ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Art Behind Film

ศิลปะแห่งความขัดแย้งลักลั่น แรงบันดาลใจเบื้องหลัง TENET

Art Behind Film

ศิลปะแห่งความขัดแย้งลักลั่น แรงบันดาลใจเบื้องหลัง TENET


คำเตือน: บทความชิ้นนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังบางส่วน

หากใครได้ชมผลงานของสุดยอดผู้กำกับแห่งยุคสมัยปัจจุบัน คริสโตเฟอร์​ โนแลน อย่าง 

TENET (2020)

TENET (2020), ภาพจาก https://bit.ly/324HU76

หนังสายลับไซไฟที่เล่าเรื่องราวของสายลับผู้ปฏิบัติการหยุดยั้งการก่อตัวของสงครามโลกครั้งที่ 3 และหายนภัยที่จะทำลายล้างโลก จากอาวุธอันทรงพลานุภาพที่สุดในโลกอย่าง "เวลา" 

นอกจากพล็อตเรื่องเกี่ยวกับปฏิบัตการจารกรรมข้ามเวลาสุดล้ำ แปลกใหม่ ผนวกกับงานสร้างอันอลังการตระการตา ถึงแม้เนื้อหาจะซับซ้อน ยากแก่การทำความเข้าใจ แต่การดำเนินเรื่องก็ลุ้นระทึกและสนุกสนานน่าติดตาม 

นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากทฤษฏีทางวิทยาศาตร์อันซับซ้อนลึกซึ้ง หนังยังได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ 

เริ่มตั้งแต่ชื่อหนังอย่าง TENET ซึ่งมีที่มาจากศิลปวัตถุโบราณอย่าง “แผ่นจัตุรัส Sator” (Sator Square หรือ Rotas Square) แผ่นหินสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ประกอบด้วยอักษรละตินห้าคำ ที่สามารถอ่านสลับได้จากทั้งจากหน้า/หลัง, บน/ล่าง หรืออาจหมุนอ่านได้ทั้ง 180 องศา (ซึ่ง TENET นั้นเป็นคำในลักษณะที่เรียกว่า Palindrome หรือคำที่อ่านจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้าแล้วมีความหมายเหมือนกัน "Palindrome" เป็นภาษากรีก แปลว่า "วิ่งกลับไปที่เดิมอีก") ในแผ่นหินประกอบด้วยตัวอักษรดังนี้

S A T O R

A R E P O

T E N E T

O P E R A

R O T A S

แผ่นจัตุรัส Sator ใน Oppède, ฝรั่งเศส, ภาพจาก https://bit.ly/3jU6Owi 

แผ่นจัตุรัส Sator ถูกค้นพบในหลากหลายที่ ทั้งในซากเมืองโบราณปอมเปอี ในอิตาลี, มหาวิหารซันตามาเรียมัจโจเร ในกรุงโรม, ในโคริเนียม (เมืองไซเรนเซสเตอร์ในอังกฤษปัจจุบัน) และใน ดูรา-ยูโรโปส (ซีเรียในปัจจุบัน)

ซึ่งชุดอักษรในแผ่นหินนี้เอง ที่ถูกใช้เป็นทั้งชื่อหนัง, ชื่ององค์กรลับในเรื่อง (TENET) รวมถึงเป็นชื่อตัวละครหลัก และชื่อสถานที่อันเป็นฉากสำคัญที่แฝงปริศนาภายในหนัง ซึ่งสามารถอ่านสลับกลับหลังจนกลายเป็นชื่อของกันและกันได้อย่างแยบคาย 

นอกจากนี้ในหนัง TENET ยังมีงานศิลปะของศิลปินผู้หนึ่งปรากฏขึ้นในฐานะกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องราวในหนัง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า 

ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya)

ศิลปินชาวสเปนผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของสเปนในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนาน โกยาประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะทั้งจิตรกรชั้นครูคนสุดท้ายแห่งยุคสมัยเก่า และจิตรกรผู้ก้าวหน้าคนแรกแห่งยุคโมเดิร์น เขายังเป็นนักวาดภาพเหมือนบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยของเขา

ผลงานของโกยา นอกจากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง ลึกลับ ฟุ้งฝันตามแบบศิลปะยุคโรแมนติกแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัยซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในยุคต่อมาอย่างสูง นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปินภาพพิมพ์ชั้นเยี่ยม ที่ทำผลงานภาพพิมพ์ที่สำรวจจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์ และแฝงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมการเมืองออกมามากมายหลายชิ้น 

ดังเช่นในผลงานในชุด "Los caprichos" (ความเพ้อคลั่ง) ภาพพิมพ์โลหะที่โกยาทำขึ้นในช่วงปี 1797 และ 1798 และตีพิมพ์รวมเล่มในปี 1799 ผลงานชุดนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เหล่าชนชั้นปกครองในสังคมสเปนที่เขาอาศัยอยู่อย่างแสบสัน

Capricho No. 43: The Sleep of Reason Produces Monsters (1797 - 1798), ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก https://bit.ly/1HFpFjG

น่าเสียดายที่เราไม่เห็นชัดๆ ว่าผลงานของโกยาที่ปรากฏอยู่ในหนัง TENET นั้นเป็นผลงานชิ้นไหน แต่ดูแล้วคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นผลงานภาพพิมพ์โลหะของเขาในชุดนี้ที่มีชื่อว่า The Sleep of Reason Produces Monsters (การหลับใหลของเหตุผลสร้างเหล่าอสูรกายขึ้นมา) (1799) ซึ่งชื่อผลงานเองก็มีความเชื่อมโยงกับตอนที่ตัวละครหนึ่งพูดกับตัวเอกตอนต้นเรื่องว่า “Don't try to understand it, feel it” (อย่าพยามยามทำความเข้าใจมัน, ให้ใช้ความรู้สึกแทน) อยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

Saturn Devouring His Son (1819–1823), สีน้ำมันบนผ้าใบ, พิพิธภัณฑ์ปราโด (Museo del Prado), กรุงมาดริด, สเปน, ภาพจาก https://bit.ly/3hDmqXo 

หรือผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของโกยาที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง แต่ก็มีนัยยะที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในหนังอย่างน่าสนใจ อย่างภาพวาด Saturn Devouring His Son (แซเทิร์นกำลังกินบุตรชายของตัวเอง) (1819–1823) หนึ่งในภาพวาดสีน้ำมันในชุด Black Paintings ของเขา ที่มีเนื้อหามุ่งเน้นในการแสดงอารมณ์หวาดผวา, หวาดกลัว, ความชั่วร้ายอัปลักษณ์ และความวิปลาศวิปริตผิดเพี้ยนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์

เดิมทีโกยาวาดภาพชุดนี้ลงบนกำแพงปูนปลาสเตอร์ในบ้านโดยไม่ได้คิดจะนำออกแสดงต่อสาธารณชน และไม่ได้ตั้งชื่อภาพด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่โกยาเสียชีวิต ภาพวาดเหล่านี้จึงถูกลอกจากกำแพงลงมาติดบนผืนผ้าใบ และถูกตั้งชื่อโดยนักวิชาการศิลปะรุ่นหลัง

โกยาวาดภาพ Saturn Devouring His Son โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณของเทพไททันส์ "โครโนส" (หรือเรียกในภาษาโรมันว่า "แซเทิร์น") เทพเจ้าแห่งกาลเวลา ผู้หวาดกลัวว่าบุตรของตนจะเติบโตขึ้นมาปล้นชิงราชบังลังก์แห่งสวงสวรรค์ตามคำพยากรณ์ จึงจับลูกๆ ของตนมากินทั้งเป็น! 

