FILM BEHIND YOU
The Half of it (แด่ความรัก)
“ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
The Half of it เป็นหนังรักผสมแนว coming of age โดยผู้กำกับ Alice Wu ที่ฉายในเน็ตฟลิกซ์ เป็นหนังที่ผมเชียร์มิตรสหายทุกคนให้ดู นี่คือหนังรักที่ฉลาดและจับใจ น่ารักชวนยิ้มและอ่อนไหวชวนเสียน้ำตา มีอะไรหลายๆอย่างน่าเขียนถึงซึ่งผมกะคร่าวๆน่าจะได้ถึง 8 หน้า A4 ดังนั้นจึงขอแบ่งครึ่งแรกของบทความมอบให้ ‘ความรัก’ ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้
====
หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลัก 3 คน ที่อาศัยในชุมชนเมืองเล็กๆชื่อสควอเฮมิช
- เอลลี่ ชู
เด็กสาวอายุ 17 ปีชาวจีนมีบุคลิกภาพช่างคิดช่างไตร่ตรอง แต่บางครั้งก็ใช้สมองแล้วผลักความรู้สึกออกไปจากตัว เธอหลงใหลในวิชาปรัชญา เขียนเรียงความเก่งจนเพื่อนจ้างเขียนส่งครู มีแววดีที่ครูอยากจะให้ขอทุนไปเรียนต่อ แต่เธอไม่อยากออกจากเมืองสควอเฮมิชเพราะห่วงพ่อที่ทำงานนายสถานีรถไฟที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องจะต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว
- พอล
ชายหนุ่มคนซื่อ เขาตกหลุมรักแอสเทอร์-หญิงสาวที่เสมือนดาวโรงเรียนแต่ก็ไม่กล้าบอกตรงๆเพราะรู้ว่าตัวเองพูดอะไรทื่อๆ จึงจ้างเอลลี่ ชู เขียนจดหมายรักส่งให้แอสเทอร์ จากหนึ่งฉบับก็เริ่มต่อเนื่องเป็นการแชทและโต้ตอบทางจดหมาย พอลอยากจะสื่อสารเรื่องอะไรก็จะบอกเอลลี่แล้วก็จะถูกขัดเกลาโดยเอลลี่ให้ออกมาเป็นภาษาและวิธีคิดในแบบของเธอ
- แอสเทอร์
เธอยิ้ม เธอเป็นเด็กดี แต่เบื้องนอกท่าทีเหล่านี้ต้องข่มความไร้สุขไว้ในกรอบของศาสนาและคำสอนของพ่อที่เป็นบาทหลวง เมื่อเธอต้องขลุกอยู่ในแวดวงสังคมของแฟน เธอก็เป็นดั่งตุ๊กตาประดับแต่เธอก็จำต้องรักษาสถานภาพนี้ไว้เพื่อความมั่นคงทางบ้านที่พ่ออยากให้ทั้งคู่แต่งงานกัน เพราะแฟนของเธอร่ำรวยมาจากตระกูลมีชื่อเสียงสามารถเลี้ยงดูแอสเตอร์และส่งเสริมภาพลักษณ์ของครอบครัว
ตัวละคร 3 คนเริ่มเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ชุลมุนเมื่อแอสเทอร์ได้รับจดหมายในนามของพอล(แต่จริงๆเขียนโดยเอลลี่) แล้วแอสเทอร์ก็รู้สึกดีๆ จากนั้นความรักในตัวละครแต่ละคนก็เริ่มเติบโตไปคนละแบบ...
