ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
INFORM and DELIGHT

ปริศนาในภาพวาดของจิตรกรเอกแห่งยุคทองของจิตรกรรมดัตช์ โยฮันเนส เวอร์เมียร์

INFORM and DELIGHT

ปริศนาในภาพวาดของจิตรกรเอกแห่งยุคทองของจิตรกรรมดัตช์ โยฮันเนส เวอร์เมียร์


โยฮันเนส เวอร์เมียร์ หรือที่อ่านแบบดัตช์ว่า โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) (31 ตุลาคม 1632 – ธันวาคม 1675)

จิตรกรเอกชาวดัตช์แห่งยุคทองของงานจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์ (Dutch Golden Age painting) ผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพที่แสดงถึงชีวิตประจำวันธรรมดาของชนชั้นกลาง ผลงานของเขามีความโดดเด่นในด้านความเหมือนจริงและการใช้แสงอันจัดจ้านแต่ละเมียดละไม ฉากในภาพวาดของเขาเกือบทั้งหมดมักจะอยู่ภายในห้อง ณ บ้านของเขามากกว่ากลางแจ้ง ภาพวาดของเขาส่วนใหญ่มักเป็นภาพของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เขาเป็นจิตรกรที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในยุคสมัยของเขา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นศิลปินที่ร่ำรวยอะไรนัก อันที่จริงเขาเสียชีวิตไปพร้อมกับความยากจนและหนี้สินด้วยซ้ำ เหตุเพราะเขาทำงานช้าและมักใช้สีที่มีราคาแพงมากๆ ในการวาดภาพ ทำให้เขาผลิตผลงานออกมาค่อนข้างน้อย (ในปัจจุบันมีภาพวาดที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผลงานของเวอร์เมียร์จริงๆ เพียง 35 ภาพเท่านั้น)

ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ เวอร์เมียร์ไม่ได้รับการยกย่องเท่าไหร่นัก และดูเหมือนจะถูกนักประวัติศาสตร์ศิลป์มองข้ามไปด้วยซ้ำ จนในอีกกว่าสองร้อยปีให้หลัง ผลงานของเขาก็ถูกค้นพบโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์และนักวิจารณ์ศิลปะ จนทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในสมัยยุคทองของดัตช์ในที่สุด 

ผลงานของเขาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งถ้าพูดถึงก็เป็นต้องร้องอ๋อ! ถึงแม้จะไม่รู้จักคนวาดก็ตาม นั่นก็คือภาพวาด Meisje met de pare หรือ Girl with a Pearl Earring (1665) หรือ ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ นั่นเอง ซึ่งภาพวาดนี้เองก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนนิยายประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เทรซี เชวาเลียร์ (Tracy Chevalier) หยิบเอาไปเขียนเป็นนิยายเชิงประวัติศาสตร์ชื่อ Girl with a Pearl Earring (1999) ซึ่งต่อมาก็ถูกนำมาสร้างเป็นหนังโรแมนติกย้อนยุคอย่าง Girl with a Pearl Earring (2003) ที่กำกับโดย ปีเตอร์ เว็บเบอร์ (Peter Webber) นั่นเอง

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอีกประการเกี่ยวกับเวอร์เมียร์คือเทคนิคการวาดภาพอันเป็นปริศนา ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและยาวนาน ด้วยรายละเอียดในภาพวาดที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย แต่ในขณะเดียวกันไม่เคยมีใครพบหลักฐานที่แน่ชัดเลยว่าเวอร์เมียร์ศึกษาเรียนรู้การวาดภาพมาจากไหน ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ค่อยพบภาพสเก็ตซ์ดินสอ หรือหลักฐานว่าเขาทำการร่างภาพก่อนวาดภาพเท่าไหร่ด้วย หลังจากเสียชีวิต โยฮันเนส เวอร์เมียร์ ทิ้งเศษเสี้ยวของหลักฐานการดำรงอยู่ในชีวิตของเขา รวมถึงหลักฐานของกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของเขาเอาไว้เพียงน้อยนิด ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าศิลปินดัตช์แห่งศตวรรษที่ 17 ผู้นี้วาดภาพด้วยวิธีการใดกันแน่? 

มีข้อมูลจากศิลปิน นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายสันนิษฐานกันว่า เวอร์เมียร์ใช้เครื่องมือบางอย่างช่วยในการวาดภาพ ที่เรียกว่า Camera Obscura หรือ กล้องทาบเงา ในการวาดภาพส่วนใหญ่ โดยตั้งข้อสังเกตว่าภาพของเขามีลักษณะที่คล้ายกับการวาดภาพด้วยการฉายสไลด์หรือโปรเจ็กเตอร์ลงบนผนัง, ผ้าใบ, หรือกระดาษแล้ววาดตาม ซึ่งน่าจะเป็นเทคนิคที่เกิดจากการใช้เครื่องมือช่วยนั่นเอง

*Camera Obscura หรือ กล้องทาบเงา เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานเหมือนห้องมืดที่มีแสงส่องผ่านช่องหรือรูขนาดเล็กเพื่อรวมแสงให้ภาพจากภายนอกไปตกบนฉากแบบกลับหัว (ถ้าใครนึกไม่ออกลองนึกถึง ปรากฏการณ์เงาพระธาตุกลับหัว ในวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นตัวอย่าง) โดยส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเครื่องช่วยในการวาดภาพของศิลปินและจิตรกรในศตวรรษที่ 17-18 ต่อมามีการปรับปรุงโดยการนำหลักการของเลนส์ทีี่่ใช้ในกล้องส่องทางไกลมาใช้เพื่อรวมแสง และสามารถปรับให้มีระยะและความชัด และมีขนาดที่เล็กลงจนสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ โดยมีลักษณะเป็นกล่อง 2 ใบซ้อนกัน เลื่อนเข้าออกได้ กล่องด้านหน้าติดเลนส์สำหรับรับภาพ ภายในกล่องใบหลังมีกระจกเงาวางทำมุม 45 องศาเพื่อสะท้อนภาพขึ้นมาที่กระจกฝ้า จิตรกรและศิลปินจะวางกระดาษและวาดภาพตามภาพที่ปรากฏขึ้น บางครั้งมันถูกทำออกมาในรูปแบบที่พับเก็บเป็นหนังสือได้อย่างแนบเนียน กล้องทาบเงา เป็นต้นแบบของกล้องถ่ายภาพในยุคแรกๆ ก่อนที่จะพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นกล้องถ่ายภาพในปัจจุบัน

#Xspace #artist #informanddelight #vermeer #dutchgoldenage #dutcharthistory ##girlwithpearlearrings #secretbehindpaintings






More to explore