Contemporaries
จิตรกรแห่งดนตรีวิจิตร Roger Dean
วันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ 75 ปี ของศิลปินและนักออกแบบปกอัลบั้มระดับตำนานอีกคนหนึ่ง ถ้าใครเป็นคอดนตรีโปรเกรสซีฟร็อก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกชื่อดังอย่าง Yes ก็คงเคยเห็นผลงานของเขาผ่านตามาบ้างแล้วแน่ๆ ศิลปินคนนั้นมีชื่อว่า
โรเจอร์ ดีน (Roger Dean)
หรือ วิลเลียม โรเจอร์ ดีน (William Roger Dean - 31 สิงหาคม 1944) ศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักจากงานออกแบบปกอัลบั้มและโปสเตอร์วงดนตรีชื่อดัง (โดยเฉพาะวงดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกในยุค 70s) หลายต่อหลายวง ผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นภาพวาดในแนวแฟนตาซีที่มีภาพลักษณ์และทิวทัศน์อันแปลกประหลาดล้ำจินตนาการ เขาทำงานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานกราฟิก โลโก้ ตัวหนังสือ ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างแนวทางใหม่ให้กับวงการออกแบบทั้งสิ้น
เกิดที่เมืองแอชฟอร์ด มณฑลเคนต์ ประเทศอังกฤษ โรเจอร์มีความสนใจในศิลปะตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย ช่วงแรกของชีวิต เขาใช้ชีวิตระหกระเหเร่ร่อนไปทั่วโลกกับบิดาผู้เป็นทหารของกองทัพบกอังกฤษในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งในปี 1959 เขาย้ายกลับมาอยู่อังกฤษและจบการศึกษาระดับมัธยมที่นั่น ต่อมาเขาจบการศึกษาจาก แคนเทอร์เบอร์รี่ คอลเลจออฟอาร์ต ในปี 1968 และ รอยัล คอลเลจออฟอาร์ต ในปี 1972 ในสมัยเรียน เขามุ่งความสนใจไปที่การออกแบบและการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา หนึ่งในนวัตกรรมทางการออกแบบที่เขาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็คือ เก้าอี้ “Sea Urchin” (หรือ “หอยเม่นทะเล”) ซึ่งเป็นเก้าอี้บรรจุโฟมโพลียูรีเทนทรงกลม ที่รูปทรงของเก้าอี้จะขยับเขยื้อนสอดคล้องไปกับท่าทางในทุกอิริยาบถของผู้นั่ง (อ่านแล้วอาจจะคุ้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นบรรพบุรุษของเก้าอี้ “บีนแบ็ก” ที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้นั่นเอง) หลังจากนั้นเขาได้รับการว่าจ้างให้ตกแต่งภายในและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับคลับแจ้สของนักดนตรีและเจ้าของคลับชื่อดัง รอนนี่ สก็อตต์ ซึ่งผลงานที่โดดเด่นที่สุดก็คือเก้าอี้ (หรืออันที่จริงแคปซูล) รูปทรงแปลกประหลาดล้ำที่เขาออกแบบให้คลับ ซึ่งมีชื่อว่า Retreat Pod (หรือ “ห้องแห่งความสันโดษ”) ซึ่งเจ้า Retreat Pod ตัวนี้ ภายหลังมันก็ได้ไปปรากฏตัวในหนังเรื่องดังในปี 1971 ของ สแตนลีย์ คูบริก อย่าง A Clockwork Orange อีกด้วย
ถึงจะเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังพอตัว แต่เขาก็ยังไม่หลงลืมและละทิ้งความหลงใหลแต่ครั้งวัยเยาว์ นั่นคือศิลปะ เขารักการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ จนในวันหนึ่ง ในขณะที่กำลังทำงานตกแต่งภายในให้คลับแจ้สดังกล่าว กลุ่มศิลปินร็อกที่มีชื่อว่า The Gun ได้เสนอให้ดีนวาดภาพปกอัลบั้มของพวกเขา ซึ่งในตอนนั้นเขาค่อนข้างประหลาดใจ เพราะเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักวาดภาพ แต่เป็นสถาปนิกและนักออกแบบอุตสาหกรรม เขาจึงไม่คิดว่าภาพวาดของเขาจะมีค่าอะไร เขาบรรยายความรู้สึกของตัวเองในภายหลังว่า การได้มาเป็นนักออกแบบปกอัลบั้มให้กับวงดนตรี จะว่าไปมันก็เหมือนเป็นอุบัติเหตุดีๆ นี่เอง จากอัลบั้มแรก ไปอัลบั้มสองและสามสี่ วันหนึ่งเขาก็พบว่าตัวเองกลายเป็นนักออกแบบปกอัลบั้มไปเสียแล้ว ในช่วงนั้นเขาออกแบบปกอัลบั้มให้กับวงดนตรีหลากหลายวง รวมถึงออกแบบโลโก้ให้กับบริษัทแผ่นเสียงอย่าง Virgin Records อีกด้วย