รักที่แตกต่าง
=======
ความรักของเอลลี่
=========
เอลลี่เป็นคนเก่งในเรื่องปรัชญาความรัก สามารถหยิบยกซีนหนังรักดีๆมาเขียนในจดหมาย เคยอ่านวรรณกรรมรักโรแมนติกมากมาย เขียนเรียงความเรื่องรักได้เป็นหน้าๆ แต่เธอเองยังไม่เคยรู้จักความรักแบบโรแมนติกจริงๆ
จนกระทั่งพบแอสเทอร์ที่เกิดความวูบวาบตั้งแต่แรก ต่อมาได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวหนังสือในจดหมาย ได้คุยกับแอสเทอร์มากขึ้น เธอจึงรู้จักความรักชัดเจน
และก็เหมือนหลายคนที่ศึกษาความหมายของรักจากหนังสือฮาวทูมากมายแต่ก็ไม่มีวันได้คำตอบ หากยังไม่เคยสัมผัสแล้วรักใครซักคน เพราะเมื่อถึงจุดนั้น เราจึงจะมีนิยามความรักที่ตรงกับตัวเองที่สุด
เหมือนเช่นเอลลี่ที่พบว่า
“ความรักคือความยุ่งเหยิง เลวร้าย เห็นแก่ตัว และกล้าหาญ
มันไม่ใช่การตามหาอีกครึ่งที่สมูบรณ์แบบ แต่คือความพยายามและเอื้อมมือไป คือความล้มเหลว”
เอลลี่คือคนที่ชัดเจนเรื่องรักที่สุดในสามคน , เธอรักแอสเทอร์
=========
ความรักของพอล
=========
พอลตกหลุมรักแอสเทอร์ตั้งแต่ยังไม่เคยคุยกัน เขาร่ายคุณสมบัติสามข้อของแอสเทอร์ที่ทำให้เขาตกหลุมรัก แต่เมื่อได้รู้จักและพูดคุยมากขึ้นพร้อมๆกับที่สนิทสนมกับเอลลี่
เด็กหนุ่มอย่างเขาก็ได้บทเรียนแรกของความรักคือ‘การตกหลุมรักแรกพบ’ อาจจะไม่ได้นำไปสู่ ‘ความรัก’เสมอไป
‘คุณสมบัติภายนอก’มักทำให้คนตกหลุมรัก เราสามารถตกหลุมรักใครซักคนจากหน้าตา จากนิสัยที่เห็นภายนอก จากความฉลาดปราดเปรื่อง จากความดีที่ประทับใจ แต่ความรักจะพัฒนาต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนตัวตนระหว่างกันและกัน (reciprocal)ไม่ว่าจะด้วยหนทางใด เกิดการ connect และผูกพัน
และในที่สุดพอลก็คิดว่าเขาอาจจะรักเอลลี่ไม่ใช่แอสเทอร์
============
ความรักของแอสเทอร์
============
แอสเทอร์คือตัวละครที่น่าจะซับซ้อนสุดครับ
เธอมีแฟนเป็นตัวเป็นตนก็จริง แต่ใครๆก็ดูออกว่าเธอไม่ได้รู้สึกอะไรกับเขาซักเท่าไหร่
เมื่อพอลมาจีบผ่านจดหมาย แอสเทอร์ก็เกิดความรู้สึกดีๆ เธอชอบพอลโดยไม่รู้ว่าที่เธอชอบจากการอ่านจดหมาย แท้จริงคือเธอชอบตัวตนของเอลลี่
แล้วความน่าสนใจคือการที่หนังแสดงออกตั้งแต่ฉากแรกที่เธอพบเอลลี่ตอนทำหนังสือตกหรือตอนทั้งคู่รอเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน สังเกตจากการชม้ายตามอง การแอบมอง ท่าทีปัดผมแบบเขินนิดๆ คล้ายว่าเธออาจจะชอบเอลลี่ตั้งแต่แรกแล้วก็เป็นได้
แอสเทอร์จึงอาจเป็นตัวละครที่เป็นเกย์หรือไม่ก็เป็น bisexual แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เธอก็ไม่สามารถแสดงออกได้เพราะเธอถูกกรอบของศาสนาที่เคร่งครัดกดไว้
สำหรับคนทั่วไปคงไม่ยากที่จะรู้ว่าตัวเองรักใครเพราะรักคือ ‘ความรู้สึก’ ที่ไม่มีผิดหรือถูก
แต่หากเราถูก ‘กรอบ’ บางอย่างมากดการรับรู้ความรู้สึกไว้ มีอำนาจที่เหนือกว่า(พ่อแม่, ศาสนา ฯลฯ)มากำหนดว่ารักแบบไหนถูก รักแบบไหนผิด รักแบบไหนเป็นบาป ฯลฯ มันก็จะทำให้เราไม่ชัดเจนในรักแบบเดียวกับแอสเทอร์เพราะกลัวว่าจะทำผิด
