Contemporaries
ศิลปินผู้ลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับชีวิต ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija) เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ฤกษ์ฤทธิ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงาน ผัดไทย (Pad Thai) หรือ Untitled (Free) (1992/1995/2007/2011) ที่เขายกครัวเข้าไปตั้งในหอศิลป์และทำผัดไทยเสิร์ฟให้ผู้ชมงานดูกินกันฟรีๆ ในแกลเลอรีที่นิวยอร์ก ซึ่งสร้างความงุนงงสงสัยให้กับคนดูที่หวังว่าจะได้ดูงานศิลปะ แต่กลับไม่มีอะไรให้ดู แต่ดันได้กินอาหารกันฟรีๆ แทน โดยหารู้ไม่ว่าไอ้ที่ตัวเองกำลังกลืนลงท้องเข้าไปนั่นแหละ คืองานศิลปะ!
นอกจากการทำอาหารแจกให้คนกินฟรีในหอศิลป์แล้ว ความพิเศษในงานศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์คือการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างคนกับคนในสถานที่และบรรยากาศที่ศิลปินเป็นคนคิดและสร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของอาหาร หากแต่เป็นการสร้างสถานการณ์ที่นำพาผู้คนเข้ามาอยู่ด้วยกันต่างหาก
นอกจากผัดไทยแล้ว เขายังทำอาหารไทยอื่นๆ อย่าง แกงเขียวหวาน แกงเหลือง ข้าวแกง ฯลฯ ในปี 1992 เขาแจกแกงกะหรี่ฟรีในแกลเลอรีที่นิวยอร์กทุกวันในระหว่างที่แสดงนิทรรศการ หรืออีกงานที่เขาร่วมแสดงในเซ็คชั่นเปิดในเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 45 ปี 1993 เขาเอาบะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูปและหม้อต้มน้ำไปวางไว้ในเรือแคนูสแตนเลสให้คนดูได้ทำบะหมี่กินกันเองในสถานที่แสดงงาน
หรืองานล่าสุดของเขาในนิทรรศการ “ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS: Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s” ที่จัดในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ปี 2019 ที่ผ่านมา ฤกษ์ฤทธิ์ก็ส่งทีมงาน เจ็ดเซียนซามูไร ของเขาไปทำปฏิบัติการประกอบผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า "ไม่มีชื่อ 2547 (ต้มข่าไก่, เจ็ดเซียนซามูไร) (2562)" โดยยกอุปกรณ์ครัวเข้าไปในห้องแสดงงานของ BACC และทำแกงต้มข่าไก่ แจกผู้ชมให้กินกันฟรีๆ ในวันเปิดนิทรรศการกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง
หลังจากวันเปิดงาน เขายังทิ้งหม้อ กะทะ จาน ชามเปรอะเปื้อนคราบอาหารโดยยังไม่ได้ล้างเอาไว้ในหอศิลป์ให้ผู้ชมดูแทนงานศิลปะ ราวกับจะเป็นการแสดงสภาวะหลังงานเลี้ยงที่เลิกรา เพื่อให้ผู้ชมงานได้เป็นประจักษ์พยานกับหลักฐานแห่งสุนทรียศาสตร์ของกิจกรรมในชีวิตประจำวันอันธรรมสามัญอย่างอาหารการกิน ที่สามารถเป็นศิลปะในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน
นอกจากจะเป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม ด้วยการยกครัวเข้าไปตั้งในหอศิลป์และทำอาหารในนั้น
อาทิเช่น เขาเซ็ตสตูดิโอบันทึกเสียงพร้อมเครื่องดนตรีขึ้นมาในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ชมงานเข้ามาทำอัลบั้มเพลงของตัวเอง หรือจำลองห้องอพาร์ตเม้นต์ของตัวเองขึ้นในหอศิลป์ และประชาสัมพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อให้นักท่องเที่ยว นักศึกษา หรือใครที่ผ่านไปผ่านมาได้เข้ามาอยู่อาศัยใช้สอยในสถานที่ และมีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในนั้น หรือไม่ก็เปิดพื้นที่สังสรรค์สันทนาการ อย่างการตั้งโต๊ะปิงปองให้คนมาเล่นกันเป็นงานศิลปะเป็นอาทิ
ผลงานของฤกษ์ฤทธิ์ที่เป็นการสำรวจบทบาทของศิลปินเหล่านี้ มักจะถูกยกให้เป็นตัวอย่างอันชัดเจนของแนวคิดแบบสุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วฤกษ์ฤทธิ์ทำงานในลักษณะนี้ก่อนที่แนวคิดนี้จะถือกำเนิดขึ้นเสียด้วยซ้ำไป
*สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง (Relational Aesthetics) เป็นแนวคิดที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของผู้คนที่อยู่ในบริบททางสังคม เมื่อมันถูกนำมาพัฒนาใช้กับงานศิลปะจึงมีชื่อเรียกว่า ศิลปะเกี่ยวเนื่อง (Relational Art) ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับผู้ชมงานศิลปะ และปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบ เช่น เวลา สถานการณ์ สถานที่ บรรยากาศ และประสบการณ์ แนวคิดนี้เป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ รวมถึงเปิดโอกาส และกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม และเปลี่ยนสถานะผู้ชมให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ในผลงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 100tonsongallery resonatorbox.com และ BACC
Untitled (Free) (1992/1995/2007/2011)
(who’s afraid of red, yellow, and green) (2010) ที่แกลเลอรี 100 Tonson กรุงเทพฯ
"ไม่มีชื่อ 2547 (ต้มข่าไก่, เจ็ดเซียนซามูไร) (2562)" นิทรรศการ “ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS: Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s” หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
#Xspace #art #CONTEMPORARIES #art #rirkrittiravanija #padthai #free #relationalaesthetics #แรงบันดาลใจจากศิลปะ