ชื่อเสียงในฐานะนักออกแบบปกแผ่นเสียงของดีนมาถึงจุดสูงสุดเมื่อเขาได้ร่วมงานกับวงดนตรีโพรเกรสซีพชื่อดังแห่งยุค 70 อย่าง Yes โดยปกอัลบั้มแรกที่เขาออกแบบคืออัลบั้มลำดับที่ 4 ของวงอย่าง Fragile (1971) โดยเขาวาดภาพวาดทิวทัศน์อันแปลกประหลาดพิสดารในโลกแห่งจินตนาการให้ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นแนวทางหลักของเขาตลอดมา นอกจากนั้นเขายังออกแบบโลโก้ใหม่ให้กับวง ซึ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกบนปกอัลบั้มถัดมาของวงอย่าง Close to the Edge (1972) และกลายเป็นหนึ่งในโลโก้คลาสสิกของวงการดนตรี ที่ทางวงยังใช้อยู่จวบจนทุกวันนี้
ดีนกลายเป็นนักออกแบบขาประจำที่ผูกขาดการออกแบบปกอัลบั้มให้ Yes แทบจะทุกอัลบั้มจนถึงปัจจุบัน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นหุ้นส่วนกันเลยก็ว่าได้ ผลงานปกอัลบั้ม Yes ที่เด่นๆ อีกชิ้นของดีนก็คืออัลบั้มในปี 1973 อย่าง Tales from Topographic Oceans ซึ่งถือเป็นอัลบั้มระดับมาสเตอร์พีสอีกชุดของวง สตีฟ ฮาวล์ มือกีตาร์ของวงกล่าวเอาไว้ว่า “มันมีสัมพันธภาพอันเหนียวแน่นระหว่างเสียงดนตรีของวงกับงานศิลปะของ โรเจอร์ ดีน” ส่วน คริส เวลซ์ คอลัมนิสต์และนักวิจารณ์ดนตรีชื่อดังกล่าวเอาไว้ว่า “ภาพวาดของดีนเป็นส่วนเติมเต็มให้กับดนตรีของ Yes ดนตรีของ Yes กว้างใหญ่ไพศาลและเต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อนมากมายจนแทบจะเป็นดนตรีออร์เคสตร้า มันเหมือนกับพวกเขาวาดภาพด้วยเสียง มันจึงเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวอย่างยิ่งกับภาพวาดอันวิจิตรของดีน”
นอกจากออกแบบปกอัลบั้มแล้ว ดีนยังมีส่วนร่วมในการออกแบบเวทีการแสดงอันวิจิตรตระการตาให้กับวงอีกด้วย โดยร่วมงานกับ มาร์ตีน ดีน น้องชายของเขา
นอกเหนือจากการวาดภาพปกอัลบั้มให้กับวงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกชั้นนำของยุคอย่าง Yes แล้ว ดีนยังวาดภาพปกให้กับวงดนตรีร็อกชั้นนำวงอื่นอีกมากมายหลายวงอาทิ Asia, Budgie, Uriah Heep, Gentle Giant, Nightwing, ABWH, สตีฟ ฮาวล์, ริค เวคแมน ฯลฯ แล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงร็อก หากแต่ลามไปถึงวงแจ้ส ป๊อป ไปจนถึงดนตรีคลาสสิคอย่าง ลอนดอนฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรา
“ผมไม่คิดว่าผมเป็นศิลปินแฟนตาซี หากแต่เป็นนักวาดภาพทิวทัศน์ (ในจินตนาการ) มากกว่า” ด้วยภาพวาดทิวทัศน์อันประหลาดล้ำ และเรื่องราวที่เต็มไปด้วยจินตนาการที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไซไฟ กับเรื่องราวแบบโรแมนติกแห่งศตวรรษที่ 19 ที่เปิดจินตนาการและดึงดูดนักฟังเพลงไม่ให้แค่มองผ่านมันไปเพียงแค่ชั่วแวบ หากแต่ทำให้อยากดำดิ่งลงลึกเข้าไปศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของมัน ไม่ต่างอะไรกับการชมภาพยนตร์ จนบางครั้งเราอดนึกไม่ได้ว่าภาพบนปกนั้นกำลังเคลื่อนไหวอยู่ ทำให้ผลงานของดีนไม่ได้เป็นแค่ภาพปกอัลบั้มธรรมดาๆ หากแต่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้เลยทีเดียว