===
รักของแอสเทอร์ยังถูกผูกยึดกับความมั่นคงที่ถูกครอบครัวปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก เธอเลือกแฟนหนุ่มแล้วตอบรับการแต่งงานเพราะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในอนาคต เธอกล่อมตัวเองว่ามันจะดีแต่ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่ารัก
แต่เธอรู้สึกหวั่นไหวไม่ปลอดภัย เมื่ออ่านจดหมายแล้วพูดคุยกับเอลลี่เพราะนั่นคือความรู้สึกที่แท้จริงที่เสี่ยงต่อการถูกคัดค้านท่ามกลางสังคมเคร่งศาสนาที่เชื่อว่ารักเพศเดียวกันคือบาป , แต่นั่นก็คือรักที่กำเนิดขึ้นมา
ดังนั้นในตอนท้ายที่เธอบอกเอลลี่ว่า
“มันอาจจะมีความหมายอะไรบ้าง ถ้าฉันอยากจะบอกเธอว่า ไม่ใช่ฉันไม่เคยคิดนะ เธอรู้มั้ย ถ้าอะไรๆมันต่างไปจากนี้หรือฉันต่างไปจากนี้”
น่าจะเป็นการบอกความในใจ ก่อนจะปิดท้ายบอกเอลลี่ว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าเธอคงมั่นใจมากขึ้น
รักสำหรับบางคนจึงต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆเพราะมันต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเองก่อน
========
ผมรักการเล่าเรื่องของ Alice Wu ชอบการเจตนาออกแบบองค์ประกอบภาพให้แบ่งเฟรมเป็นครึ่งๆในหลายฉากเหมือนชื่อหนัง และยังมีหลายฉากที่หนังทิ้งอะไรบางอย่างไว้เสมือนว่าไม่สำคัญ (เช่น การพูดถึงซีนไล่ตามรถไฟในหนังที่เอลลี่ดูกับพอล , คำพูดว่า Best part ที่พ่อของเอลลี่ชอบพูดถึงหนังที่ดูในบ้าน ฯลฯ) ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้อีกครั้งในช่วงท้ายๆอย่างมีความหมาย
และเมื่อต้องสื่อสารความในใจ หลายๆฉากก็สื่อสารแบบไม่ต้องให้ตัวละครพูดออกมาตรงๆ
ฉากที่ผมชอบมากฉากหนึ่งในหนังคือตอนที่แอสเตอร์ชวนเอลลี่ไปเที่ยวในป่า ซึ่งหากแกะรายละเอียดทีละฉากจะเห็นความช่างคิดของคนทำหนัง
เริ่มจากทั้งคู่นอนลอยตัวแช่บ่อน้ำร้อนในป่าแล้วเปิดเพลงจากวิทยุที่พกไป นี่คือฉากที่งดงามที่สุดฉากหนึ่งตอนทั้งคู่นอนหงายบนบ่อน้ำร้อนแล้วหัวชนกัน จากนั้นกล้องก็จับไปที่เงาสะท้อนจากน้ำแบ่งครึ่งระหว่างเงากับร่างของทั้งสองคน
แล้วเมื่อเสียงอินโทรของเพลง If you leave me now ของ Chicago ดังขึ้นมาจากวิทยุ
เอลล่าก็เปรยว่า “แม่ฉันรักเพลงนี้”
“แม่ของฉันบอกว่าเพลงทุกเพลง หนังทุกเรื่อง ทุกเรื่องราวจะมีช่วงที่ดีที่สุดของมันอยู่ (best part)”
ซึ่งถ้าคนดูจำได้ คำว่า “best part” คือคำของพ่อเอลลี่ที่พูดถึงบ่อยๆเวลาจดจ่อดูหนังในบ้าน แล้วพ่อจะบอกให้เอลลี่เงียบๆเพื่อตั้งใจดู best part มันจะทำให้เราระลึกได้ว่าส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่พ่อจดจ่อดูหนังก็มีความทรงจำร่วมของแม่อยู่ในกิจกรรมนั้น
จากนั้นระหว่างที่เป็นช่วงอินโทรดนตรี แอสเทอร์ก็เปรยขึ้นมาว่า “นั่นใช่มั้ย? (best part)”
เอลลี่ตอบว่า “เธอถามหรือเธอจะบอก? (ว่ามันคือ best part)”
ทั้งคู่เงียบไปแล้วก็ยิ้ม
แล้วเพลงก็เล่นมาถึงท่อนที่ร้องว่า “ความรักแบบของเราสองคนนั้นยากที่จะพบเจอ เราจะปล่อยมันหลุดลอยไปได้อย่างไร?”
