ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
Contemporaries

ศิลปินผู้ท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกศิลปะ Ayşe Erkmen

Contemporaries

ศิลปินผู้ท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกศิลปะ Ayşe Erkmen


ความท้าทายอย่างหนึ่งของศิลปะคือการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ขึ้นมา มีศิลปินผู้หนึ่งในโลกศิลปะที่ท้าทายความเป็นไปได้เหล่านั้นอย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนาน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ไอเซ่ แอคมัน (Ayşe Erkmen) 

ศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของตุรกี ผู้มุ่งเน้นในการทำงานศิลปะกับพื้นที่เฉพาะเจาะจงในอาคารต่างๆ รวมถึงทำงานกับสภาพแวดล้อมรอบข้างทั้งในเชิงกายภาพและสังคม ผลงานของเธอมักจะไม่ได้เป็นการสร้างวัตถุอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรม สภาวะ และบริบททางสังคม รวมถึงแฝงนัยยะทางการเมืองอันเข้มข้นอย่างยิ่งเข้าไปด้วย

Plan B (2011), ศาลาตุรกี, มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54, ถ่ายภาพโดย Roman Mensing, ภาพจาก https://bit.ly/2WgPPL3

แอคมัน เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงานที่เธอเป็นตัวแทนของประเทศตุรกี ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 ในปี 2011 ด้วยผลงานชื่อ Plan B (2011) ในศาลาตุรกี (Turkish Pavilion) ในอาคาร Venetian Arsenal ที่ประกอบด้วยโครงข่ายของท่อน้ำหลากสี ที่เป็นทั้งประติมากรรมจัดวางเฉพาะ และระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ดูดน้ำเสียจากลำคลองของเมืองเวนิส ภายนอกอาคาร มาผ่านกระบวนการกรองด้วยระบบ รีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis) (ระบบเดียวกับที่ใช้ในตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่เราเห็นทั่วไปนั่นแหละ) ที่ติดตั้งอยู่ในท่อภายในพื้นที่แสดง จนเปลี่ยนเป็นน้ำสะอาดที่ดื่มได้ปล่อยกลับลงสู่คลอง

Sculptures on air (1997), Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 3, มึนส์เทอร์, เยอรมนี, ถ่ายภาพโดย Roman Mensing / artdoc.de ภาพจาก https://bit.ly/3nmq4VC

ในปี 1997 แอคมันเคยแสดงงานในเทศกาลศิลปะ Skulptur Projekte Münster (หนึ่งในนิทรรศการศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก จัดขึ้นในเมืองมึนส์เทอร์ (Münster) ประเทศเยอรมนี ในทุกๆ 10 ปี) ครั้งที่สาม ด้วยผลงานศิลปะที่เป็นที่อื้อฉาวและกล่าวขานกันอย่างมาก โดยแรกสุด เธอแสดงเจตจำนงที่จะทำงานศิลปะในมหาวิหารเซนต์ปอล ซึ่งเป็นวิหารนิกายโรมันคาทอลิกชื่อดังของเมืองมึนส์เทอร์ แต่ข้อเสนอของเธอกลับถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการคริสตจักร ถึงสามครั้งสามครา ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่หลายคนสงสัยว่า เหตุผลที่แท้จริงก็คือ มันเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ทำโดยศิลปินที่มาจากประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นศิลปินคนที่ว่ายังเป็นผู้หญิงอีกด้วย (ก่อนหน้านี้ในอดีตเทศกาลศิลปะ Skulptur Projekte Münster เป็นพื้นที่ที่จำกัดให้แต่ศิลปินเพศชายมาแสดงงานแต่เพียงเท่านั้น)

ถึงแม้แอคมันจะถูกปฏิเสธและตัดสินใจที่จะไม่แสดงงานในมหาวิหาร แต่เธอก็เปลี่ยนไปแสดงงานบนพื้นที่กลางอากาศสูงขึ้นไปเหนือมหาวิหารแทน หลังจากทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของคริสตจักรของเยอรมัน ว่ามีผลครอบคลุมไปถึงความสูงบางส่วนเหนือยอดมหาวิหารเท่านั้น