ซึ่งตัวละครวายร้ายจอมบงการในหนังเรื่องนี้อย่าง "SATOR" (ซึ่งเป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า "แหล่งกำเนิด") และคำที่อ่านย้อนกลับหลังได้ว่า "ROTAS" (ที่มีความหมายในภาษาละตินว่า "กงล้อ") อันเป็นชื่อของบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ดูแลพื้นที่เก็บงานศิลปะปลอดภาษี (Free port) ของ SATOR ในสนามบินที่ออสโล

ซึ่งเป้าหมายของตัวละครวายร้ายผู้ต้องการทำลายทุกชีวิตในโลก ไม่เว้นแม้แต่ลูกชายของตัวเอง รวมถึงความลับแห่งเวลาที่ซ่อนอยู่ในสถานที่เก็บงานศิลปะปลอดภาษีในหนัง ก็มีความเชื่อมโยงกับตัวแซเทิร์น ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งกาลเวลา ซึ่งมีสถานะเป็น “พ่อ” และ “กงล้อแห่งกาลเวลา” ที่เป็นทั้งผู้ให้กำเนิด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทำลาย ด้วยเช่นกัน 

ท้ายที่สุด แซเทิร์นเอง ก็ถูก จูปิเตอร์ (หรือ ซูส ในภาษากรีก) ผู้เป็นบุตรชาย โค่นล้มและแย่งชิงราชบัลลังก์แห่งสวงสวรรค์ไปครองอยู่ดี นั่นหมายความว่า การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ตามคำพยากรณ์ของแซเทิร์นนั่นแหละ ที่ทำให้คำพยากรณ์กลายเป็นความจริงในที่สุด

มีทฤษฎีที่น่าสนใจของแฟนหนังท่านหนึ่งว่า ชื่อของตัวละครลูกชายของ "SATOR" อย่าง "Max" นั้นอาจเป็นชื่อย่อของชื่อเต็มอย่าง “Maximilien” (เช่น Maximilien Robespierre นักกฎหมาย/นักการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส) และตัวอักษรสี่ตัวท้ายของชื่อนี้ อย่าง "lien" เองก็สามารถอ่านย้อนกลับหลัง ได้เป็น "Neil" ได้ด้วย ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ก็มีความเชื่อมโยงกับตำนานเทพปกรณัมของแซเทิร์นกับบุตรชายที่ว่า และการที่ตัวละคร Neil บอกว่า เขารู้จักและสนิทสมกับสายลับผู้เป็น "ตัวเอก" (Protagonist) ในเรื่อง "นานกว่าที่คิด" ก็อาจแฝงนัยยะที่ลึกซึ้งกว่าที่เราคิดกันก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโกยาได้ที่นี่ https://bit.ly/3lY6eQ0 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พื้นที่เก็บงานศิลปะปลอดภาษี (Free port) ได้ที่นี่ https://bit.ly/3bKMDPX 

นอกจากผลงานศิลปะที่ถูกกล่าวถึงในหนังเรื่องนี้แล้ว ยังมีผลงานของศิลปินผู้หนึ่ง ที่แม้จะไม่ปรากฏ และไม่ถูกกล่าวถึงในหนังเลย แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้อย่างมาก ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ (M.C. ESCHER) 

หรือ มัวริตส์ คอร์เนลิส เอสเชอร์ (1898-1972) ศิลปินภาพพิมพ์ชาวดัชต์ ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ 

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเอสเชอร์ก็คือ การสร้างภาพทิวทัศน์อันพิสดาร, สถาปัตยกรรมแปลกประหลาด ทัศนียภาพอันพิลึกพิลั่นต้านแรงโน้มถ่วง และโลกแห่งจินตนาการและความฝันอันผกผันลักลั่น แต่ในขณะเดียวกันก็ผ่านการคิดคำนวนอย่างละเอียดและซับซ้อน จากความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์และสถาปัตยกรรมของเขา