( “ ... A love like ours is love that's hard to find , How could we let it slip away?”)
แอสเทอร์ถามซ้ำว่า “แล้วตรงนี้หละ? (ใช่ best part มั้ย)”
ครั้งนี้เอลลี่ยิ้มแล้วตอบชัดว่า “ใช่”
จากนั้นทั้งคู่ก็นอนยิ้มเงียบๆอย่างมีความสุข , ส่วนตัวแล้วนี่คือฉากกึ่งบอกความในใจต่อกันที่ดีที่สุด อาจตีความได้ว่าทั้งคู่กำลังบอกความรู้สึกต่อกันผ่านทางเพลงและผ่านคำถาม-คำตอบของกันและกัน ในความหมายที่น่าจะตรงกันคือ ‘รัก’ในวันที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างตรงไปตรงมา
“ทุกสิ่งสวยงามในโลกล้วนต้องถูกทำลายในท้ายที่สุด แต่ถ้าเธอกล้าพอที่จะทำลายภาพที่สวยงามที่เธอวาดขึ้นมา นั่นก็เพราะเธอรู้แล้วว่าเธอมีทุกอย่างในตัวที่สามารถสร้างมันขึ้นมาได้อีก”
====
แอสเตอร์ : “แต่ถ้าเราไม่เคยสะบัดฝีแปรงที่กล้าหาญขึ้นเลยละ?”
เอลลี่ : “เราก็จะไม่มีวันรู้ว่า เราจะสามารถวาดภาพที่ยอดเยี่ยมได้หรือไม่?”
====
บทสนทนาข้างต้นจากหนังเรื่อง The Half of it ไม่ใช่แค่หมายถึงงานศิลปะอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหนังทำให้เห็นว่ามันสามารถเปรียบได้ถึง ‘การใช้ชีวิต’เช่นกัน
จากเรื่องราวของ พอล เด็กหนุ่มคนซื่อที่ตกหลุมรักดาวโรงเรียนอย่างแอสเตอร์ แต่ก็กลัวว่าสาวจะไม่สนใจจึงไปจ้างเอลลี่-เพื่อนร่วมชั้นเขียนจดหมายให้เพื่อใช้จีบในชื่อของเขา
=================
ห้าฝีแปรงและการใช้ชีวิต
===================
เมื่อพอลจ้างเอลลี่เขียนจดหมายรักให้แอสเตอร์ เอลลี่ก็ใช้ตัวตนของตัวเองเขียนหาแอสเตอร์(ภายใต้ชื่อพอล)
จดหมายของเอลลี่บรรยายความหลงใหลในศิลปะ วรรณกรรมและภาพยนตร์คลาสสิค ซึ่งก็บังเอิญไปตรงจริตกับแอสเตอร์ที่รักในสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาแอสเตอร์อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ไม่ได้มีรสนิยมคล้ายเธอ คนใกล้ชิดไม่เคยเปิดพื้นที่ให้แอสเตอร์วาดฝันตัวเองออกมา เช่น เมื่ออยู่ในบ้านก็มีครอบครัวเคร่งศาสนาที่เน้นการให้เธอรักษาภาพลักษณ์ที่ดี , เมื่ออยู่กับแฟนก็ไม่เคยใส่ใจความใฝ่ฝันใดๆของเธอ หรือเมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนก็เป็นเพื่อนแบบที่หวังผลประโยชน์จากเธอ( อยากให้แอสเตอร์มาร่วมกลุ่มเพราะจะช่วยยกระดับกลุ่มให้ดูดี)
เมื่ออยู่กับคนอื่นๆ แอสเตอร์ดูกลมกลืนไปกับคนรอบข้างมากกว่าได้แสดงออกเป็นตัวของตัวเอง
จนกระทั่งได้รับจดหมายในชื่อพอล(แต่เขียนโดยเอลลี่)ก็ทำให้แอสเตอร์ก็มีความสุขที่ได้เจอคนคุยถูกคอ เธอได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่
ในการคุยผ่านข้อความครั้งหนึ่งแอสเตอร์ยกตัวอย่างคำพูดของครูสอนศิลปะว่าความแตกต่างของภาพวาดที่ดี(good)กับยิ่งใหญ่(great)ทั่วไปวัดได้จากห้าฝีแปรงที่ชัดที่สุดในภาพแต่คำถามคือ
‘ห้าฝีแปรงไหนละ?”