ผลลัพธ์ก็คือผลงาน Sculptures on air (1997) หรือ ‘ประติมากรรมกลางอากาศ’ ที่หยิบยืมเอาประติมากรรมรูปศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์จากศตวรรษที่ 15, 16 และ 17 ในกรุของพิพิธภัณฑ์ Westphalian State Museum of Art and Cultural History (หรือในชื่อปัจจุบันว่า Landesmuseum für Kunst und Kulturgeschichte (LWL)) มาใส่ไว้ในกระเช้าแขวน และหิ้วขึ้นสูงไปบนท้องฟ้าด้วยเฮลิคอปเตอร์ ให้ลอยอยู่เหนือมหาวิหารอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกนำไปหย่อนลงบนหลังคาพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ตรงกันข้ามมหาวิหาร โดยให้ตั้งอยู่ที่นั่น และจ้องมองลงไปยังวิหารที่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงงาน จนกระทั่งประติมากรรมชิ้นถัดไปถูกยกขึ้นตั้งแทนที่

ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของคริสตจักรที่มีต่อผลงานศิลปะร่วมสมัย และเป็นการท้าทายอำนาจของคริสจักรโดยตรง จนทำให้เธอถูกประณามเธอว่าเป็นผู้ทำลายความสงบสุขของเมืองและดูหมิ่นศาสนา ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่มีส่วนในการสนับสนุนการทำงานชิ้นนี้ก็ถูกศาสนจักรฟ้องร้อง แต่ในทางกลับกัน ปฏิกิริยาของสาธารณชนในขณะที่เฮลิคอปเตอร์หิ้วประติมากรรมขึ้นไปบนท้องฟ้ากลับเป็นตรงกันข้าม เหล่าผู้ชมที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างรู้่สึกตื่นเต้นและสนุกสนานรื่นรมย์ไปกับกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้กันถ้วนหน้า ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างสาธารณชนและศาสนจักร รวมถึงตั้งคำถามถึงความเป็นชนชั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ในสังคมร่วมสมัย

หรือผลงานอีกชิ้นที่แสดงเทศกาลศิลปะ Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 5 ในอีก 20 ปีให้หลังอย่าง On Water (Auf dem Wasser) (2017)

On Water (2017), Skulptur Projekte Münster ครั้งที่ 5, มึนส์เทอร์, เยอรมนี, ถ่ายภาพโดย Henning Rogge, ภาพจาก https://bit.ly/3af7IlE

ผลงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้คนที่มาชมงานสามารถเดินลงไปบนแม่น้ำที่ทอดผ่านกลางเมืองมึนส์เทอร์ ได้ราวกับปาฏิหาริย์ ไม่ต่างอะไรกับพระเยซูและอัครสาวกในศาสนตำนานผู้สามารถเดินบนผิวน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่ปาฏิหาริย์อะไร แต่แอคมันทำการติดตั้งสะพานข้ามแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งท่าเรือทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองเข้าไว้ด้วยกัน โดยซ่อนตัวสะพานที่ทำขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์, คานเหล็ก และตะแกรงเหล็กเอาไว้ใต้ผิวน้ำ จนทำให้ดูเหมือนกับว่าคนที่กำลังเดินข้ามสะพานกำลังเดินอยู่บนผิวน้ำยังไงยังงั้น!

นอกจากงานชิ้นนี้จะเป็นการยั่วล้อตำนานอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในศาสนาคริสต์ ด้วยการทำให้การเดินบนน้ำเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ แอคมันยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมและการวางผังเมือง และความแตกต่างระหว่างพื้นที่เมืองสองฝั่งที่ถูกขีดคั่นด้วยแม่น้ำ เธอแสดงให้เห็นถึงการเอาชนะอุปสรรคที่กีดขวางการเข้าถึงกันและกันของชุมชนและวัฒนธรรมในสองฟากฝั่งแม่น้ำ ทั้งในเชิงอุปมาและในความเป็นจริงอย่างที่เห็น

นอกจากร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ Skulptur Projekte Münster แล้ว ไอเซ่ แอคมันยังร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 รวมถึงเทศกาลศิลปะ อิสตันบูลเบียนนาเล่ อีกสามสมัย รวมถึงแสดงในมหกรรมศิลปะในเซี่ยงไฮ้ เบอร์ลิน กวางจู (เกาหลีใต้) และชาร์จาห์ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เธอยังเคยเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 อีกด้วย.

#Xspace #art #CONTEMPORARIES #artist #ayşeerkmen #conceptualart #skulpturprojekte #münster #inspiration #inspiration #แรงบันดาลใจจากศิลปะ






More to explore