ในขณะที่ศิลปินที่ทำงานในสื่อสองมิติส่วนใหญใช้ความสัมพันธ์ของสัดส่วน เส้นสาย ทัศนียภาพ และองค์ประกอบ เพื่อสร้างมิติลวงตาของความลึกในภาพวาด ในทางกลับกัน เอสเชอร์กลับใช้องค์ประกอบอันขัดแย้งในการสร้าง "ความขัดแย้งลักลั่นทางสายตา" (Visual Paradox) ให้โลกอันพิลึกพิลั่นพิสดารในผลงานของเขา

Waterfall (1961), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจาก https://bit.ly/2OKPKfR

ยกตัวอย่างเช่น ผลงานภาพพิมพ์หิน Waterfall (1961) ซึ่งเป็นภาพของอาคารน้ำตกจำลอง ที่ประกอบขึ้นจากโครงสร้างของสามเหลี่ยมเพนโรส* ที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

Ascending and Descending (1960), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจาก https://bit.ly/335smPM 

หรือผลงานภาพพิมพ์หิน Ascending and Descending (1960) ซึ่งเป็นภาพของอาคารศาสนวิหาร ที่ประกอบด้วยโครงสร้างของ บันไดเพนโรส** ที่ทำให้เหล่านักบวชในภาพต้องเดินวนเวียนอยู่บนบันไดอย่างไม่รู้จบ

Relativity (1953), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจาก https://bit.ly/33FZvQt

หรือผลงานภาพพิมพ์หิน Relativity (1953) ซึ่งเป็นภาพของสถาปัตยกรรมภายในภายในโลกอันพิลึกพิลั่น ที่กฎของแรงโน้มถ่วงตามปกติไม่อาจใช้ได้

Drawing Hands (1948), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจาก https://bit.ly/2OKPKfR

หรือภาพพิมพ์หิน Drawing Hands (1948) ซึ่งเป็นภาพของแผ่นกระดาษที่มีมือสองมือผุดขึ้นมาวาดภาพของกันและกันให้ปรากฏขึ้นมาพร้อมๆ กันจนเราแยกไม่ออกว่ามือข้างไหนวาดมืออีกข้างขึ้นมาก่อนกันแน่? ความพิลึกพิลั่นในผลงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการใช้ความขัดแย้งลักลั่นทางสายตาในผลงานของเอสเชอร์ 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ ได้ที่นี่ https://bit.ly/2Zt51a7 

========================================

สามเหลี่ยมเพนโรส (Penrose triangle), ภาพจาก https://bit.ly/3jSlFaU 

*สามเหลี่ยมเพนโรส (Penrose triangle) รูปทรงสามเหลี่ยมลวงตา หนึ่งใน วัตถุที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible object) หรือภาพลวงตารูปสองมิติที่ทำให้เกิดรูปทรงสามมิติที่ไม่อาจเป็นจริงได้ รูปสามเหลี่ยมที่ออกแบบเป็นครั้งแรกโดย ออสการ์ รอยเตอร์ชวาร์ด (Oscar Reutersvärd) ศิลปินชาวสวีเดนเมื่อ ในปี 1934 และถูกคิดค้นขึ้นอีกครั้งและทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายโดยจิตแพทย์และลูกชายผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ชื่อดัง ลิโอเนล และ โรเจอร์ เพนโรส (Lionel & Roger Penrose) ในปี 1958 

บันไดเพนโรส (Penrose stairs), ภาพจาก https://bit.ly/3jSlFaU

**บันไดเพนโรส (Penrose stairs) ภาพบันไดสองมิติที่มีมุม 90 องศา ซึ่งทำให้เกิดภาพลวงตาของบันไดที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้คนที่เดินอยู่บนบันไดนี้ต้องเดินวนอยู่ที่เดิมอย่างไม่รู้จบ หนึ่งในวัตถุที่เป็นไปไม่ได้ที่ออกแบบโดย ลิโอเนล และ โรเจอร์ เพนโรส