ซึ่งเอลลี่ก็ตั้งสมมติฐานว่าบางทีเวลาเราวาดรูปที่คิดว่ากำลังดีแล้ว การสะบัดฝีแปรงที่ชัดเจนเพิ่มเข้าไปก็อาจทำลายภาพนั้นไปเลยก็ได้ , ซึ่งแอสเตอร์ก็สงสัยว่ามันเหมือนชีวิตของเธอที่ไม่เคยกล้าหาญพอ
===
แอสเตอร์ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย(safe zone)มาตลอด แม้ไม่รักแฟนแต่ก็เลือกจะเชื่อฟังพ่อ แม้ไม่รู้ว่าจริงๆตัวเองอยากแต่งงานหรือไม่ก็รับๆไปก่อนแล้วคาดหวังสัญญาณจากพระเจ้ามาบอกว่าควรหรือไม่ควร , เธอไม่กล้าที่จะยืนหยัดบอกว่า เธอไม่ได้รักแฟนคนปัจจุบันและยังไม่อยากแต่งงาน
หากตัวละครนี้คือไบเซ็กช่วลและเธอเองก็แอบรักเอลลี่ แต่เธอก็กลัวที่จะยอมรับความจริง ถึงรู้ตัวก็กลัวเปิดเผยความจริงข้อนี้เพราะเธออยู่ในชุมชนเคร่งศาสนา(แถมมีพ่อเป็นบาทหลวง)ซึ่งหลายคนในชุมชนก็มองว่าการรักเพศเดียวกันคือ ‘บาป’ และจะทำให้ตกนรก
ดังนั้นชีวิตที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับแอสเตอร์คือเดินตามทางที่พ่อกำหนดไว้ให้
หากเปรียบชีวิตก็คงเป็นเหมือนรูปวาดที่แอสเตอร์ไม่กล้าสะบัดฝีแปรงเพราะกลัวว่าจะทำลายทุกอย่างที่มีอยู่โดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรตามมา แม้รู้ทั้งรู้ว่ามันอาจจะดีกว่านี้ได้
===
แต่มันก็ไม่ใช่แค่ความกลัวของแอสเตอร์ เรายังเห็นความกลัวของพอลด้วย
พอลกลัวที่จะบอกรักแอสเตอร์ตรงๆ ขาดความมั่นใจว่าดาวโรงเรียนแบบแอสเตอร์จะสนใจเขา แล้วก็กลัวที่จะเปิดเผยเมนูทาโก้ไส้กรอกของตัวเองให้โลกรู้เพราะครอบครัวทำไส้กรอกตามสูตรของรุ่นยายมาตลอด ยิ่งสมมติถ้าเขาต้องออกไปทำร้านอาหารที่เป็นเมนูสูตรของตัวเองก็กลัวว่าจะทำให้แม่หัวใจสลาย
หรือแม้แต่เอลลี่ แม้เธอจะหลงรักแอสเตอร์แต่เธอก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยความในใจ แม้จะมีจังหวะที่สามารถพูดได้แล้วหลังจากแอสเตอร์กับพอลยุติความสัมพันธ์แล้วก็ตาม
The half of It จึงเป็นเรื่องของตัวละครที่ถูกความกลัวขัง ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’
===
จนเมื่อสามคนนี้รู้จักกัน , ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 คนก็ช่วยให้พวกเขาเติบโตรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้น
พอลกล้าที่จะแสดงออกตรงๆกับคนที่เขารักแม้จะต้องพบกับความผิดหวัง
เอลลี่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองเมื่อเธอยอมรับความรู้สึก ‘รัก’ ของตัวเอง
ในฉากตอนท้ายที่โบสถ์เมื่อเธอบอกว่า “รักคือความกล้าหาญ คือการยินดีที่จะทำลายภาพวาดที่ดีของตัวเองเพื่อโอกาสที่จะวาดภาพใหม่ที่ยอดเยี่ยม” แล้วหันไปถามแอสเตอร์ที่กำลังจะตอบรับคำขอแต่งงานว่า
“(การแต่งงาน)นี่คือฝีแปรงที่กล้าหาญที่สุดของเธอที่ทำได้แล้วหรือ?”