แม้เทคนิคถนัดในการวาดภาพของเขาจะเป็นการใช้สีน้ำ หากแต่ผลงานหลายชิ้นของเขาก็มีการใช้เทคนิคที่หลากหลายทั้งสีโปสเตอร์ สีหมึก สีน้ำมัน เกรยอง คอลลาจ และสื่อผสม เขายังได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกในด้านการออกแบบตัวหนังสือและโลโก้ ที่ออกแบบขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะเพื่อให้เข้ากับภาพวาดของเขาบนปกอัลบั้ม
“ผมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าดนตรีเป็นสารที่ส่งมาจากโลกใบอื่นอย่างแท้จริง และผมไม่คิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดีที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของสิ่งที่เห็นกันอยู่ดาษดื่นในโลกใบนี้ ลองนึกดูว่าคุณมีภาพที่เปี่ยมจินตนาการอยู่บนปกอัลบั้ม แล้ววางฟ้อนต์ตัวหนังสือแบบ Helvetica ที่ถูกใช้อยู่ทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่สนามบิน ยันโรงพยาบาล และสถานีตำรวจลงไป ซึ่งมันเป็นตัวหนังสือที่มีความเป็นสถาบันสูงมากๆ เมื่อเราใช้มันบนปกอัลบั้ม มันเหมือนกับเรากำลังบอกว่าอัลบั้มนี้เป็นผลิตผลของสถาบัน แล้วมันจะเข้ากันตรงไหนล่ะ?”
เคียงคู่ไปกับนักออกแบบปกอัลบั้มอย่างสตอร์ม ธอร์เกอร์สันและ Hipgnosis โรเจอร์ ดีน ถูกยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนโฉมหน้าของวงการออกแบบปกอัลบั้มดนตรีไปตลอดกาล เขายกระดับงานบรรจุภัณฑ์ธรรมดาๆ ให้กลายเป็นงานศิลปะ ผลงานของเขากลายเป็นที่รักของบรรดานักฟังเพลงนับล้านทั่วโลก และเป็นเสมือนหนึ่งตัวตนอีกด้านของวงที่เขาออกแบบ (โดยเฉพาะผลงานเขากับ Yes ที่แทบจะแยกจากกันไม่ได้แล้ว) นอกจากออกแบบปกอัลบั้มแล้ว เขายังออกแบบให้กับสื่ออื่นๆ อย่าง วิดีโอเกม (เขาออกแบบปกและโลโก้ให้เกมดังอย่าง Tetris) อีกด้วย และยังตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Dragons Dream เพื่อตีพิมพ์ผลงานของเขาในรูปแบบของโปสเตอร์ หนังสือ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งขายได้นับล้านก็อปปี้ทั่วโลก
ในปี 2013 โรเจอร์ ดีน ฟ้องร้องผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน โดยอ้างว่าหนังฟอร์มยักษ์ของคาเมรอนอย่าง Avatar (2009) นั้นก็อปปี้ไอเดียหลายอย่างมาจากภาพวาดของเขา โดยดีนเรียกค่าเสียหายถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และถึงแม้ว่าคาเมรอนจะยอมรับกับศาลว่าฉากอันเปี่ยมจินตนาการของโลกต่างดาวในหนังของเขานั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของดีนอยู่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี ศาลก็ยกฟ้องคดีนี้ไปในปี 2014 เหตุเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ (แต่ดูแล้วมันก็เหมือนจริงๆ แหละนะ ตอนดูเราก็นึกถึงภาพวาดของดีนเหมือนกัน)
ปัจจุบัน โรเจอร์ ดีน ยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและงานดีไซน์และจัดแสดงนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มและเดี่ยว อีกทั้งยังเข้าร่วมออกแบบโปรเจ็กต์สถาปัตยกรรมอีกหลายต่อหลายครั้งอย่าง Willowater และ Home for Life เป็นอาทิ
เข้าชมผลงานศิลปะดีไซน์อันเปี่ยมจินตนาการของเขาได้ที่ www.rogerdean.com
ภาพจาก http://goo.gl/uJ6nq3
#Xspace #art #music #CONTEMPORARIES #rogerdean #albumcover #progressiverock #yes #furnituredesign #ดนตรี #ปกอัลบั้ม #แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์ #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