Art Behind Film
Source Code งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะในโลกคู่ขนาน
ท่ีทางของงานศิลปะนอกจากจะถูกแขวนหรือวาง ตั้งอยู่ในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังสามารถออกมาอยู่ในพื้นท่ีกลางแจ้ง ตามท้องถนนหนทางหรือพ้ืนที่สาธารณะต่าง ๆ ให้คนทั่ว ๆ ไปเข้าไปดูชมได้อย่างไม่ขัดเขิน และไม่ต้องปีนกระได ซึ่งงานศิลปะในลักษณะน้ีถูกเรียกว่า “ศิลปะสาธารณะ” (Public art)
และงานศิลปะที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้เหล่าน้ีนี่เองก็ เป็นวัตถุดับชั้นเลิศท่ีคนทําหนังมักจะหยิบฉวยไปใช้เป็น พร็อพ ฉาก หรือองค์ประกอบในหนังได้อย่างสบายอุรา เพราะนอกจากจะสวยแล้วยังใช้ได้ฟรี ไม่ต้องเสียสตางค์ด้วย
ถ้าใครเคยดูหนัง Source Code (2011) หนังไซไฟแอ็คชั่นระทึกขวัญของ ดันแคน โจนส์ (Duncan Jones) ของ ดันแคน โจนส์ (Duncan Jones) Source Code (2011) ที่เล่าเรื่องราวของกัปตันโคลเตอร์ สตีเว่น (เจค กิลเลนฮาล) ทหารหนุ่มที่ตื่นมาในร่างของคนอื่นบนรถไฟกับภารกิจที่มีเวลาเพียง 8 นาทีในการหยุดการก่อวินาศกรรมระเบิดรถไฟของผู้ก่อการร้ายโรคจิต คงจะจำกันได้ถึงฉากจบของหนังที่โคลเตอร์และนางเอก คริสตินา (มิเชล โมนาแกฮ์น) ลงจากรถไฟในโลกคู่ขนาน (ที่พระเอกของเรายับยั้งการถูกระเบิดได้สำเร็จ) ทั้งคู่เดินเคียงคู่กันเข้าไปในสวนสาธารณะและไปหยุดอยู่หน้าวัตถุทรงกลมๆ รูปร่างหน้าตาประหลาดขนาดมหึมา ผิวมันวาวราวกระจกเงาใสที่สะท้อนภาพของทั้งคู่ออกมา หลายคนอาจนึกว่ามันเป็นซีจีที่ทำขึ้นมาในหนัง แต่อันที่จริงแล้วมันเป็นของที่มีอยู่จริงๆ และเป็นผลงานศิลปะสาธารณะชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า
Cloud Gate (2004-2006) ผลงานประติมากรรมสาธารณะของศิลปินชาวอินเดียสัญชาติอังกฤษ อนีช กาปูร์ (Anish Kapoor) ภาพจาก https://bit.ly/3lfrdNu ภาพโดย jmcmichael
มุมมองด้านใต้ท้องของประติมากรรม Cloud Gate ภาพโดย Ethan Sahagun ภาพจาก https://bit.ly/3p7Dead
ผลงานประติมากรรมสาธารณะของศิลปินชาวอินเดียสัญชาติอังกฤษ อนีช กาปูร์ (Anish Kapoor) ที่มักจะทำงานในแนวศิลปะสาธารณะ มันติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Millennium Park กลางเมืองชิคาโก ประติมากรรมความสูง 10 เมตร กว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร ที่ดูรูปร่างคล้ายถั่วขนาดยักษ์ มันจึงมีชื่อเล่นว่า "The Bean”
ประติมากรรมที่มีพื้นผิวแวววาวเงาวับที่สะท้อนภาพของท้องฟ้า ทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่อง และผู้คนรอบข้างได้อย่างใสแจ๋วกระจ่างแจ้งจนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมากชิ้นนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของปรอทเหลว ตัวประติมากรรมมีช่องโค้งเว้าด้านใต้สูง 3.6 เมตร ที่ให้คนเดินเข้าไปดูได้ ซึ่งตรงจุดศูนย์กลางด้านบนมีรูปทรงที่คล้ายกับ “สะดือ” ที่มีส่วนเว้าสะท้อนภาพเงาบิดเบี้ยวตามรูปทรงโค้งเว้าของมันออกมาเป็นภาพพิสดารจำนวนนับไม่ถ้วนอย่างน่าอัศจรรย์ มันเป็นเหมือนแลนด์มาร์กหรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สร้างความชื่นชอบให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปเงาสะท้อนประหลาด ๆ ของตัวเอง
ในปี 1999 ผู้บริหารสวนสาธารณะของเมือง และกลุ่มนักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ และสถาปนิก ร่วมกันคัดเลือกศิลปินสองคนจากจำนวน 30 คน ให้นำเสนอแบบร่างผลงาน หนึ่งในนั้นคือศิลปินอเมริกันชื่อดังอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) และ อนีช กาปูร์ สุดท้ายคณะกรรมการเลือกแบบของกาปูร์ มาสร้างจริง ประติมากรรมรูปร่างคล้ายถั่วโลหะผิวมันวาวราวกับกระจกชิ้นนี้จึงตั้งตระหง่านสะท้อนภาพท้องฟ้าของเมืองชิคาโก และสะท้อนภาพเงาอันแปลกประหลาดพิสดารของเหล่าผู้ที่มาเยี่ยมชมราวกับบ้านกระจกพิศวงมาจนถึงทุกวันนี้ และมันก็กลายเป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาอีกด้วย