เพราะการกล้าที่จะทำลายภาพวาดที่ดีโดยที่เรารู้ว่าเรายังวาดใหม่ได้คือการที่เรารู้ถึง ‘คุณค่าในตัวเอง’
เรารู้ว่าเรามีความสามารถที่จะวาดมันได้อีก ต่อให้เราลงห้าฝีแปรงที่กล้าหาญแล้วภาพเดิมนั้นเสียหาย มันก็ไม่ได้ทำลายความสามารถในการวาดของเรา เรายังวาดภาพใหม่ได้อีกเรื่อยๆ ยังมีโอกาสที่จะวาดภาพที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ
เช่นเดียวกับความรัก การกล้าที่จะบอกว่าเรารักหรือไม่รัก กล้าที่จะตอบรับการผูกมัดหรือกล้าที่จะปฏิเสธการแต่งงาน ต่อให้มันทำลายความมั่นคงปลอดภัย ทำลายเซฟโซนที่เคยมีทิ้ง ทำให้เราเจ็บปวด ทำให้เราร้าวราน
แต่เรายังเป็นคนเดิม คนที่มีความสามารถจะมีชีวิตที่ดี สามารถมีความรักครั้งใหม่ที่ดีและมีโอกาสพบรักใหม่ที่อาจจะดีกว่าเก่า ไม่ต่างอะไรกับการสะบัดฝีแปรงที่กล้าหาญ
เพราะความสามารถที่จะรักและความสามารถที่จะห่วงใยของเราไม่ได้ลดทอนลง
===
แอสเตอร์อาจจะเป็นคนสุดท้ายที่กล้าหาญและไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรชัดเจนเหมือนพอลกับเอลลี่
แต่การยกเลิกการแต่งงานแล้วเลือกที่จะไปเรียนต่อทางศิลปะที่ตัวเองรัก มันก็คือก้าวเล็กๆที่จะเป็นตัวเอง ไม่ได้ต้องเป็นแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น
การถูกท้าจากเอลลี่ว่าเธอไม่มีวันเปลี่ยน เธอก็ยังยืนยันว่าอย่างน้อยอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเธอจะเปลี่ยนให้ดู
มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่มีกรอบมากมายบังคับชีวิตไว้ตั้งแต่เล็กแบบแอสเตอร์
แต่เธอก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า เธอมีคุณค่า เธอมีสิทธิที่จะรักและไม่รักใคร
การสะบัดห้าฝีแปรงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
===========
เติบโตและร่ำลา
===========
มีอีกสองเหตุการณ์ที่ผมชอบมากใน The Half of it ทั้งในแง่การเล่าเรื่องและการทำให้เห็นพัฒนาการตัวละครที่เติบโตขึ้นจากความสัมพันธ์
เหตุการณ์แรกคือการส่งขึ้นรถไฟ โดยหนังเกริ่นไว้เหมือนเป็นฉากไม่สำคัญตอนต้นเรื่องที่พอลกับเอลลี่นั่งดูหนังด้วยกันแล้วมีฉากพระเอกมาส่งนางเอกที่อยู่บนรถไฟ แล้วพอรถไฟออกจากสถานีพระเอกก็วิ่งตาม
พอล : ฉากนี้โรแมนติกดีนะ
เอลลี่ : มันซ้ำซาก
พอล : มันแสดงออกว่าเขาแคร์เธอนะ