========================================

ผลงานของเอสเชอร์ได้รับการยอมรับอย่างสูง และเป็นแรงบันดาลใจให้งานศิลปะในแขนงอื่นๆ นับไม่ถ้วน รวมถึงถูกเผยแพร่ ลอกเลียนแบบ และทำซ้ำในสื่อต่างๆ อย่างมากมาย ทั้งในงานศิลปะสาขาขาต่างๆ งานออกแบบ, การ์ตูน, กราฟิก, นิตยสาร, หนังสือ, โปสการ์ด, สแตมป์, โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งเป็นแรงบันดาลใจให้หนังหลายต่อหลายเรื่อง 

ไม่ว่าจะเป็น Labyrinth (1986), Lara Croft Tomb Raider: The Cradle of Life (2003), A Nightmare on Elm Street: The Dream Child (1989), The Matrix (1999), The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (2001) และ The Two Towers (2002) หรือแม้แต่เป็นแรงบันดาลใจให้โปสเตอร์หนังอย่าง The Cabin in the Woods (2011) 

และแน่นอนว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานชิ้นเอกของคริสโตเฟอร์ โนแลน อย่าง Inception (2010) ด้วย ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ฉากพับเมืองอันลือลั่น, สถาปัตยกรรมภายในไร้แรงโน้มถ่วง และบันไดเพนโรส (Penrose stairs) ในหนังนั้นได้รับอิทธิพลมาจากงานของเอสเชอร์อย่างชัดเจน ในสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำของ Inception เอง ตัวผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน เองก็เปิดเผยว่า เขาได้แรงบันดาลใจด้านภาพและงานสร้างมาจากผลงานของเอสเชอร์จริงๆ

หรือแม้แต่ในหนังเรื่องล่าสุดของโนแลนอย่าง Tenet เอง ก็ยังได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับความขัดแย้งของเวลา (Time Paradox) ในหนังมาจากผลงานของ เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ เช่นเดียวกัน โดยโนแลนกล่าวถึงความเชื่อมโยงนี้ว่า

“ปกติเวลาทำหนังเรื่องก่อนๆ ผมมักจะได้แรงบันดาลใจด้านภาพมาจาก เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ แต่ในเรื่องนี้ เวลาเขียนบทหนังผมมักจะคิดในรูปแบบของแผนภาพ และพยายามกำหนดทิศทางของเวลา และวิธีที่ตัวละครจะย้อนกลับมาเจอกันและกันในมิติของเวลา ในจุดนี้ผมใช้งานของเอสเชอร์เป็นแรงบันดาลใจหลักในการเขียนโครงสร้างของบทหนังเรื่องนี้”

ถ้าความขัดแย้งลักลั่นทางสายตาที่ปรากฏในผลงานของเอ็ม. ซี. เอสเชอร์ เป็นแรงบันดาลใจโดยตรงให้กับการสร้างฉากสถาปัตยกรรมแห่งความฝันในหนัง Inception ที่กฎของแรงโน้มถ่วงในโลกปกติไร้ความหมาย ความขัดแย้งลั่กลั่นทางความหมายและตรรกะในผลงานของเอสเชอร์ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเนื้อหาและแนวคิดเบื้องหลังของหนัง Tenet ที่เหตุผลและกฎการเคลื่อนที่ของเวลาในโลกปกติไม่อาจใช้ได้ผล เช่นเดียวกัน.

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ The Magic of M.C. Escher - J. L. Locker,เว็บไซต์ https://bit.ly/3jU6Owi, https://bit.ly/3ihNbOJ, https://bit.ly/2QYZS4N, http://www.mcescher.com/,https://bit.ly/3jUStjxhttps://bit.ly/35bt6Wk, https://bit.ly/3bysOtU 

ขอบคุณคุณ Thanawat Numcharoen สำหรับข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อของตัวละคร Max และความเชื่อมโยงกับผลงานของโกยา

ภาพเปิด TENET (2020), ภาพจาก https://bit.ly/2QX0aJx 

#Xspace #art #artbehindfilm #tenet #christophernolan #satorsquare #franciscogoya #mcescher #timeparadox #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ






More to explore