสมผสานความหยาบกระด้างเข้ากับความละเอียดอ่อน ด้วยการใช้เทคนิคการวาดภาพเหมือนจริง ที่ละทิ้งความประณีตหรูหรา และใช้ฝีแปรงหยาบหนาและทิ้งร่องรอยหยาบกระด้างไว้ให้เห็น
สไตล์การวาดภาพอันแปลกใหม่เช่นนี้กลายเป็นที่ยกย่องและส่งอิทธิพลต่อศิลปินโมเดิร์นนิสต์ในยุคหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) อย่าง เอดูอาร์ มาเนต์ (Édouard Manet) และ โคล้ด โมเน่ต์ (Claude Monet) เขาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินคนสำคัญของฝรั่งเศสและของโลก ในฐานะนักบุกเบิกผู้มาก่อนกาลและศิลปินผู้แสดงออกถึงประเด็นทางสังคมและเรื่องราวอันกล้าหาญ จะแจ้ง ตรงไปตรงมา
หนึ่งในผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของกูร์แบคือภาพวาด L'Origine du monde (1866) หรือ The Origin of the World (บ่อเกิดของโลก) ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ กูร์แบวาดภาพอวัยวะพึงสงวนของเพศหญิงในระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภาพเปลือยที่ไม่ปรากฏหน้าตาของนางแบบ หากแต่โคสลอัพไปที่หว่างขาที่อ้าออกกว้าง เปิดเผยให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง เขาปฏิวัติธรรมเนียมโบร่ำโบราณในการวาดภาพเปลือยที่คนสมัยนั้นยอมรับได้ก็แต่ภาพของเทพธิดาในเทพปกรณัมและนางในเทพนิยายเท่านั้น และหันมาวาดภาพเปลือยของคนธรรมดาสามัญที่มีตัวตนอยู่จริงแทน (ขออภัยที่ต้องให้ไปเสิร์ชหาภาพนี้ดูกันเอาเองก็แล้วกัน!)
ว่ากันว่า เดิมทีภาพนี้ถูกว่าจ้างโดยนักการทูตชาวอียิปต์-ตุรกี ผู้มีรสนิยมทางศิลปะเฉพาะทางเพื่อเก็บเอาไว้ดูเป็นส่วนตัวในหมู่พวกพ้องคอเดียวกัน แต่ภายหลังจากเขาที่ล้มละลายจากหนี้การพนัน ภาพนี้ก็ถูกขายผ่านมือนักสะสมศิลปะหลายต่อหลายคน ในปัจจุบันถูกแสดงให้ชมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musee d'orsay) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และถึงแม้เวลาจะล่วงผ่านไปนาน ผลงานชิ้นนี้ก็ยังคงอื้อฉาว และส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปินรุ่นหลังไม่ว่าจะเป็น มาร์แซล ดูชองป์ หรือ เจฟฟ์ คูนส์ รวมถึงศิลปินร่วมสมัยในแขนงต่างๆ อีกมากมาย
รวมถึงผลงานในนิทรรศการ ROUGH โดย ศุภชัย เกศการุณกุล อย่าง The Origin, 2014 ชุดภาพถ่ายมีอวลกลิ่นอายทะเล รูปทรงของร่องรอยบนผืนทรายในภาพ ทำให้เราหวนรำลึกไปถึงสัญลักษณ์ของเพศแม่ อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิตเช่นเดียวกับท้องทะเล ศุภชัยได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อผลงานมาชุดนี้จากภาพวาด The Origin of the World ที่แสดงสัญลักษณ์ของอิตถีเพศอย่างจะแจ้งภาพนี้นั่นเอง
อ่านเกี่ยวกับผลงานชุด The Origin ของศุภชัย ได้ที่นี่ https://bit.ly/39CQ6OS
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://bit.ly/1MV375w
#Xspace #Xspaceartgallery #informanddelight #artist #gustavecourbet #realism #painting #depicting #unidealized #peasants #workers #landscapes #seascapes #huntingscenes #figure #socialstatements #innovator #political #stilllifes #originoftheworld #inspiration #แรงบันดาลใจจากศิลปะ
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่สนุกสนานและน่าสนใจได้ที่ Xspace
▪️Facebook : Xspace
▪️Twitter : twitter.com/Xspaceart
▪️Instagram : instagram.com/Xspaceartgallery
▪️Pinterest: https://pin.it/5eLSb64
▪️Official Line : @xspace or click https://lin.ee/IoAkEaF
.
.
.
“The Purpose of Art is to Inform and Delight.”
“เป้าหมายของศิลปะ คือการมอบความรู้ และความพึงพอใจ”
เป็นคำกล่าวของ ฮอเรซ กวีเอกแห่งยุคโรมันโบราณ ที่ มิลตัน เกลเซอร์ ดีไซเนอร์ระดับตำนานโปรดปราน จนถูกหยิบเอามาใช้เป็นชื่อสารคดีชีวประวัติของเขา
ด้วยเหตุนี้เราจึงหยิบเอาส่วนหนึ่งของประโยคนี้มาใช้เป็นชื่อคอลัมน์โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ศิลปะผู้เล่าเรื่องราวอ่านง่าย ไม่ต้องปีนกระได ที่หยิบเอาเกร็ดความรู้และความเพลิดเพลินจากศิลปะมาเล่าสู่ให้อ่านกันในทุกสัปดาห์ ในคอลัมน์ที่มีชื่อว่า INFORM and DELIGHT