เอลลี่ : มันแสดงออกว่าเขาโง่ต่างหาก ใครจะวิ่งตามรถไฟทัน
พอล : เธอ(นางเอกบนรถไฟ)ดูเศร้าออกนะ
เอลลี่ : งั้นเธอก็โง่เหมือนกันนั่นแหละ
===
หนังเซ็ตให้เอลลี่เป็นคนที่นิยมใช้เหตุผลนำทาง ต่อให้เป็นเรื่องรักมันก็มักจะมีความเป็น logic มากกว่าถูกผลักดันด้วยความรู้สึก ดังนั้นฉากร่ำลาที่สถานีรถไฟ เธอจึงบรรยายมันด้วย logic มากกว่าจะอินกับฉากนั้นด้วยความรู้สึก และมันก็เป็นข้อด้อยในตัวของคนช่างคิดที่มักจะกีดกันความรู้สึก(โดยไม่รู้ตัว)เพราะมันทำให้ไม่ทันสังเกตว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร หนีที่จะรับรู้อารมณ์ที่ตัวเองรับมือไม่ได้ ไม่เห็นคุณค่าของความรู้สึกเท่าการใช้เหตุผล
จนเมื่อเธอได้เจอสถานการณ์ ‘ร่ำลาที่สถานีรถไฟ’ ด้วยตัวเอง ในตอนที่เธอผ่านการสำรวจหัวใจมามากแล้ว
เอลลี่กำลังจะขึ้นรถไฟเพื่อไปเรียนต่อเมืองอื่น พอลมาส่งที่สถานี เอลลี่ล้อเลียนพอลว่าอย่าขี้แยแต่เมื่อรถไฟค่อยๆออกจากสถานี พอลก็แกล้งวิ่งตามรถไฟเหมือนรู้ว่าเอลลี่จะต้องล้อ
เอลลี่หันไปมองพอล แล้วเธอก็เขินพึมพำน้ำตาซึมด่าว่าคนโง่
นี่คือจุดสำคัญ , น้ำตากับความรู้สึกที่เกิดขึ้นบนรถไฟคือการเติบโตของเอลลี่
เธอได้สัมผัสความรู้สึกของตัวละครในหนังที่เธอเคยดู แน่นอนว่าในแง่ logic มันดูงี่เง่าว่า “ใครจะวิ่งไล่ตามรถไฟทัน”
แต่ความรัก(ไม่ว่ารูปแบบใด)มันไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ logic เท่านั้น
แม้ว่าพอลอาจตกหลุมรักเอลลี่หรือเอลลี่จะรู้สึกกับเขาแค่เพื่อนแต่นั่นก็คือ ‘รัก’ คือการผูกพัน
พอลเป็นคนเดียวที่ปกป้องเวลาที่โดนกลุ่มเพื่อนนิสัยไม่ดีล้อชื่อเธอ ‘ชู ชู’ , ช่วยเหลือเรื่องเลือกชุดที่เหมาะกับการแสดงดนตรีเพราะเอลลี่ไม่รู้ว่าชุดแบบไหนจะเหมาะกับเธอ , ช่วยแก้ไขสถานการณ์บนเวทีตอนเอลลี่เล่นดนตรี
ในทางกลับกันเอลลี่ก็ช่วยเหลือเรื่องจีบสาวนอกเหนือจากเงินค่าจ้างเขียนจดหมายแล้วชี้ให้พอลเห็นว่าเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น แอบช่วยเขียนจดหมายแนะนำเมนูทาโก้ไส้กรอกของเขาให้นักชิมชื่อดังจนได้การตอบรับ
น้ำตาของเอลลี่คือความรู้สึกที่เธอโอบรับเมื่อมันผุดขึ้นมา ยอมรับว่าบางครั้งชีวิตก็ไม่ได้ต้องทำอะไรตามเหตุผลเสมอไป
พอล : คุณไม่ ‘เห็น’ เธอ
พ่อของเอลลี่ : เห็นเหรอ เห็นอะไร?