ประติมากรรมสาธารณะ Cloud Gate ในหนัง Source Code (2011) ขอบคุณภาพจาก Vendome Pictures and The Mark Gordon Company
ความจริงหนัง Source Code ถูกเขียนให้มีฉากอยู่ในนิวยอร์ก แต่ด้วยความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับประเด็นของการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 พวกเขาจึงตัดสินใจย้ายสถานที่ไปถ่ายที่ชิคาโกแทน เพราะมันเป็นเมืองที่สวยงามและผสมผสานความหลากหลายวัฒนธรรมเอาไว้ด้วยกัน เหตุผลอีกประการที่ผลักดันให้เขาไปถ่ายทำที่ชิคาโก ก็คือ ตัว ดันแคน โจนส์ ผกก. ต้องการที่จะใช้ Cloud Gate นี้เป็นฉากหนึ่งในหนัง เพราะเขารู้สึกประทับใจในผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ด้วยเหตุที่มันเหมือนเป็นอุปมาอุปมัยทางภาพที่สื่อไปถึงเนื้อหาและแนวคิดในหนัง
“ผมยืนกรานเสียงแข็งที่จะใช้ประติมากรรมของอนีช กาปูร์ ชิ้นนี้ในหนังของผม เพราะผมคิดว่ามันมีประโยชน์ต่อการอุปมาทางสายตา มันมีความเป็นไซไฟ เหมือนวัตถุประหลาดนอกโลก มันมีความเหนือจริง แปลกประหลาด มันเหมือนของที่ไม่มีอยู่บนโลกนี้ด้วยซ้ำ! ผมหลงใหลในมุมมองของมันเกี่ยวกับการสะท้อนภาพและการบิดเบือน ผมใช้มันในฐานะเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการแฟลชแบ็กของตัวละครเอก (ใช้เปิดเผยอีกโฉมหน้าหนึ่งของพระเอก - ผู้เขียน) และใช้เป็นตัวเปิดและปิดเรื่องในฐานะฉากโรแมนติกไคลแม็กซ์ของหนังเช่นเดียวกัน”
นอกจาก Source Code แล้ว Cloud Gate ยังแอบไปปรากฏตัวในหนัง The Break-Up (2006) และ The Vow (2012) รวมถึงไปปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งของหนังแอ็คชั่นหุ่นยนต์แปลงร่างภาคต่อฟอร์มยักษ์อย่าง Transformers: Age of Extinction (2014) อีกด้วย
ประติมากรรมสาธารณะ Cloud Gate ในหนัง The Vow (2012)
อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) เป็นศิลปินอังกฤษเชื้อสายอินเดีย เขาเป็นหนึ่งในประติมากรร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของโลก ผู้ทำงานท้าทายและยกระดับการรับรู้ที่มีต่อศิลปะของผู้ชม เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแนวคอนเซ็ปชวลและมินิมอล ที่เต็มเปี่ยมด้วยความงามราวกับบทกวี แต่ก็แฝงเร้นการอุปมาอันลุ่มลึกคมคาย
อนิช กาปูร์ เป็นคนที่มีส่วนผสมของหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรม เขาเกิดในอินเดีย ในครอบครัวชาวยิว อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เคยนับถือศาสนาคริสต์และฮินดู ก่อนจะหันมานับถือพุทธศาสนาในภายหลัง แนวคิดในการทำงานของเขาจึงเป็นส่วนผสมของหลากวัฒนธรรม ทั้งยิว คริสเตียน ฮินดู พุทธ และปรัชญาทั้งตะวันตกและตะวันออก
ผลงานของเขามักเป็นประติมากรรมนามธรรมขนาดมหึมา ที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งภายใน และสัมผัสกับประสบการณ์อันน่าพิศวงราวกับอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างห่างไกลและอบอุ่นชิดใกล้ราวกับอยู่ในครรภ์มารดาไปพร้อมๆ กัน
ประติมากรรมของเขาเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดของปรัชญาอันซับซ้อนลึกซึ้งและประสบการณ์ดาษดื่นสามัญในชีวิตประจำวันของคนเรา เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแสดงถึงความสัมพันธ์อันน่าสนใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ข่าวดีสำหรับแฟนๆ ชาวไทยก็คือ ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 2 ในปี 2020 นี้ อนิช กาปูร์ ได้มาเป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแสดงงานในเทศกาลนี้ในประเทศไทย โดยเขามีผลงานจัดแสดงในสามสถานที่คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์), วัดวัดอรุณราชวราราม (วัดอรุณ) และโครงการ The PARQ คลองเตย. เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
#Xspace #artbehindfilm #Art #movie #sourcecode #anishkapoor #cloudgate #Concept #innovation #งานศิลปะที่แฝงเร้นกายในภาพยนตร์ #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