พอล : เห็นเธออย่างที่เธอเป็นไงครับ เห็นคนที่เธออาจจะเป็นได้(ในอนาคต)
บทสนทนาที่พอลพูดถึงการ ‘เห็น’ อาจจะอยากสื่อว่าพ่อของเอลลี่เข้าใจผิดว่าเขากับเอลลี่รักกันทั้งๆที่เอลลี่รักแอสเตอร์ และคนที่เธออาจจะเป็นได้ในอนาคตก็คือ ‘ความฝันกับความสามารถ’ ที่เอลลี่มีซึ่งดีพอจะไปเรียนต่อต่างเมืองแล้วประสบความสำเร็จมากกว่าจะติดอยู่ในเมืองเล็กๆที่ไม่มีศักยภาพพอจะส่งเสริมเธอ แต่เอลลี่ก็ไม่ยอมไปเพราะเป็นห่วงพ่อ
จากนั้นพ่อของเอลลี่ก็ถามพอลกลับว่า
“นายเคยรักใครมากจนไม่อยากให้คนๆนั้นเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขา(หรือเธอ)เป็นมั้ย”
==
บทสนทนานี้คล้ายจะเรียกสติให้กับทั้ง 2 คนในเวลาถัดมา
พอลที่ถูกปลูกฝังมาตลอดว่าความรักของเพศเดียวกันคือบาปและต้องตกนรก เข้าใจว่ารักคือเรื่องของจบกันด้วยการเป็นแฟนแค่นั้น แต่ในช่วงท้ายพอลใช้ความกล้าหาญสารภาพต่อหน้าหลายๆคนกลางโบสถ์ว่า
“ผมคิดมาตลอดว่าความรักมีอยู่วิถีเดียว เป็นวิถีเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องแต่ความรักมีหลากหลายกว่าที่ผมเคยรู้ และผมไม่อยากเป็นคนที่หยุดรัก เพียงเพราะคนที่ผมรักมีวิถีทางของความรักในแบบที่เธอเป็น”
และในฉากถัดมา พ่อของเอลลี่ก็เรียกลูกสาวมาคุยในครัวขณะที่กำลังทำเกี๊ยวให้แล้วบอกให้เตรียมไปเรียนต่อในวิทยาลัยที่ลูกคู่ควร
“เราไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อต้องการให้ลูกกลายมาเป็นเหมือนพ่อ(รักการอยู่เงียบๆและไม่ค่อยกล้าเปลี่ยนแปลง) เรามาที่นี่เพื่อให้ลูกเป็นเหมือนแม่(ร่าเริงสนุกสนานและน่าจะกล้าใช้ชีวิตตามความฝัน)”
เมื่อเขามองเห็นลูกอย่างที่พอลเคยบอกไว้ เขาก็คงรู้ว่าความรักที่ไม่อยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ต่างอะไรกับการกักขัง เหมือนความรักของพ่อในหนัง Where we belong ที่หาทางบังคับให้ลูกยังอยู่ที่บ้านเกิดและสืบสานงานของครอบครัวแล้วอยู่ใกล้ตัวแบบนี้ต่อไป
แต่รักแบบพ่อของเอลลี่คือรักที่พร้อมจะส่งเสริมให้ลูกเดินตามฝัน มีเสรีภาพที่จะได้ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองเลือก
และเติบโตไปเป็น “คนที่เธออาจจะเป็นได้” ตามศักยภาพที่เธอมีแบบที่พอลเคยบอกไว้
รักจึงไม่ใช่การกักขังควบคุมเพื่อครอบครอง แต่คืออิสระเสรีและเรียนรู้ที่จะยอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น
แล้วถึงตอนสุดท้ายจะได้อยู่ร่วมกันหรือไม่ก็คือเรื่องของใจสองใจที่จะตกลงกัน.
#Xspace #movie #FILMBEHINDYOU #i_behind_you #pyschology #ผมอยู่ข้างหลังคุณ #thehalfofit #comingofage #lovestory #inspiration #แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์
FILM BEHIND YOU คอลัมน์ใหม่ของนักเขียน คอลัมน์นิสต์ และจิตแพทย์ผู้รักการดูหนังและเขียนหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เจ้าของเพจดังในชื่อเดียวกับนามปากกา “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” ("ผมอยู่ข้างหลังคุณ", [email protected]) อดีตคอลัมนิสต์นิตยสาร FILMAX และเจ้าของผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กสุดฮิต “ความสุขที่ท่านเรียก ไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้”, “ เมื่อฉันลืมตาแล้วโลกเปลี่ยนไป” และ “โลกหมุนรอบกลัว” ติดตามบทความวิเคราะห์เจาะลึกหนังเชิงจิตใจในสไตล์จิตแพทย์คนรักหนัง